ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ มาฆบูชา ๑๔ ก.พ. ๒๕๕๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  16 ก.พ. 2557
หมายเลข  24474
อ่าน  2,282

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม ที่ มูลนิธิฯ นำโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิฯ และ คณะวิทยากรของมูลนิธิฯ

ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอน มาฝากให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณาเช่นเคย ซึ่งเป็นข้อความที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมะ ในความละเอียด ไม่เผิน ไม่ข้าม คำต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟัง ด้วยคิดว่า เข้าใจแล้ว

แม้เพียงคำว่า "บาป" และ "การไม่ทำบาป" และ "จิต" ซึ่งทุกคนได้ยินบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่มักข้ามไปเสมอๆ ซึ่งท่านอาจารย์ได้เมตตาแสดงไว้อย่างละเอียด ไพเราะลึกซึ้งยิ่ง ดังต่อไปนี้ครับ

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 55

ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้ ขันติ คือ ความทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่กล่าวร้าย ๑

การไม่ทำร้าย ๑

ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑

ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑

ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑

การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ เพราะว่าข้อความที่ท่านแสดงไว้ ในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ก็คือ ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ค่ะ

ท่านอาจารย์ แม้แต่ฟัง ก็ต้องคิด ข้อแรกค่ะ

อ.กุลวิไล ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น

ท่านอาจารย์ ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น แสดงว่าต้องมีบาป แน่นอน ใช่ไหม? แต่ว่า ทำบาปหรือเปล่า? และ "บาป" คือ อะไร? โดยมาก เราจะข้ามข้อความที่ได้ยิน ได้ฟัง แต่ว่า ถ้าศึกษาโดยละเอียด ก็จะทำให้เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ว่า "บาป" อยู่ที่ไหน? และ "บาป" คือ อะไร? และ มีบาปหรือเปล่า? แล้วก็ ทำบาปหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ขณะนี้ มี "สิ่งหนึ่ง" ซึ่งกำลังมีจริงๆ แน่นอน แต่ทุกคน "ข้าม" ไม่ค่อยจะคิดถึง "สิ่งนั้น" เลย ลองเดาสิคะ ช่วยกันคิดว่า สิ่งนั้น คือ อะไร? ขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริงๆ แน่นอน จริงที่สุด กำลังมีด้วย แต่ว่า ข้ามความจริงของสิ่งนี้หรือเปล่า?

สิ่งที่มีจริงๆ ที่ทุกคนไม่คิด พอพูดถึง "บาป" ก็คิดถึง "บาป" แต่ลืม "จิต" ขณะนี้ มี "จิต" แน่นอน ใช้คำว่า "จิต" ไม่ใช่ของใคร น่าเข้าใจมาก "ธาตุรู้" ซึ่งใช้คำว่า "จิต" เป็นใหญ่ เป็นประธาน ทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เพราะ "จิต" กำลัง "รู้" สิ่งนั้น

แต่ เราก็ลืมเสมอ ไม่คิดถึงจิต แม้แต่คำว่า "ไม่ทำบาป" ถ้าจิตไม่มีบาปเลย ก็จะไม่มีคำว่า "ไม่ทำบาป" แต่เพราะเหตุว่า "จิต" ขณะนี้ ใครรู้จัก "จิต" บ้าง? ไม่ได้กล่าวถึงใครสักคนหนึ่ง แต่ กล่าวถึง "ธรรมะ" คือ "สิ่งที่มีจริง" ซึ่งเป็นใหญ่ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ


เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ทุกคนได้ยินคำว่า "จิต"แล้วก็รู้จัก "ธาตุรู้" ซึ่งกำลัง"เห็น" กำลัง "ได้ยิน" กำลัง "คิด" ทั้งหมด ใช้คำว่า "จิต" มีจิตแน่นอน แต่ยังไม่รู้จักจิตดี หรือว่า ลืมจิต อยู่เสมอ จิตนี้ มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ถ้าจะกล่าวถึงชาตินี้ คือ ตั้งแต่เกิด แต่ว่า สิ่งที่มีอยู่ในจิต ในขณะที่เกิด ต่างกันมาก ไม่เหมือนกันเลย เวลานี้ จิตทั้งนั้น ที่กำลังนั่ง กำลังฟัง กำลังคิด

ทั้งหมด เป็นจิตแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดจากขณะแรกของชาตินี้ คือ เกิดขึ้น จึงทำให้เป็นสิ่งที่มีชีวิต แล้วก็เป็นสภาพ "รู้" ซึ่งเมื่อเกิดรู้แล้ว ไม่หยุด เกิดขึ้น แล้ว ดับไป ไม่ใช่จิตเก่า แต่ว่า จิตที่เกิดก่อนนั้นแหละ เมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น สืบต่อเรื่อยมา จนถึงเดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า จิตดวงเดียว ได้ไหม? จิตดวงเดียว หรือ ดวงหนึ่ง เกิดขึ้น แล้วก็ ดับไป เป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไป เกิดแล้วก็ดับไป และจิตนั่นแหละ หนึ่งนั้นแหละที่ดับไป ก็เป็นปัจจัย ให้จิตอีกหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า ตั้งแต่เกิด มีจิตเกิด ไม่ใช่ใครเลย แต่เป็น "ธาตุรู้" ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้น "รู้" สิ่งหนึ่ง เพราะเป็นธาตุรู้ จึงต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย เกิดขึ้นรู้

เรายังไม่ได้พูดถึงว่า แล้วจิตนั้น รู้อะไร? แต่กำลังพูดถึง "จิต" ธาตุรู้ ที่กำลังมีในขณะนี้ ให้รู้ว่า ตั้งแต่เกิด เรื่อยมาตลอด เริ่มตั้งแต่เกิด ไม่ขาดจิตเลยแต่ไม่ใช่จิตเก่าสักขณะเดียว เป็นจิตที่เกิดขึ้น "รู้" แล้วก็ดับ เป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น "รู้" แล้วก็ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น "รู้" แล้วก็ดับ ทีละหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นวันไหน มี "เห็น" มี "ได้ยิน" มี "ได้กลิ่น" มี "ลิ้มรส" มี "รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส" มีการ "คิดนึก" ทั้งหมดนั้นแหละ เป็น "จิต" ไม่ใช่ "เรา"

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ เพื่อให้มีปัญญา เข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่มี และ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็มีจิต ไม่ใช่ของใครเลย เป็นจิต จริงๆ แต่ว่า จะรู้จักจิตในขณะไหน ก็เมื่อขณะนั้น จิตนั้น กำลังเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ พูดถึงจิต ที่เกิดดับสืบต่อ มาจนถึงขณะนี้รู้จักจิต ที่เกิดดับ ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะแรก จนถึงขณะนี้หรือยัง? ฟังธรรมะ เพื่อเข้าใจ เข้าใจอะไร? เมื่อมี "จิต" ไม่เคยเข้าใจจิต

เพราะฉะนั้น ทุกคำ ในพระไตรปิฎก กล่าวถึง "จิต" แม้แต่ "บาป" คือ สภาพธรรมะ ที่ไม่ดี เพราะเหตุว่า มีความโกรธ มีความโลภ มีความไม่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นฝ่ายบาป มี ไม่ใช่ไม่มี แล้วอยู่ที่ไหน? ก็อยู่ที่ "จิต"

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถ ที่จะเข้าใจจิตดีขึ้น ก็จะรู้ว่า พระธรรม ที่ทรงแสดง อุปการะให้จิต ซึ่งมีมานานแสนนาน จนถึงขณะนี้ เป็นสภาพธรรมะที่ละบาป เพราะเหตุว่า ไม่รู้ความจริง ว่าขณะนี้มีจิต มีจิต ก็ไม่รู้

บาปไหม? บาปอย่างหนึ่ง คือ ไม่รู้ความจริง พอไม่รู้ แล้วยังยึดถือจิตที่มี ที่เกิดดับสืบต่อ ทีละหนึ่งขณะ แล้วไม่กลับมาอีก ว่าเป็น "เรา" บาปไหม? แต่บาปหลายอย่าง มีชื่อหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ก็มีบาปแต่ละอย่าง เป็นสภาพธรรมะ ซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แล้วจะไม่เกิดกับสภาพธรรมะอื่นเลย

ถ้ากล่าวถึงจิตล้วนๆ ขณะนี้ลองคิดถึง ไม่ใช่เรา แต่มี "ธาตุรู้" เกิดขึ้นล้วนๆ ซึ่งจะต้องมีสภาพธรรมะ อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วแต่ว่า สภาพธรรมะนั้น รู้ แล้วก็มีลักษณะ ต่างๆ กันไป

แต่ไม่ใช่จิต ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน สภาพธรรมะ ซึ่งเกิดกับจิต ใช้คำว่า "เจตสิก" จะมีจิตเปล่าๆ เป็นธาตุรู้เกิดขึ้น โดยไม่มีเจตสิก เกิดร่วมด้วย ไม่ได้เลย เพราะว่า สภาพธรรมะใดก็ตามที่เกิด ต้องมีปัจจัย มีสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ มีจิต และ เจตสิก รู้ไหม? ก็ไม่รู้ บาปไหม? ที่ไม่รู้?

กว่าที่จะรู้ ว่า "บาป" คือ อะไร? บาป แค่ไหน? ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า มีสิ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคฯ ตรัสรู้และทรงแสดงให้เข้าใจ เพราะว่า กำลังมี สิ่งที่กำลังมี แล้วไม่เข้าใจ จะหาใครมาบอก มาชี้แจงให้รู้ความจริงของสิ่งนั้น มีบุคคลเดียว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่ทรงแสดงสภาพธรรมะทุกอย่าง ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีจิต แล้วก็มีเจตสิก เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน ไม่รู้ เป็นบาป ยังไม่ได้ทำบาป ที่มากกว่านี้ เพียงแต่ไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็บาปแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่จะ "ไม่ทำบาป" ก็จะต้องต่างกันกับ "ไม่มีบาป" ใช่ไหม? เพราะเหตุว่า มีบาป เพราะไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเลย ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ไปถือเอาสิ่งของของผู้อื่น มาเป็นของตน ไม่ได้พูดคำไม่จริง คำไม่จริง แล้วพูด บาปไหม? บาปเพราะเหตุว่า ทำให้ผู้อื่น เข้าใจผิด

เพราะฉะนั้น บาปมีมากมาย แต่ว่า ไม่เคยสนใจที่จะรู้ว่า พระโอวาทที่ทรงแสดงว่า "ไม่ทำบาป" ก็ต้องเป็น "ปัญญา" ที่สามารถรู้ความจริงว่า บาป อยู่ที่ไหน? และ บาป คือ อะไร? และ บาป เมื่อไหร่? ขณะที่ไม่รู้ความจริงขณะนี้ ก็เป็นบาปแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำบาป แต่ถ้ามีการยึดถือสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ ด้วยความไม่รู้ แม้ธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเห็น ก็เป็นจิต เป็นสภาพรู้ ซึ่งเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วดับไป ไม่รู้ ก็บาป

กำลังได้ยิน เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้น ได้ยินเสียง แล้วก็ดับไป ความไม่รู้ความจริง เป็นบาปไหม? ไม่รู้ เป็นบาป และ ยึดถือสภาพธรรมะ ว่าเป็นเรา หรือว่า เป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด บาปไหม? เป็นบาปอีกอย่างหนึ่งแล้ว ใช่ไหม? "ไม่รู้" เป็นบาปหนึ่ง แล้วก็ "การยึดถือ" สภาพที่ไม่มี ซึ่งเกิดดับ ด้วยความไม่รู้ ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่เที่ยง ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงของสิ่งนั้น ขณะนั้น ก็เป็นบาป


เพราะฉะนั้น จึงมีความเห็นผิด ซึ่งไม่ใช่เพียงความไม่รู้ ความไม่รู้นั้น ไม่รู้จริงๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ แต่ว่า เมื่อไม่รู้ แล้วก็ยังยึดถือ สิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงด้วย ขณะนั้น ก็เป็นบาปอีกชนิดหนึ่ง คือ เป็นความเห็นผิด ภาษาบาลี คือ ภาษามคธี จะใช้คำว่า มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตา เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน ขณะนั้น ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ

ถ้าสิ่งนั้น ที่เคยยึดถือว่า เป็น "เห็น" ของเรา หรือว่า "ได้ยิน" เป็น "เราได้ยิน" ขณะนั้น ก็เป็น สักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ไม่ใช่ "เผิน" เพียงไม่ทำบาป แล้วยังไง? บาปอยู่ที่ไหน? อย่างไร?

เริ่มต้นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูก เพื่อความเห็นถูก ทีละเล็ก ทีละน้อย ในสิ่งที่มีจริง จนกระทั่ง สามารถที่จะรู้ความเป็นจริงได้ว่า ถ้าไม่รู้จักจิต ไม่เข้าใจจิต "มีเรา" ที่ไม่ทำบาป ผิดไปแล้วใช่ไหม? คือ จริงๆ แล้ว "ไม่มีเรา" แต่มี "จิต" แล้วก็มี "ความไม่รู้" แล้วก็มี "ความเห็นผิด"

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม จึงเผินไม่ได้ แม้แต่ ประโยคแรก ของโอวาทปาติโมกข์ ข้อความเบื้องต้น ที่ว่า "ไม่ทำบาปทั้งปวง" หมายความว่า ทุกอย่าง ที่จะทำให้เป็นสิ่งซึ่ง นำมาซึ่งความทุกข์ จากการกระทำนั้นๆ

ไม่ทราบ มีผู้ใดที่จะสนใจ ที่จะเข้าใจ "จิตเดี๋ยวนี้" ไหม? มี ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นของบาป อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ ไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้

เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า "ไม่ทำบาป" แล้วไม่ทำ แต่ "ไม่รู้" และ "เป็นเรา" ที่ไม่ทำ ใช่ไหม? แต่ไม่ใช่ความเห็นถูกต้องว่า ไม่ทำบาป ก็เพราะเหตุว่า ขณะนั้น ได้มีความเข้าใจธรรมะ ว่าไม่ใช่เรา ที่ทำบาป และ ไม่ใช่เรา ที่ไม่ทำบาป

เพราะฉะนั้น ธรรมะ ที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายดีงาม มี และ ธรรมะที่เป็นฝ่ายที่ ไม่ดีงาม ก็มี แม้เพียงข้อความที่ว่า ไม่ทำบาป บาป เป็น กุศล ไม่ดีงาม ไม่ทำบาป เป็น กุศล ไม่ใช่เราเลย แต่ว่า เป็น จิต และ เจตสิก ซึ่งเกิดขี้น ขณะนี้ ก็กำลังเกิดดับ แล้วแต่ว่า ขณะนั้น จะเป็นขณะที่เว้น ไม่ทำบาป แต่ด้วยความรู้ ความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นกุศลจิตฝ่ายดีงาม ที่เกิดขึ้น เว้น วิรัติ การทำบาป

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องรู้ว่า ฟังพระธรรม ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเข้าใจความจริง ไม่ใช่เพียงแต่ "คำ" แต่ ต้องรู้ด้วยว่า ความจริงของสิ่งนั้น คือ อะไร?

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่ม ทุกท่าน

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2557

งดงามด้วยภาพ

งดงามด้วยเนื้อหา

งดงามด้วยปัญญา

งดงามด้วยคุณธรรม

ขออนุโมทนาพี่วันชัย ที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน

น่าติดตาม และน้อมนำสู่ปัญญา ครับ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา

ของท่านเจ้าภาพดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มทุกท่าน

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 16 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 16 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 16 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

งดงามอย่างยิ่ง ครับ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา

ของท่านเจ้าภาพดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย และ ผู้จัด เจ้าภาพอาหาร ผลไม้ ขนมหวาน ไอครีม ฯลฯ และเครื่องดื่ม ทุกๆ ท่าน

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 17 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 17 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
raynu.p
วันที่ 18 ก.พ. 2557

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ch.
วันที่ 18 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 20 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 20 ก.พ. 2557

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบแทบเท้าบูชาพระคุณท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์

พระธรรมงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และสูงสุดยิ่งแห่งชีวิต เป็นบุญแท้ที่ได้พบพระธรรม และผู้รู้ธรรม แม้ในยุคหลังกึ่งพุทธกาล เวลาเหลือไม่มากในพุทธกาลนี้ ขอตั้งสัจจาธิษฐานในการฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ทุกภพทุกชาติตราบจนชาติสุดท้ายแห่งสังสารวัฎฎ์

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ขอให้กัลยาณมิตรทุกท่านพ้นจากสังสารวัฎฎ์ด้วยการฟังพระธรรมด้วยความเคารพเช่นกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.พ. 2557

อ่านดีมากเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 21 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
rrebs10576
วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pulit
วันที่ 29 ส.ค. 2557

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Sea
วันที่ 1 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ