ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ แสวงหาคำชื่นชม อยากเป็นผู้เลิศ
ความปรารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ แสวงหาคำชื่นชม อยากเป็นผู้เลิศ มีหลายครั้งที่ไปทำกุศลบางอย่าง แต่จำความรู้สึกได้ว่าแอบรู้สึกอยากให้คนที่ทำงานรู้ว่าเราทำกุศล จะได้ชื่นชมว่าเราทำกุศล รู้สึกถึงกิเลสตรงนี้ในตนเองที่ฝังลึกและน่ารังเกียจมาก ต้องพิจารณาอย่างไรคะ จึงจะลดละสิ่งเหล่านี้ได้เด็ดขาด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ลาภ สักการะ หมายถึง การได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของและความเคารพนับถือบูชาจากบุคคลอื่น ส่วนคำว่า สรรเสริญหมายถึงการกล่าวยกช่อง ชื่นชมหรือชื่อเสียงที่ได้รับ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว โดยที่ไม่มีใครเป็นผู้กระทำให้เลย เนื่องจากว่ามีเหตุที่ดี คือ กุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต เมื่อถึงคราวที่กรรมดีให้ผล จึงทำให้ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ทั้งลาภ สักการะ และ ความสรรเสริญ แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็ไม่สามารถทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหมดจดจากกิเลสได้ สำหรับผู้ที่หลงระเริงมัวเมา มีแต่จะทำให้ติดข้องยินดีพอใจมากขึ้น เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับตนเองอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เลยแม้แต่น้อย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะ และความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคายเป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้วเสีย
ลาภสักการะและความสรรเสริญที่บังเกิดขึ้นแล้วจักครอบงำจิตของเราทั้งหลายตั้งอยู่ไม่ได้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโทษของลาภ สักการะ และความสรรเสริญไว้อย่างมากมาย ว่าเป็นของทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม (ตามข้อความในพระไตรปิฎกที่คุณหมอได้ยกมา) เพราะเมื่อความติดข้องในลาภ สักการะ สรรเสริญ ครอบงำย่ำยีจิตของผู้ใด ก็ย่อมนำซึ่งทุกข์ภัย และความเดือดร้อนต่างๆ มาให้แก่บุคคลนั้นกล่าวคือ ขณะที่ติดข้องในลาภ สักการะ สรรเสริญ ก็เป็นอกุศลทำร้ายจิตใจของตนเองแล้วในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวเลย เมื่อความติดข้องต้องการนั้นมีมากขึ้น สะสมมากยิ่งขึ้น เป็นความหลงระเริง มัวเมา ก็เป็นเหตุให้มีความกระด้างถือตัว สำคัญตน ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมประการอื่นๆ เกิดมากยิ่งขึ้น เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศล และ อาจถึงขั้นที่จะกระทำทุจริตกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการก็เป็นได้ และ เมื่อเสื่อมจากลาภ สักการะ สรรเสริญแล้ว ย่อมมีความเดือดร้อนใจ ทุกข์ใจ หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล เป็นผู้ขาดที่พึ่ง คือ ปัญญาอย่างสิ้นเชิง
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ 218
๘. เทวทัตตสูตร
เปรียบเหมือนต้นไผ่ออกขุยมาก็สำหรับฆ่าตัวเอง ออกขุยมา ก็เพื่อความพินาศของตัวเองฉันใด ต้นอ้อออกขุยมาก็สำหรับฆ่าตัวเอง ออกขุยมาก็เพื่อความพินาศของตัวเองฉันใด... แม่ม้าอัสดรตั้งครรภ์ก็สำหรับฆ่าตัวเองตั้งครรภ์ก็เพื่อความพินาศ (ของตัวเอง) ฉันใด ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดมีแก่เทวทัตก็เพื่อทำลายล้างตน ลาภ สักการะ และความสรรเสริญ เกิดมีแก่เทวทัต แก่เพื่อความพินาศ (ของตัวเอง) ฉันนั้นเหมือนกัน
ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้าอัสดรฉันใด สักการะก็ทำลายล้างคนชั่วเสียฉันนั้น.
ลาภ สักการะ และ ความสรรเสริญ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งอกุศลธรรมมากมาย ที่ร้ายที่สุด คือ เป็นอันตรายต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทำให้ปัญญาไม่เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน มีแต่จะทำให้จมลึกลงไปในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะข้ามพ้นไปได้
ซึ่งหากเข้าใจความจริงของปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลสมากมาย ก็เป็นธรรมดาที่มีโลภะยินดีติดข้องในทุกสิ่ง อยากได้คนชม มีลาภ สักการะ ซึ่งห้ามได้ยาก แต่ ขอให้เข้าใจถูกเป็นอันดับแรกว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสอย่างนั้นเกิดขึ้น นี่คือ การพิจารณาที่ถูกต้อง คือ รู้จักกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ซึ่งยังละไม่ได้ แต่หนทางที่ถูกที่กิเลสจะต้องละอันดับแรก คือ การยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ด้วยการเข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แม้ในขณะที่ อยากได้ลาภ สักการะ ก็เป็นอกุศล เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การเข้าใจ พิจารณาเช่นนี้ ย่อมละกิเลสประการต่างๆ ได้ในที่สุด แต่จะต้องเป็นไปตามลำดับ และ ยาวนานมาก ครับ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา เกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ แม้แต่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญหรือเพื่อเก่ง แต่เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ
ดังนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาในชีวิตประจำวันเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง และ ค่อยๆ อบรมไปทีละน้อย ยังละไม่ได้ แต่ค่อยๆ อบรมปัญญาจากการฟังต่อไป ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๑๙
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า "ความสรรเสริญ เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส"
มีคำอธิบายว่า .-
ความสรรเสริญนั้น เป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส คือ ไม่พอเพื่อยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ให้สงบ ให้เข้าไปสงบ ดับ สละคืนระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส.
(ข้อความบางตอนจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส)
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจตามความเป็นจริง เกื้อกูลให้เห็นว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เป็นกุศล เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน และ การที่จะดำเนินหนทาง ไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ต้องเป็นผู้ที่ ละเอียดจริงๆ ถ้าเห็นกิเลสของตนเอง โดยละเอียด ก็พอที่จะรู้เพิ่มขึ้นว่า มีอะไรบ้างที่ ยังจะต้องขัดเกลา เพราะเหตุว่า อกุศลธรรม มีมากเหลือเกิน (ถ้าเป็นรูปร่าง คงไม่มีที่พอสำหรับเก็บ) ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีทางที่ละคลายให้เบาบางลงได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น ความติดข้อง (โลภะ) จะเห็นได้ว่า ความติดข้องในชีวิตประจำวัน มีมากมาย และไม่ได้ติดแค่เฉพาะในรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ เท่านั้น แม้ในคำสรรเสริญ หรือคำชมเชย ก็ยังติด บุคคลบางคน เพียงคำสรรเสริญ ก็เป็นที่พอใจ แต่บุคคลบางคน บอกว่า ไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญ แต่ลึกๆ แล้ว ที่ว่าไม่ต้องการคำสรรเสริญ แต่ต้องการ คำชมเชยเล็กๆ น้อยๆ บ้างหรือไม่แม้แต่คำชมเชยในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ทรวดทรง ผิวพรรณ การแต่งกาย แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ นี้คือ ความล้ำลึกของ อกุศล ซึ่งเกิดมากในชีวิตประจำวัน
เรื่องของ อกุศล ไม่ควรคิดถึงเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ โดยที่ละเลย หรือขาดการพิจารณาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างจะต้องเห็นตามความเป็นจริง และจะต้องเป็นผู้ที่คลายความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของ อกุศล ลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถดับได้เป็น สมุจเฉท
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นผู้อนุเคราะห์ ให้พุทธบริษัทเห็นโทษของ อกุศล ตามความเป็นจริง แม้เพียงคำสรรเสริญ หรือคำชมเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความจริง ว่า “ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส” ซึ่งควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทใน อกุศลธรรม และไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป กิเลสที่มีมากต้องอาศัยปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลมาก) และจะต้องเป็นปัญญาของตนเองเท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...