เจตสิก

 
สุขิโตภิกขุ
วันที่  25 ก.พ. 2557
หมายเลข  24522
อ่าน  3,150

เจตสิกมีหน้าที่อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท) จำแนกเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ ๓ พวก คือ...

๑. อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตอื่น คือเกิดกับจิตชาติใดก็เป็นชาตินั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดได้กับจิตทั้ง ๔ ชาติ

๒. อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ก็ยังแยกประเภท เช่น โลภเจตสิกเกิดได้กับโลภมูลจิต โทสเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต โมหเจตสิกเกิดได้กับอกุศลจิตทุกดวง เป็นต้น

๓. โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แล้วแต่การประกอบ

--------------------------------------------------

จิต กับ เจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และ เกิดที่ที่เดียวกัน

ดังนั้น จิต เกิด โดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ดั่งเช่น จิตเห็น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีการกระทบที่เป็นผัสสเจตสิก ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของจิตเห็นเลย หรือ ความติดข้อง ที่เป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่มีโมหเจตสิก ความไม่รู้ ก็คงไม่ติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ มี โมหเจตสิก ที่ไม่รู้เป็นต้น เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ครับ

อุปมาเหมือน การจะเดินไปได้ก็ต้องอาศัยคนสองคน คือ คนตาบอดกับคนขาเปลี้ย คนตาบอดก็อุ้มคนขาเปลี้ยแต่ตาดี คนขาเปลี้ยบอกทาง คนตาบอดที่อุ้มก็ทำหน้าที่เดินไป ก็อาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะเดินไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง จิต เจตสิก ก็ต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ ครับ ขออนุโมทนา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพครับ

ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ตอนหนึ่ง มีว่า สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต โดยไม่พรากจากกัน ชื่อว่า เจตสิก

ธรรมที่เป็นเจตสิก เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มีดังนี้ .-

ธรรมเป็นเจตสิก เป็นไฉน?

เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์

(สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต มีผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์

เจตนา ความจงใจ เป็นต้น) สภาพธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นเจตสิก.


พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลสัตว์โลกให้ได้เข้าใจธรรมตามพระองค์ด้วย จึงทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนา ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา

เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว พระธรรมคำสอนทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเมื่อจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น คือ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม และ สั้นที่สุด คือ ธรรม นั่นเอง ธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ แต่ต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงธรรมอะไร อันจะเป็นเครื่องส่องให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า ธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ (ได้แก่ จิต) และ อย่างที่สอง คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย (ได้แก่ เจตสิก)

ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ (ความโลภ,ความติดข้องต้องการ) กิจหน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้อง ไม่สละ ไม่ปล่อย โทสะ (ความโกรธ) กิจหน้าที่ของโทสะ คือ แผดเผาประทุษร้าย โมหะ (ความไม่รู้) กิจของโมหะ คือ ไม่รู้ความจริง ศรัทธา (ความเลื่อมใส,ความผ่องใสแห่งจิต) กิจหน้าที่ของศรัทธา คือ ยังสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ผ่องใส หิริ (ความละอายต่อบาป) กิจหน้าที่ของหิริ คือ ไม่กระทำบาป ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) กิจหน้าที่ของปัญญาคือ กำจัดความมืดบอดคืออวิชชา เป็นต้น เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครทำอะไรเลย เพราะมีแต่สภาพธรรมกล่าวคือ จิต และ เจตสิก เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้นจริงๆ

ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามควรแก่ประเภทของจิตนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็จะมีอกุศลเจตสิก เช่น อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบแห่งจิต) โมหะ (ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ก็จะมีเจตสิกฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (ความเลื่อมใส,ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ก.พ. 2557

เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ทำหน้าที่หลายอย่าง ชอบ ไม่ชอบ เห็นถูก เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 26 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 26 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 10 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jirat wen
วันที่ 3 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ