ชาครสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
ในวันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ คือ
ชาครสูตร *
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๕
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๕
๖. ชาครสูตร
[๑๓] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล
ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
เมื่อธรรมทั้งหลาย ตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหน นับว่าหลับ
เมื่อธรรมทั้งหลายหลับ ธรรมประเภทไหน นับว่าตื่น บุคคล
หมักหมมธุลี เพราะธรรมประเภทไหน บุคคล ย่อมบริสุทธิ์
เพราะธรรมประเภทไหน.
[๑๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
เมื่ออินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์ เป็นต้น ตื่นอยู่
นิวรณ์ ๕ มีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น นับว่าหลับ
เมื่อนิวรณ์ ๕ มีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น หลับ
อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์ เป็นต้น นับว่า ตื่น
บุคคล หมักหมมธุลี เพราะนิวรณ์ ๕ อย่าง
บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕ อย่าง.
อรรถกถาชาครสูตร
พึงทราบวินิจฉัยสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
บทว่า ชาครตํ แปลว่า ตื่นอยู่. บทว่า ปญฺจ ชาครตํ อธิบายว่า
ก็เมื่อว่า โดยคาถาที่วิสัชนา เมื่ออินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้น ตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕
ก็ชื่อว่า หลับ เพราะเหตุไร? เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยนิวรณ์ ๕ นั้น
นั่งก็ดี ยืนก็ดี แม้นอนจนอรุณขึ้นก็ดี ในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า
หลับแล้ว เพราะความประมาท คือ เพราะความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยอกุศล
เมื่อนิวรณ์ ๕ นี้หลับแล้วอย่างนี้ อินทรีย์ ๕ จึงชื่อว่า ตื่นอยู่
เพราะเหตุไร? เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้นนั้น
แม้นอนหลับในที่ใดที่หนึ่ง ก็ชื่อว่า เป็นผู้ตื่นอยู่ เพราะความไม่ประมาท คือ
เพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกุศล. บุคคลย่อมถือเอา ย่อมถือ ย่อมถือมั่นซึ่งธุลี
คือกิเลสด้วยนิวรณ์ ๕ นั่นแหละ.
พึงทราบเนื้อความนี้ว่า นิวรณ์ทั้งหลาย มีกามฉันทะเป็นต้น ที่เกิดก่อน
ย่อมเป็นปัจจัยแก่กามฉันทะเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง ดังนี้เป็นต้น จึงชื่อว่า
บุคคลย่อมบริสุทธิ์ ด้วยอินทรีย์ ๕ ดังนี้. แม้ในที่นี้ ท่านกล่าวอินทรีย์ ๕
ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ดังนี้แล.
จบอรรถกถาชาครสูตรที่ ๖.
หมายเหตุ ชาคระ แปลว่า ตื่น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ชาครสูตร
เทวดาได้กล่าวคาถาเป็นคำถาม ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า และ
พระองค์ได้ตรัสตอบ ด้วยพระคาถา ดังต่อไปนี้
-เมื่อธรรม ทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหน หลับ?
เมื่ออินทรีย์ ๕ ตื่น นิวรณ์ ๕ หลับ
-เมื่อธรรมประเภทไหน หลับ ธรรมประเภทไหน ตื่น?
เมื่อนิวรณ์ ๕ หลับ อินทรีย์ ๕ ตื่น
-บุคคลหมักหมมธุลี เพราะธรรมประเภทไหน?
บุคคลหมักหมมธุลี เพราะนิวรณ์ ๕
-บุคคลบริสุทธิ์ เพราะธรรมประเภทไหน?
บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕.
ขอเชิญคลิกศึกษาเติมได้ที่นี่ครับ
ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่าเราเจริญอินทรีย์ ๕ พละ ๕ แล้วหรือหนอ
การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
(ต่อไปนี้ หากมีสิ่งใดผิดพลาดคลาดเคลื่อน โปรดกรุณาแก้ไขให้ถูกต้องด้วยนะคะ)
คัดลอกจาก ... .บ้านธัมมะ>ฟังธรรม>สติปัฏฐาน
ข้อความ โดย บ้านธัมมะ มศพ.
[ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก มั่นคงตามลำดับ แล้วได้ยิน คำว่า "สติปัฏฐาน" ก็หลงทางเพราะคิดว่า จะต้องไปทำ หรือว่า ทำแล้ว ปัญญาจะเกิด
แต่จริงๆ แล้ว ทั้งหมด ของ พระธรรม
"เพื่อให้เกิด ความเข้าใจถูก เห็นถูก ตามลำดับขั้น ในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ"
ถ้ามีการพูดเรื่อง สติปัฏฐาน แล้วก็มีการเชิญชวน ให้มีการปฏิบัติ
แล้วก็ คิดว่า [อย่างนั้นเป็นสติ อย่างนี้เป็นสติ] [อย่างนี้เป็นกาย ต้องรู้ที่กาย]
[อย่างนี้เป็นความรู้สึก ต้องรู้ที่ความรู้สึก] นั่นไม่ใช่ ความเข้าใจถูก ]
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ถอดข้อความจาก ... .บ้านธัมมะ>ฟังธรรม>สติปัฏฐาน
06088 ตอบคำถาม เกี่ยวกับ อินทรีย์ ๕ 01.00
เพราะว่า ทุกท่านเนี่ยค่ะ ทราบใช่ไหมคะ ว่าท่านเองเป็นบุคคลประเภทไหน
คนอื่นคงจะไม่รู้ดีกว่าเป็นแน่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ค่ะ
เมื่อได้ฟังแล้วนะคะ ที่ สติ จะเกิดได้ ก็เพราะ
มี ศรัทธา ในสิ่งที่ เป็นเหตุ เป็นผล ที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่า
รู้ว่า สติ มีคุณ มีประโยชน์ มีศรัทธา ในสติ ในการเจริญสติ
เพราะฉะนั้น สติ ก็ย่อมเกิดได้ มีวิริยะ ในขณะที่เกิด
ก็พิจารณา รู้ ลักษณะ ของ สิ่งที่กำลังปรากฏ
มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็น อินทรีย์ ๕
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ถอดข้อความจาก ... .บ้านธัมมะ>ฟังธรรม>สติปัฏฐาน
06540 ภิกษุ พึงพิจารณา ดังนี้ว่า เราเจริญ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ แล้ว หรือหนอ 00.27
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ภิกษุ พึงพิจารณา ดังนี้ว่า เราเจริญ อินทรีย์ ๕ แล้วหรือหนอ
ข้อความต่อไป ตรัสว่า ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญ พละ ๕ แล้วหรือหนอ
นี่เป็น การตรวจสอบตัวเอง ตลอดเวลา ตามความเป็นจริง นะคะ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ถอดข้อความจาก ... .บ้านธัมมะ>ฟังธรรม>สติปัฏฐาน
06478 การเจริญอินทรีย์ อัน ไม่มีวิธีอื่น ยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ 04.10
(จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อินทริยภาวนาสูตร ที่ ๑๐)
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ ว่า ปาราสิริยพราหมณ์
ย่อมแสดง การเจริญอินทรีย์ แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
ส่วนการเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง.
ขอให้ ท่านผู้ฟัง พิจารณา ข้อความ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ส่วนการเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง.
เพราะฉะนั้น แสดงว่า ถ้าเป็นวิธีอื่นแล้วล่ะก็ ไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
พระองค์ได้ทรงแสดง การเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า
เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใด กล่าวค้าน
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้
ผู้นั้นย่อมเข้าใจว่า มีการเจริญอบรมวิธีอื่นยิ่งกว่าวิธีที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว
แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ส่วนการเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง.
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้สุคต เป็นกาละสมควรแล้ว
ที่พระผู้มีพระภาค จะทรงแสดง การเจริญอินทรีย์
อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
ภิกษุทั้งหลาย ฟังต่อ พระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ท่านพระอานนท์ ทูลรับ พระผู้มีพระภาค ว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัส ดังนี้ว่า ดูกรอานนท์
ก็การเจริญอินทรีย์ อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร
ดูกรอานนท์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เกิด
ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจ และ ความไม่ชอบใจ ขึ้น
เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิด
ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจ และ ไม่ชอบใจ ขึ้นแล้ว เช่นนี้
ก็สิ่งนั้นแล เป็น สังขตหยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา
เธอจึงดับ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจ และ ไม่ชอบใจ
อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น
ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับ
ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจ และ ไม่ชอบใจ
อันเกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก
เหมือนอย่าง บุรุษมีตาดี กระพริบตา ฉะนั้น
อุเบกขาย่อมดำรงมั่น
ดูกรอานนท์ นี้ เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ ในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ
อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ
... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ...
จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
สัจธรรม [สัดจะทำ] น. ความจริงแท้ เช่น บรรลุสัจธรรม เข้าถึงสัจธรรม.
สุคต [–คด] น. ผู้ไปดีแล้ว; พระนามพระพุทธเจ้า. (ป., ส.) .
อินทรีย, อินทรีย์ [ซียะ, ซี] น. ร่างกายและจิตใจ เช่น สํารวมอินทรีย์;
สติปัญญา เช่น อินทรีย์แก่กล้า;
สิ่งมีชีวิต. (ป., ส. อินฺทฺริย) .
พละ [พะละ] น. กําลัง, มักใช้เข้าคู่กันเป็น พละกําลัง.
พล, พล [พน, พนละ, พะละ] น. กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็น
พระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณ อันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ
มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ ฐานะ และ สิ่งที่มิใช่ฐานะ เป็นต้น;
ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก;
สามัญ, ธรรมดาๆ , พื้นๆ , เช่น ของพลๆ ;
ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล) . (ป., ส.) .
ทศพล น. ผู้มีกําลัง ๑๐ เป็น พระนามของพระพุทธเจ้า.
ประณีต ว. ละเอียดลออ, เรียบร้อยงดงาม, เช่น ฝีมือประณีต ทําอย่างประณีต,
ที่ปรุงอย่างสุดฝีมือด้วยของดีๆ เช่น ปรุงอาหารอันประณีต.
(ส. ปฺรณีต; ป. ปณีต) .
เจริญ [จะเริน] ก. เติบโต, งอกงาม, ทําให้งอกงาม, เช่น เจริญทางพระราชไมตรี
เจริญสัมพันธไมตรี, มากขึ้น; ทิ้ง เช่น เจริญยา, จำเริญยา ก็ว่า;
ตัด เช่น เจริญเกศา, จำเริญเกศา ก็ว่า;
สาธยาย, สวด, (ในงานมงคล) เช่น เจริญพระพุทธมนต์.
…………………………………………
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)
ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง – พฤหัสบดี ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
@@@@@@