อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของอกุศลจิตและกุศลจิตอย่างไรครับ

 
papon
วันที่  9 ก.พ. 2557
หมายเลข  24446
อ่าน  1,129

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของอกุศลจิตและกุศลจิตอย่างไรครับ ขอความกรุณาช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ. ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ จะประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา นั้น ใครๆ ก็ห้ามหรือบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาแล้ว สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก แทนที่จะโกรธ แทนที่จะไม่พอใจ ก็มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล แต่สามารถมีกุศลจิตเกิด พร้อมกับความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าสะสมมาที่จะเป็นอกุศล พอประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้ว โทสะ เกิดทันที เป็นอกุศลทันที นี้คือ ความเป็นจริง และมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะอารมณ์ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ก็เกิดขึ้นตามการสะสมของแต่ละบุคคล และถ้าเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้วถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ ไม่มีอกุศลใดๆ เกิดเลย แม้ว่าจะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ก็ตาม

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

.....................................

จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำกิจอื่นไม่ได้เลย เพียงเห็น เมื่อเห็นดับไปแล้วต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ ต้องเป็นของที่แน่นอน แล้วเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ จิตที่เกิดต่อนั้นก็รู้อารมณ์นั้นต่อ ภาษาไทยเราจะใช้คำว่ารับ หรือภาษาบาลีก็ใช้คำซึ่งมีคำแปลอย่างเดียวกัน สัมปฏิจฉันนะ ก็หมายความว่ารู้อารมณ์เดียวกันต่อ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อก็ต้องเป็นจิตที่ทำอีกกิจหนึ่ง แม้ว่าจะมีอารมณ์เดียวกัน คือจิตหนึ่งเห็นแล้วก็ดับ จิตต่อไปก็รู้อารมณ์นั้นต่อ จิตต่อไปก็พิจารณาอารมณ์ต่อ แล้วก็ต่อจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของวิบากแล้ว เป็นเรื่องของกิริยาจิต ซึ่งเมื่อกิริยาจิตที่ทำกิจนี้ คือ โวฏฐัพพนจิตดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อตามการสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ คือว่ากุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ อารมณ์กระทบจริง เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ ซึ่งโทสะก็เกิดได้ โลภะก็เกิดได้ หรือกุศลจิตก็เกิดได้ หมายความว่าเรื่องของอารมณ์เป็นเรื่องของวิบาก ซึ่งจะต้องเห็น จะต้องได้ยิน จะต้องได้กลิ่น จะต้องได้ลิ้มรสจะต้องได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก

นี่เป็นตอนหนึ่งของวัฏฏะ คือ “วิปากวัฏฏ์ฎ์” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่วิบากอีกต่อไป เริ่มที่จะเป็นเหตุ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเตรียมจิตเตรียมใจไว้ก่อนว่าถ้าอารมณ์นี้มากระทบแล้วละก็ถึงจะเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็จะดี จะไม่โกรธ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็จะไม่ชอบ จะไม่รัก ไม่มีการที่จะเตรียมตัว หรือว่าจะไปฝืนกระแสของธรรมที่เป็นการสะสมสืบมาของแต่ละคนได้ เพราะว่าจิตจะต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของเรา บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล แต่อีกคนทำไมกุศลมากกว่าอกุศล เพราะการสะสมของเขาที่จะทำให้ไม่ว่าจะรับรู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ กุศลจิตเขาเกิดได้มาก ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์เขาก็มีเมตตาหรือว่าไม่โกรธได้ หรือว่าถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ เขาก็ไม่ติดไม่ข้อง ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ขึ้นอยู่กับการสะสม ซึ่งการสะสมจะมีจิตหนึ่งซึ่งทำกิจเมื่อถึงกาละที่จะต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศล จิตนั้นทำโวฏฐัพพนกิจ คือหลังจากที่กระทบอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จิตของใครจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่โวฏฐัพพนจิต ซึ่งมีกิจทำโวฏฐัพพนะ อย่างที่อาจารย์ (สมพร) บอกเมื่อกี้นี้ว่า จะใช้คำว่าตัดสิน หรือจะใช้คำว่า กำหนด แต่ดิฉันก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่า กำหนด คือถ้าใครจะไปใช้คำว่า “กำหนด” ก็ไม่รู้ว่าจะไปกำหนดอย่างไร แต่ว่าคำอธิบายในอรรถกถาก็มีว่าพิจารณาโดยรอบ หมายความว่าเมื่อโดยรอบแล้วก็สามารถที่จะรู้ หรือว่าจะใช้คำว่ากำหนดลงไปได้ว่า อันนี้เป็นอะไร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ จิตนี้กระทำทางให้กุศลจิตหรือ อกุศลจิตเกิดต่อ เพราะว่าอารมณ์ ก็คืออนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์นั่นเอง สัมปฏิจฉันนะ ถ้าอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ก็ต้องรู้อารมณ์นั้นต่อที่เป็นอารมณ์เดียวกัน สันตีรณะก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าพิจารณาอารมณ์ที่ดี ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ วิบากนั้นก็ต้องเป็นไปตามกรรม เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรม แต่โวฏฐัพพนะไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต แล้วก็ทำโวฏฐัพพนกิจ คือ หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด โดยที่ว่า ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่การสะสม ซึ่งโวฏฐัพพนะก็ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปตัดสิน แต่ว่าเพียงกระทำกิจ ทำทางให้กุศลจิตซึ่งสะสมมาเกิดขึ้น หรือว่าให้อกุศลจิตซึ่งสะสมมาเนิ่นนานนั้นเกิดขึ้นเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า การที่เราได้ศึกษาธรรม ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี จะเกิดกุศลจิต จะเกิดอกุศลจิต เป็นไปตามวิถีจิตทั้งสิ้น.

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง...

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนา อาจารย์คำปั่น และ ทุกท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 9 ก.พ. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

มีแต่สติปัฏฐานเท่านั้นที่จะทำให้การเกิดอกุศลจิตน้อยลงหรือครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2557

เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

ปกติชีวิตประจำวัน อกุศลจิต เกิดมากมาย การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ทำให้ได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังมากไปด้วยอกุศลและ ทำให้รู้ว่าตนเองยังต้องอบรมปัญญาต่อไปอีกยาวนาน การขัดเกลาอกุศลเป็นเรื่องของกุศลธรรม ต้องอาศัยการเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะถ้ามีปัญญาแล้ว กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญเพิ่มขึ้น ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเครื่องป้องกันกุศลแล้ว เพราะขณะนั้นกุศลเกิดไม่ได้ จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถดับอกุศลได้ตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก สำหรับ สติปัฏฐาน เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จะเกิดขึ้นเป็นไปได้นั้นต้องอาศัยความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ย่อมเป็นการค่อย ๆ ขัดเกลาอกุศล คือ ความไม่รู้ เป็นต้น ในขณะที่กุศลเกิด ย่อมไม่มีอกุศลธรรมใดๆ เกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ดี ที่มีค่า คือ ขณะที่เป็นกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ papon และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านครับที่ให้ปัญญา ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ