ปุคคลาทิฏฐิ ?

 
Pure.
วันที่  4 ก.พ. 2557
หมายเลข  24415
อ่าน  985

-โลก กับ ทิฏฐิ ต่างกันอย่างไรครับ?

-โลกิยทิฏฐิคืออะไร?

-โลกุตตรทิฏฐิคืออะไร?

-โลกคือความว่าง ว่างจากอะไร? หรือมีอะไรอยู่ในความว่าง?

ขอบคุณครับอาจารย์...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-โลก กับ ทิฏฐิ ต่างกันอย่างไรครับ?

โลก คือสภาพธรรมที่แตกสลาย แตกดับไป โลกตามความเป็นจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ไม่ได้หมายถึง โลกที่เราอยู่ที่เป็นสัณฐานกลม หรือเป็นโลกที่มีสิ่งต่างๆ มีต้นไม้ ภูเขา สิ่งต่างๆ อาศัยบนโลกใบนี้ นั่นไม่ใช่โลกที่เป็นสัจจะความจริง แต่เป็นโลกที่สมมติกันขึ้นมาว่าเป็นโลกครับ ที่เรียกว่าสัตวโลกและโอกาสโลก แต่โลกในวินัยของพระอริยเจ้าที่เป็นสัจจะ ความจริงหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นและดับไป แตกสลายไปเรียกว่าโลก ก็ต้องเข้าใจว่าอะไรคือสภาพธรรมที่มีจริง ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ บุคคล ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงคือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม นามธรรมก็เช่น จิต รูปธรรมก็เช่น ตา เสียง เป็นต้น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมนี้เองที่เป็นโลก เพราะเกิดขึ้นและดับไป แตกสลายไป เสียง เกิดขึ้นและก็ดับไป จิต เกิดขึ้นและ ดับไป

การที่บัญญัติว่ามีโลกใบนี้ มีเรา มีสิ่งต่างๆ หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริง คือนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีจิต ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีสภาพธรรมอะไรเลย ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสิ่งใด และเมื่อไม่มีการเกิดขึ้นของสิ่งใด โลกนี้ก็ไม่มี ไม่มีคน เพราะคนก็คือการประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีต้นไม้ ไม่มีภูเขา เพราะต้นไม้และภูเขาที่บัญญัติขึ้นเพราะมีการประชุมรวมกันของรูปธรรม หากไม่มีนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่มีโลกที่สมมติกันขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้นครับ

อรรถกถาสมิทธิสูตรที่ ๖ ในสมิทธิสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .

บทว่า โลโก ความว่า ที่ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า แตกทำลาย.ความว่าที่ชื่อ ว่าโลก เพราะอรรถว่า แตกทำลาย.

------------------------------------------------------

ทิฏฐิ โดยทั่วไป หมายถึง ความเห็น ซึ่ง แบ่งเป็นสองอย่าง คือสัมมาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก , ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด หมายถึง ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิสัมปยุตต์ ๔ ดวง ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำ คำพูดและความคิดที่ผิด ซึ่ง โลก มีความหมายกว้างขวาง คือ หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป คือจิต เจตสิก และรูป ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นโลก ส่วน ทิฏฐิ ที่เป็นความเห็น มุ่งหมายถึง เจตสิกเท่านั้น ที่เป็น ปัญญาเจตสิก และ ทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิด)

เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ความเห็น จึงเป็นส่วนหนึ่งของโลก เพราะ ทิฏฐิ เป็นเจตสิก ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-โลกิยทิฏฐิคืออะไร?

โลกิยทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ยังเป็นไปในโลก ที่เป็นในสภาพธรรมที่เกิดดับ ยกตัวอย่างเช่น ปัญญา สัมมาทิฏฐิ ที่เชื่อกรรม และ ผลของกรรม ก็เป็นโลกิยทิฏฐิ เพราะยังมีอารมณ์ในโลกนี้ เช่น เห็นสัตว์ ว่ามีกรรมและผลของกรรม หรือ ฝ่ายไม่ดี เช่น มิจฉาทิฏฐิ ที่มีอารมณ์ในโลกนี้ เช่น สัตว์ตายแล้วไม่เกิด เป็นต้น ครับ

-โลกุตตรทิฏฐิคืออะไร?

คือ ความเห็นที่เหนือโลก คือ ปัญญา สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นถูก ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะ พระนิพพาน ไม่เกิดดับ จึงเหนือโลก เพราะโลก คือ การเกิดดับ เมื่อใด ที่มรรคจิต ผลจิตเกิด มีปัญญา สัมมาทิฏฐิ เกิดร่วมด้วย ทิฏฐิที่เป็นปัญญานั้นเป็น โลกุตตรทิฏฐิ ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-โลกคือความว่าง ว่างจากอะไร? หรือมีอะไรอยู่ในความว่าง?

โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ ว่างเปล่า จากการมีสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ เพราะเป็นแต่เพียงธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป เท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง หมายความว่าเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ พระองค์ทรงแสดงธรรมไปตามความเป็นจริง ว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะความหมายของอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ปฏิเสธต่ออัตตาอย่างสิ้นเชิง ความจริงเป็นอย่างนี้ ความเป็นอนัตตา ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทั้งหมด คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่มีจริง ที่ไม่ใช่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ได้เลย

ดังนั้น โลก จึงว่างเปล่า เพราะ ไม่มีสัตว์ บุคคลในนั้น มีแต่ธรรม และ เป็นอนัตตา จึงชื่อว่า ว่างเปล่า สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล ครับ

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑- หน้าที่ 172

ชื่อว่า เป็น อนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.

------------------------------------------------------------------------

โดยความเป็นของสูญ คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย สูญไปเลย แต่มีสภาพธรรม เพียงแต่สูญ คือ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมนั้นเลย เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา สัตว์ บุคคล ครับ

โดยความไม่มีเจ้าของ คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรม ที่คิดว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัตินั้นก็ไม่รู้ว่าว่ามีคนเป็นเจ้าของเพราะเป็นแต่เพียงรูป และทรัพย์สมบัติก็เสื่อมสลายไป ไม่ใมีใครที่เป็นเจ้าของได้จริงๆ ผู้ที่เป็นเจ้าของ ก็ต้องจากไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริงๆ เพราะเป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นอนัตตา ครับ

โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ คือ ไม่สามารถให้ จิต เจตสิก รูปและสภาพธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ตามใจชอบไม่ได้เลย และไม่ให้ดับไปก็ไม่ได้ จะให้ยั่งยืนอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

โดยปฏิเสธต่ออัตตา คือ คือ ปฏิเสธว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ในสภาพธรรม ครับ

นี่คือ อรรถ 4 อย่างที่แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 4 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นจริง แต่ละหนึ่งโดยไม่ปะปนกัน ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็น โลก แล้ว ครอบคลุมสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยซึ่งมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป นี้คือความเป็นจริงของธรรม ส่วน ความเห็น ที่เป็นทิฏฐิ นั้น มี ทั้งที่เป็นความเห็นผิด กับ ความเห็นถูก โดยไม่ปะปนกัน ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ต้องเกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศล ประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นความเห็นที่ถูกแล้ว จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เลย ต้องเกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม เท่านั้น และเมื่อเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนต้องดับไปด้วยกันทั้งนั้น ในความเป็นจริงของสภาพธรรมแล้ว ว่างเปล่า จากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร แต่มีธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 ก.พ. 2557

ทิฏฐิ เป็นคำกลางๆ แต่ ถ้าเป็นอกุศล หมายถึง ความเห็นผิด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Pure.
วันที่ 5 ก.พ. 2557

ขอบคุณครับอาจารย์ และขอบคุณต่อความคิดเห็นทุกๆ ท่านครับ...อนุโมทนาบุญ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 7 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ