ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ จังหวัดน่าน ๑๗-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
ดร.อนุสรณ์ กุศลวงศ์ ได้กราบเรียนเชิญ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เพื่อไปพักผ่อน ที่ อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ.
ร่วมเดินทางไปด้วย คณะแรกเดินทางด้วยรถทัวร์ในเช้าวันที่ ๑๗ ถึงที่พักในปัว เวลาเย็น
สำหรับท่านอาจารย์และอีกคณะหนึ่ง ได้ออกเดินทางโดยเครื่องบินในตอนสาย
ของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ถึงท่าอากาศยานจังหวัดน่าน ราว ๑๑.๓๐ น.
ส่วนข้าพเจ้า สมัครใจขับรถไปเองกับลูกสาว พร้อมด้วยพี่หนู (อัญมณี) พี่ตุ๊กแก (วรรณวิไล)
โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ราวๆ ๘.๓๐ น. ของวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ระหว่างทาง ได้แวะเยี่ยมชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
และ รับประทานอาหารกลางวัน ที่จังหวัดพิษณุโลก
หลังจากนั้นได้เดินทางผ่านจังหวัดพิจิตร อุตรดิตถ์ แยกเด่นชัย เลี้ยวขวาผ่านจังหวัดแพร่
ถึงอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ราวๆ ๑๗.๓๐ น. เข้าที่พักที่โรงแรมเทวราช กลางเมืองน่าน
แล้วจึงออกไปรับประทานอาหารเย็น ก่อนกลับเข้าที่พัก
สำหรับคณะที่มากับรถทัวร์ในวันเดียวกันนั้น ได้เลยไปเข้าที่พักที่อำเภอปัว
และจะออกเดินทางเข้าเมือง มารอรับท่านอาจารย์ที่สนามบินในตอนสายๆ
ของวันรุ่งขึ้น และ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น คณะน้อยๆ ของเรานัดกันออกไปเดินชมตลาดเช้า
ของเมืองน่าน และที่ขาดไม่ได้คือพากันไปชิมขนมจีนน้ำเงี้ยวเจ้าอร่อยในตลาดเช้าด้วย
น้ำเงี้ยวที่น่านนี้ จะเป็นแบบน้ำใสใส่เลือดหมูและกระดูกหมู ไม่ใส่พริก เด็กๆ ทานได้
สำหรับผู้ใหญ่ที่ชอบเผ็ดก็ใส่พริกป่น หรือแนมพริกขี้หนูทอดได้ตามชอบ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ น้ำเงี้ยวของแท้จะต้องใส่ดอกงิ้วตากแห้งด้วย ขาดไม่ได้
เท่าที่สังเกตุที่ได้มาทานหลายหนแล้ว พบว่าแม่ค้าใส่ดอกงิ้วให้น้อยมาก ไม่ทราบเหตุใด
ทั้งๆ ที่ดอกงิ้วก็มีราคาถูก หรือเป็นเพราะมีลูกค้าท่านอื่นที่ชื่นชอบ ขอใส่เยอะๆ ไปเสียหมด
หากทำรับประทานเองที่บ้าน ข้าพเจ้าชอบใส่มากๆ คราวนี้จึงซื้อดอกงิ้วตากแห้งมาด้วย
เมื่อเดินกลับโรงแรมเพื่อรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้ (อีกนิดหน่อย)
ก็แวะถ่ายรูปหน้าโรงแรมภูคาน่านฟ้า ซึ่งอยู่ติดกับโรงแรมเทวราชที่เราพัก
ทราบภายหลังว่าเป็นของตระกูลล่ำซำ เจ้าของธนาคารกสิกรไทย
จึงไม่แปลกใจว่า เมื่อไปที่อำเภอปัว แล้วได้เห็นอาคารของธนาคารกสิกรไทย สาขาปัว
สร้างด้วยไม้ มีรูปแบบของอาคารแบบเดียวกันกับที่นี่
โรงแรมที่เราพัก มีพระไตรปิฎกฉบับประชาชนไว้ในห้องพักให้ด้วยครับ
หลังรับประทานอาหาร เราเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมแต่เช้าเลย
เพราะหลังจากพวกเรารอรับคณะของท่านอาจารย์ที่สนามบินแล้วนั่งรถรางชมเมืองเสร็จ
คณะทั้งหมด รวมคณะน้อยๆ ของข้าพเจ้า ๕ คน ก็จะไปพักที่รึสอร์ท ที่อำเภอปัว
ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน ไปทางเหนือราว ๖๐ กิโลเมตร
เมื่อยังมีเวลาก่อนที่ท่านอาจารย์จะเดินทางมาถึง คณะน้อยๆ ของเราจึงไปชมตัวเมือง
ซึ่งมีสถานที่สำคัญๆ ที่น่าเข้าชมคือ วัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำน่าน
ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ มีความสวยงามมาก จากนั้นไปชมวิหารวัดภูมินทร์และภาพวาด
อันงดงามยิ่งภายในวิหาร สกุลช่างล้านนา แต่มีความงดงามมากแตกต่างจากที่อื่น
บางท่านจึงจัดให้เป็นสกุลช่างน่าน เพราะมีเอกลักษณ์ความสวยงามเฉพาะตัว
หน้าวัดภูมินทร์เป็น "ข่วงเมืองน่าน" เป็นลานโล่งกว้าง ใช้เป็นที่จัดงานพิธีการ
ของเจ้าผู้ครองนครน่านและประชาชนทั่วไป บางโอกาสก็ใช้เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า
จากนั้นได้ไปชม วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียง (เมือง)
ก่อนที่จะไปรอรับคณะของท่านอาจารย์ ที่สนามบินน่านราว ๑๑.๓๐ น.
สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน สามารถคลิกอ่าน
จากกระทู้ที่พี่แดง (พลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทอง) ลงไว้แล้ว ได้ที่นี่ครับ
รวมถึงกระทู้ที่คุณเผดิม ยี่สมบุญ และ คุณคำปั่น อักษรวิลัย ได้ลงไว้แล้วก่อนหน้านี้
ประกอบด้วยภาพถ่ายและข้อความธรรมะ ที่น่าพิจารณาและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เยือนเมืองน่าน กับ ท่าน อ.สุจินต์ อบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน 18 ก.พ. 2557
ช่วงเวลาที่มีค่า ณ เมืองน่าน ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
สำหรับกระทู้ที่ลงนี้ จะขออนุญาตนำความการสนทนาของท่านอาจารย์
ซึ่งได้สนทนากับพระภิกษุ ที่แสดงความประสงค์จะขอสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์
ในช่วงเช้าของวันสุดท้าย ก่อนที่ท่านอาจารย์จะเดินทางกลับ ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาส
ร่วมรับฟังการสนทนาด้วยในช่วงแรก ก่อนที่จะปลีกตัวกลับก่อน เพราะต้องขับรถทางไกล
ตั้งใจว่าจะอยู่ฟังสักครึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้ความธรรมะมาฝากทุกท่านได้พอลงกระทู้
แต่เมื่อยิ่งฟัง ก็ยิ่งซาบซึ้ง ในธรรมที่ท่านอาจารย์เกื้อกูลอย่างยิ่ง จนเลยเวลาไปเล็กน้อย
ก่อนที่จะนำความการสนทนาในช่วงดังกล่าว มาลงพร้อมภาพที่ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้
ตลอดการเดินทางของคณะของท่านอาจารย์ในครั้งนี้ทั้งสามวัน
ข้าพเจ้าขอคัดข้อความบางตอน จากกระทู้ที่คุณเผดิม ยี่สมบุญได้ลงไว้ในกระทู้
เยือนเมืองน่าน กับ ท่าน อ.สุจินต์ อบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน 18 ก.พ. 2557
มาลงไว้ให้ท่านได้พิจารณา อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ครับ
...การอบรมปัญญา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ที่ถึงความไม่มีเรา
ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติ ไม่ได้แยกจากชีวิตประจำวัน
คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งที่เป็นกุศล อกุศลด้วย ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา
ดังนั้น อกุศลเกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้
แต่ หนทางการเจริญปัญญา เพื่อถึงความไม่มีเรา ก็คือ ระลึกรู้ ตัวอกุศลที่เกิดขึ้น
ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
หากไม่รู้อกุศล ก็จะไม่รู้ทั่วในธรรมเลย ว่าแม้อกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา...
...สติย่อมเกิดได้ในที่ทั้งปวง เมื่อปัญญาถึงพร้อม
แม้ขณะที่เที่ยว ก็มีแต่ธรรม มีได้ยิน มีเสียง มีคิดนึก ที่เป็นกุศล หรือ อกุศล
ก็ล้วนแล้วแต่เป็นธรรม สติปัฏฐานเกิดได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ก็ค่อยๆ ละความเป็นเราในขณะที่เที่ยวได้
หนทางที่ถูกต้อง คือ ฟังพระธรรมต่อไป และชีวิต ก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย
พร้อมๆ กับสะสมปัญญา
สติและปัญญาก็จะเกิดขึ้นเอง
รู้ความจริงในขณะที่เป็นชีวิตประจำวัน
นี่คือ หนทางการถึงความไม่มีเรา...
...ไม่ใช่ว่า ไปเที่ยว ฟังเพลง แล้วจะอบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐานไม่ได้
และ แม้สะสมอกุศล แต่อกุศลก็สะสมอยู่แล้ว แม้ไม่เที่ยว เพราะเกิดเป็นปกติ
แต่ที่สำคัญ การสะสมระหว่าง อกุศล และ กุศล มีปัญญา เป็นต้น แยกกัน
เมื่อปัญญาเจริญถึงที่สุด
ก็สามารถละกิเลสที่สะสมมามากเท่าไหร่ก็ตาม ได้หมดสิ้น...
อันดับต่อไป เป็นความธรรมะ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ แสดงไว้
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๗
ณ โรงแรมชมพูภูคา รีสอร์ท อำเภอปัว จังหวัดน่าน
โดยจะได้นำภาพการท่องเที่ยว พักผ่อน ของคณะของท่านอาจารย์
และสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ตลอดทั้ง ๓ วัน มาบันทึกไว้เป็นประวัติ สืบไปด้วย ดังนี้
ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมนะคะ คำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นชื่อซึ่ง ใคร ไม่สามารถจะมีได้เลย นอกจากบุคคล ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี มาก
นาน เพื่อที่จะรู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังมี ในขณะนี้
จึงจะกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง
เพราะเหตุว่า กำลังปรากฏ ว่ามี
เพราะฉะนั้น การที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย อย่างที่ใครๆ คิด
ไม่เหมือนชาวบ้านหรือใคร หรือชาวโลก
หรือว่านักปราชญ์ของโลก สามารถที่จะกล่าว
แต่ว่า เป็นคำที่เหนือกว่านั้นอีก
คือ ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เป็นผู้ที่เป็น ผู้รู้ ที่ทุกคนยกย่องของโลก
ก็จะไม่มี "คำ" ที่เป็น "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย
ทุกคน เมื่อได้ศึกษาธรรมะแล้ว ก็จะรู้ว่า พูดคำที่ไม่รู้จัก ไม่รู้จักจริงๆ
เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะได้ "เริ่มรู้จัก" แต่ละคำที่พูด
แม้แต่ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะพูดคำไหนก็ตาม ไม่ได้รู้จักความจริงของสิ่งนั้นเลย
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เป็นคำ ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง คัมภีระ
ไม่ใช่ว่า ใครก็ตาม ประมาท
คิดว่า ฟังธรรมะแล้ว ก็จะเข้าใจได้ โดยรวดเร็ว
แต่ว่า ตามความเป็นจริง พอได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ละคำ ที่ได้ยิน เป็นวาจาสัจจะ
"คำจริง" ซึ่ง ยาก ที่จะได้ยิน ได้ฟัง
ได้ยินแล้ว ก็ ยาก ที่จะเข้าใจด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ประมาท ว่าเราไม่ต้องศึกษาธรรมะ
เพียงอ่าน หรือ เพียงฟัง เผินๆ ก็จะเข้าใจ
นั่นคือ ความเข้าใจผิด
ซึ่งจะทำให้พระธรรม คำสอน จะค่อยๆ ลบเลือนไป
เพราะว่า การที่ไม่เคารพ ในการฟัง แล้วก็คิดว่า สามารถที่จะเข้าใจได้
"...ร่มเงาของวัดบริเวณ สถานทุกแห่งของวัดวาอารามทั้งหมด
เป็นของพระรัตนตรัย
ซึ่ง มีผู้รู้คุณสร้างขึ้นมีปฏิการะ ต่อพระรัตนตรัย แล้วหรือยัง?..."
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ที่จะได้ฟังพระธรรม
ก็ควรที่จะได้ยิน คำที่เป็น อริยสาวิตรี
ขอเชิญ คุณประเชิญ ค่ะ
อ.ประเชิญ อริยสาวิตตรี ที่เป็นคำฉันท์ ที่เหนือกว่าคำฉันท์ทั้งหลาย ก็คือ
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
นี่คือ อริยสาวิตรี ครับท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณคำปั่น ให้คำแปลค่ะ
คุณคำปั่น ครับ อริยสาวิตรี มี ๓ บท นะครับ บทละ ๘ อักขระ รวมกันก็ ๒๔ อักขระ
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ คำแปลนะครับ ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
บทที่ ๒ อีก ๘ อักขระ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้า ชอถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง
และ บทที่ ๓ อีก ๘ อักขระ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้า ขอถึงซึ่งพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
กราบท่านอาจารย์ ครับ
ท่านอาจารย์ คำว่า สาวิตรี หรือ สาวิตติ ในภาษามคธี ซึ่งเป็นภาษาบาลี
หมายความถึง ยอดของคำฉันท์ หมายความว่า เป็นประมุข
เวลาที่พวกพราหมณ์ จะกล่าวคำฉันท์ใดๆ เขาก็จะต้องกล่าว สาวิตรีคำฉันท์ก่อน
เพราะเหตุว่า เป็นยอดของคำฉันท์
แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน ที่มีพระรัตนตรัย เป็นสรณะ
ก่อนที่จะกล่าวถึงธรรมะ ทำไมเรากล่าวว่า
ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ขอถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ขอถึงพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
เพราะเหตุว่า เรามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง จริงๆ
แล้วก็ เป็นที่พึ่งสูงสุด
แต่ว่า จะไม่ใช่ที่พึ่ง อย่างเราคิดเพียงว่า ขอพึ่งชั่วคราว ครั้งคราว
ยามทุกข์ยาก ยามลำบาก ก็จะขอพึ่ง
ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่ต้องขอพึ่ง ตลอดชีวิต
และ ต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย
ขอพึ่ง พึ่งอะไร?
ถ้าจะพึ่งแบบให้ใครมาช่วย แบบญาติสนิท มิตรสหาย
หรือว่า พึ่งแบบ ให้ทรัพย์สิน เงินทอง อยากได้อะไร ก็ขอ
นั่นไม่ใช่
(ที่เก็บอัฐิเจ้าผู้ครองนคร น่าน ภายในวัดหลวงกลางเวียง)
เพราะเหตุว่า ที่พึ่งจริงๆ ในสังสารวัฏฏ์ คือ
พึ่งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ
มิฉะนั้น เราไม่สามารถที่จะได้รับ สิ่งซึ่งประเสริฐยิ่ง เหนือกว่าสิ่งอื่นใด
ทั้งชาติ ตลอดชีวิต ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม
คือ
ได้มี "ปัญญา" จากการที่ "ได้ฟัง" วาจาสัจจะ
"คำจริง" ที่ทรงแสดงให้คนที่มี "ศรัทธา" จิตที่ผ่องใสจากความเศร้าหมองใดๆ คือ อกุศล
เพื่อที่จะได้เข้าใจความจริง ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราปรารถนาในชีวิต คือ อะไร?
บางคน ปรารถนาเพียงแค่ทรัพย์สิน เงินทอง
บางคน ปรารถนามิตรสหาย เกื้อกูล ยามทุกข์ยาก หรือว่า ยามสนุก เพลิดเพลิน
หรือ ไม่มีโรคภัยต่างๆ
แล้วแต่ว่า ใครจะปรารถนาสิ่งใด
บางคน ปรารถนา ถึงกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เท่าไหร่ก็ไม่พอ
ไม่รู้จักจบ
แต่ว่า ความจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็เพียง "ชั่วคราว"
ถ้าศึกษาแล้ว ก็จะรู้ว่า
แสนสั้น น้อยมาก
แต่ไม่ศึกษา ดูเหมือนว่ายั่งยืน พอสมควร
แล้วในที่สุด ก็พลัดพราก จากไป แต่ว่า ตามความเป็นจริง เร็วยิ่งกว่านั้นอีก
เพราะฉะนั้น เราก็จะได้เข้าใจว่า ถ้าเราไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
เราก็เหมือนกับ มีชีวิตในโลกนี้ โดยการเกิดเป็นเรา อย่างนี้แหละ
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์
เดี๋ยวลาภ เดี๋ยวยศ เดี๋ยวสรรเสริญ
เสร็จแล้ว ก็ไม่เหลือเลย
จากโลกนี้ไป เอาอะไรไป ไม่ได้เลย
แต่สิ่งที่ได้พึ่งจริงๆ จากผู้ที่ได้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือ
ให้เราสามารถ ที่จะมีความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง
ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า
"ปัญญา"
อย่างอื่น ตามไปไม่ได้เลย
นอกจาก บุญ บาป ความดี ความชั่ว กุศล อกุศล
ซึ่งในบรรดาความดีทั้งหมด "ปัญญา" ประเสริฐสุด
เพราะเหตุว่า สามารถที่จะทำให้ ได้เข้าใจความจริง เป็นสิ่งที่ล้ำค่า
ไม่สามารถที่จะเอาสิ่งหนึ่ง สิ่งใด มาเปรียบได้
เงินทอง ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ซื้อไม่ได้เลย
ไม่มีใคร จะเอาเงิน ไปซื้อปัญญา ขอหน่อย ขอมาก ใดๆ เลยทั้งสิ้น
แต่ต้องมีโอกาส ได้ฟังพระธรรม แล้วก็ฟัง ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
คือ ฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง คำที่ได้ฟัง ว่าเป็นคำจริง
ที่สามารถที่จะ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก
กว่าที่เรา สามารถที่จะรู้ความจริง ต้องบำเพ็ญ "สาวกบารมี"
เพราะเหตุว่า การที่จะมีปัญญา ซึ่งเป็นประมุข หรือว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐ
ในบรรดาสิ่งที่ดีทั้งหมด ไม่มีอะไรประเสริฐ เท่าปัญญา
ก็จะต้องมีการที่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น
แล้วก็ ค่อยๆ เริ่มสะสม
เพราะรู้ว่า ปัญญา ที่จะรู้ความจริง ไม่ง่าย
เพราะเหตุว่า ถ้าง่าย ทุกคนก็หมดกิเลส เป็นแต่คนดีหมด
แต่ทำไม บางคนดี บางคนชั่ว
ขณะใดที่ชั่ว เพราะ ไม่มีปัญญา
ขณะใดที่ดี ยังไม่พอ
เพราะเหตุว่า ดีที่สุด ก็คือ ต้องสามารถเห็นถูก เข้าใจถูก ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ต้องศึกษา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ใน "แต่ละคำ"
แล้วก็จะได้ประโยชน์ แล้วก็ได้สาระจริงๆ ว่า
การฟัง คือ ทำให้เข้าใจ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง
และ สำหรับบางคน ซึ่งไม่เคยฟังมาก่อน
การฟัง ก็จะทำให้สามารถ เข้าใจ "คำ" ที่ได้ยิน ด้วย
ไม่ใช่เพียงคิดว่า เข้าใจแล้ว
ขอยกตัวอย่าง
ทุกคน ได้ยินคำว่า "ธรรมะ"
เมื่อกี้นี้ เราก็กล่าว พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
แต่ถ้าพระองค์ ไม่ทรงพระมหากรุณา แสดงพระธรรม ใครจะได้ยิน?
เราก็ไม่มีโอกาสจะได้ยิน
๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว จนถึง ณ วันนี้
พระวาจาที่ได้ตรัส ในครั้งโน้น เราก็ยังมีโอกาส ที่จะได้ยิน ได้ฟัง
สำคัญอยู่ที่ว่า
ต้อง "เข้าใจ" สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง จริงๆ ไม่ผิวเผิน
เช่น คำว่า "ธรรมะ" ชาวมคธ ใช้ภาษามคธี แต่ชาวไทย ใช้ภาษาไทย
เพราะฉะนั้น คนที่ได้ยินคำว่า "ธรรมะ" แล้วก็ไม่รู้เลย ว่า ธรรมะ คือ อะไร? ก็มี
หรือ แม้แต่ศึกษาธรรมะ เผินๆ ก็เข้าใจว่า รู้จักธรรมะแล้ว
แต่ว่า ตามความเป็นจริง ธรรมะ หมายความถึง สิ่งที่มีจริง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ภาษาไทย เราจะไม่มีภาษาอื่น มาเป็นเครื่องกั้นเลย
เพราะเหตุว่า เราสามารถที่จะเข้าใจตรง แล้วก็ไม่ต้องไปแปล
ไม่ต้องอ้อมค้อมด้วย
"ธรรมะ" คือ "สิ่งที่มีจริง"
สมควรที่จะรู้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่จริง ไม่มี จะรู้ทำไม?
และ จะรู้ได้อย่างไร?
เพราะฉะนั้น แม้แต่ "คำเดียว" แท้ๆ
ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง
ใครรู้บ้าง? ถ้าไม่ฟังต่อไป
แต่ถ้าศึกษาต่อไป แล้วก็ไตร่ตรองด้วย แล้วก็ เป็นผู้ที่ตรงด้วย
ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้ มีอะไรที่มีจริงๆ
เพราะบอกว่า ธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง คำนี้ ไม่เปลี่ยน
คำใดที่ตรัสแล้ว ไม่เป็นสอง หมายความว่า จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง คำนี้ เปลี่ยนไม่ได้
แต่ว่า อะไร? กำลังมีจริง?
ไม่เคยคิดมาเลย ว่าต่างกับที่พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดง
เพราะเหตุว่า ถ้าถามว่า เดี๋ยวนี้ อะไรมีจริง
ถ้าไม่ฟังธรรมะเลย ไม่เคยมาก่อน
ต้องไปหาไหม? อะไรมีจริง? อยู่ตรงไหน?
แต่ว่าความจริง ไม่ต้องไปหาเลย
ใกล้ที่สุด คือ เดี๋ยวนี้
สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่แหละ!!! จริง!!!
"เห็น" มีจริง ใครว่า "เห็น" ไม่จริงบ้าง?
"ได้ยิน" มีจริง ใครไม่ได้ยินบ้าง?
เพราะฉะนั้น "เห็น" ที่มีจริงๆ นี่แหละ "เป็นธรรมะ"
"ได้ยิน" ที่มีจริงๆ นี่แหละ เป็นธรรมะ
"คิด" เป็นธรรมะหรือเปล่า?
"คิด" มีจริงๆ
"คิด" เป็นธรรมะ
"สุข" ความรู้สึกเป็นสุข อากาศวันนี้ ดีมาก เย็นสบาย
เป็นธรรมะหรือเปล่า?
เป็น
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตาม ที่กำลังปรากฏ
สิ่งนั้น "เกิดขึ้น" จึงปรากฏว่ามี
ใครรู้บ้าง?
ว่าเดี๋ยวนี้ สิ่งที่กำลังมี "เกิดแล้ว"
แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เกิด
สิ่งนั้น มีความดับไป เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตาม ที่ปรากฏขณะนี้
เกิด แล้ว ดับ
นี่คือ การที่จะฟังพระธรรม จนกระทั่งรู้ว่า นี่คือ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง
เช่น "เห็น" ไม่ใช่ "ได้ยิน"
"เห็น" ต้องอาศัย "ตา"
"ได้ยิน" ต้องอาศัย "หู"
ขณะใดที่เกิดเห็น ขณะนั้น จะไม่ได้ยิน
ชั่วขณะที่แสนสั้น ที่เกิดขึ้น "เห็น" ดับไปแล้ว จึงมีสภาพธรรมะ ที่เกิดขึ้น "ได้ยิน"
แสนสั้น แล้วก็ ดับไป
เพราะฉะนั้น ชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย ดูเหมือนว่า ไม่ได้ดับไปเลย สักขณะเดียว
แต่ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้
รู้ว่า
ที่เกิดนั้น ก็คือ ธรรมะ แต่ละหนึ่ง
ซึ่ง เกิดแล้วดับ สืบต่อ
ตั้งแต่เกิด จนถึง ขณะนี้ ไม่มีอะไรที่ไม่เกิด จะปรากฏได้
และ เมื่อเกิดแล้ว ต้องดับไปทันที
เร็วสุดที่จะประมาณได้
จนกระทั่ง การเกิดดับนั้น ไม่ปรากฏเลย ทั้งเกิดและดับ
ใครปฏิเสธคะ? ขณะนี้!!!
"เห็น" เกิด ดับ เร็วมาก
"ได้ยิน" เกิด ดับ เร็วมาก
"คิด" เกิด ดับ เร็วมาก
แต่ละคำ ถ้ามีเพียง "คำเดียว" จะไม่รู้เรื่องเลย
เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจนี้ กี่คำ? ซึ่งเกิด เพราะจิต ซึ่งกำลังคิดถึง แต่ละคำนั้น
ทั้งหมด เป็นธรรมะ
ซึ่งศึกษาตลอดชีวิต ทุกชาติ กว่าจะได้เข้าใจความจริงว่า
แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา หรือ ของคนหนึ่ง คนใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ที่ "เที่ยง" ที่ "ยั่งยืน" เลยสักอย่าง
เป็นแต่เพียง สิ่งซึ่งมีปัจจัย เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป อยู่ตลอดเวลา
จึงจะเข้าใจพระธรรม ได้
มิฉะนั้น จะศึกษาพระธรรม โดยไม่เข้าใจเลย
เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียง "ชื่อ" และ "เรื่องราว" ต่างๆ
แต่ว่า ตามความเป็นจริง ต้อง "เข้าถึง" ความหมาย ที่ว่า
พระธรรม ที่ทรงแสดงทั้งหมด แสดงถึง ความจริง ที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง โดยละเอียดยิ่ง
เพราะฉะนั้น เมื่อแต่ละหนึ่ง เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง ที่ยั่งยืน
ถ้าไม่ศึกษา ให้เข้าใจอย่างนี้ จะอ่านพระไตรปิฎกไม่เข้าใจ
หรือ แม้แต่พระสูตร และ พระวินัย ด้วย
นี่เป็นเหตุ ที่เราจะต้อง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ตามลำดับ
แล้วก็เป็นผู้ที่ตรง จึงจะได้สาระ ว่า
รู้จัก แม้แต่คำเดียว คือ คำว่า "ธรรมะ"
จริงๆ หรือเปล่า?
ได้ยินอย่างนี้ ถึงขั้นที่ใช้คำว่า ประจักษ์แจ้งความจริงหรือยัง?
ที่จะใช้คำว่า อริยสัจจะ ความจริง ที่ทำให้เป็นผู้ที่ประเสริฐ ที่สามารถจะดับกิเลสได้
ด้วยความรู้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น นี่ "ขั้นฟัง"
แต่ว่า ยังไม่ได้ประจักษ์ การเกิด ดับ เลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงแต่เพียง "คำ"
แต่ ทรงแสดง การอบรม เจริญปัญญา
จนกระทั่ง สามารถที่จะ "เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง"
ตั้งแต่ คำแรก ที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ ที่ไม่ได้ปฏิเสธ เช่น
ขณะนี้ สภาพธรรมะ เกิด ดับ สามารถจะประจักษ์ความจริงได้
เช่นเดียวกับที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดง
มิฉะนั้น จะไม่มีคำว่า สาวก หรือ อริยสาวก
ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงนี้ได้
แต่ว่า พระรัตนตรัยมี ๓ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระพุทธ
พระธรรม คือ คำสอน
ตั้งแต่ เบื้องต้น จนถึงการรู้แจ้งความจริง ทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล
ซึ่งเป็น พระสังฆรัตนะ
ธรรมะ ยังมีค่ะ ยังไม่ได้ลบเลือนไป
แต่ว่า ต้องศึกษา ด้วยความเคารพ
มิฉะนั้น ถ้าไม่รู้จริงๆ เข้าใจผิวเผิน เข้าใจผิด
คำไม่จริง จะเบียดเบียน คำจริง
และ ในที่สุด พระธรรม ก็จะอันตรธาน
เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็คือว่า เป็นผู้ที่รู้ว่า ธรรมะ เป็นสิ่งที่ยาก
อย่ากล่าวเลย ว่าธรรมะ ง่าย
ใครจะบอกให้รู้ธรรมะได้ง่ายๆ คนนั้นผิด
เพราะเหตุว่า พระธรรม ไม่สามารถที่จะเป็นอย่างที่คนนั้นเข้าใจได้ เลย
เพราะว่าขณะนี้ กำลังมี และ เป็นจริงอย่างนั้น
แต่ กว่าจะรู้ความจริงอย่างนั้นได้
"ปัญญา" ก็จะต้องอบรม จนกระทั่ง ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น ไม่ท้อถอย
เพราะเหตุว่า มีสิ่งที่มีจริง พร้อมที่จะให้รู้ ให้เข้าใจได้
เพียงมีศรัทธา ความผ่องใสของจิต
ซึ่งไม่ใช่ความติดข้อง ด้วยความต้องการ
หรือ เป็นความขุ่นเคือง ว่า ยากนัก
แต่ว่า เป็นสิ่งที่ สามารถที่จะฟัง แล้วก็สนทนากัน
เพื่อที่ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเคยฟัง เผินๆ หรือ เคยฟังมาแล้ว แล้วไม่เข้าใจ
ก็จะได้ ไตร่ตรอง แล้วก็ พิจารณา
จนกระทั่งรู้ว่า ความจริง คือ อย่างไร?
เมื่อความจริงได้เข้าใจแล้ว ก็จะรู้ว่า เป็นวาจาสัจจะ
ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดง
อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ เมื่อกี้ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า
"คำไม่จริง" เบียดเบียน "คำจริง"
ท่านอาจารย์ จะยกตัวอย่างให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นไหม?
ว่าคำไม่จริง อย่างไร? ที่เบียดเบียนคำจริง
ท่านอาจารย์ ค่ะ "พระธรรม ไม่ยาก" จริงไหม?
อ.ธิดารัตน์ ไม่จริง
ท่านอาจารย์ แค่นี้ ก็รู้แล้ว ว่าจริง หรือ ไม่จริง
แต่ถ้าคนไม่รู้ ตื่นเต้นเลย
ไม่ยาก ก็ดี จะได้เข้าใจเร็วๆ จะได้รู้แจ้งเร็วๆ
นี่คือ เบียดเบียน หนทาง ที่จะรู้ความจริง
ซึ่ง แสนยาก
คุณคำปั่น ในเบื้องต้น ที่ได้ยิน ได้ฟัง จะขาดไม่ได้เลย ก็คือ
การฟังการศึกษา ด้วความเคารพ
การฟังพระธรรม ด้วยความเคารพ เป็นอย่างไร?
และ จะนำไปสู่การเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ อย่างไร?
ครับท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพ คือ ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟัง แล้วเคารพ จะไปกราบไหว้
แต่ต้องพิจารณา ไตร่ตรอง ว่า
สิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ คือ อะไรบ้าง? ที่กล่าวว่า จริง
ธรรมะ เป็นเรื่องที่ต้อง ไตร่ตรอง
แล้วก็เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ของผู้ที่ไตร่ตรองแล้ว
พระคุณเจ้า เจริญพร ญาติโยม
ดีใจ ที่โยมอาจารย์สุจินต์ ได้มาสนทนาธรรม ที่นี่ อาตมา มีคำถามอยู่ ๒-๓ คำถาม
ก็จะถามทีเดียวเลย แล้วก็ให้โยมอาจารย์ เมตตาตอบ ทั้งหมดเลย
อย่างแรกก็ ในฐานะ ที่อาตมา เป็นนักปฏิบัติธรรม นักภาวนา
ปฏิบัติธรรม อยากจะถามว่า ปฏิบัติธรรมอย่างไร? ในฐานะนักปฏิบัติภาวนา
ข้อที่สอง ก็คือ เรียนอภิธรรม อาตมาก็ไม่ค่อยจะมีพื้นฐานอะไรมากมาย
ก็พยายาม ที่จะศึกษา แล้วก็ อยากจะถามว่า
เรียนพระอภิธรรม จะเริ่มอย่างไร?
ข้อที่สาม รู้ธรรม เห็นธรรม
เห็นได้อย่างไร?
โยมอาจารย์
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด นะคะ เป็นเรื่องของ "คำเดียว" คือ "ธรรมะ"
ทุกข้อ ที่พระคุณเจ้ากล่าว "ธรรมะ" ทั้งหมด ใช่ไหม เจ้าคะ?
แม้แต่ข้อหนึ่ง ปฏิบัติธรรมะ ข้อที่สอง กรุณาทบทวนด้วยเจ้าค่ะ
พระคุณเจ้า เริ่มเรียนอภิธรรม เริ่มอย่างไร?
ท่านอาจารย์ ก็มีคำว่า "ธรรมะ" ข้อสาม
พระคุณเจ้า รู้ธรรม เห็นธรรม เห็นอย่างไร?
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทั้งหมด มีคำว่า "ธรรมะ"
เพราะฉะนั้น จะประมาทไม่ได้เลย เจ้าค่ะ ว่า เท่าที่ได้ยินคำว่า ปฏิบัติธรรมะ
เรียนพระอภิธรรม แล้วก็ จะรู้ธรรมะ ได้อย่างไร?
ทั้งหมด ก็คือว่า ต้องเป็นผู้ที่ ละเอียด
ถ้าพระคุณเจ้า มั่นใจว่า
ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง
ไม่ได้อยู่ในหนังสือ เจ้าค่ะ
"เห็น" ไม่ได้อยู่ในหนังสือ
"ได้ยิน" ก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ
ในหนังสือ มีแต่ตัวที่เป็น เส้นต่างๆ เส้นยาว เส้นสั้น เส้นกลม เส้นเหลี่ยม
ไม่ใช่ "เห็น"
แต่ในขณะที่ กำลังปรากฏ เป็นเส้นต่างๆ เพราะมี "จิต" ที่ "เห็น"
ถ้าไม่มี "เห็น" จะไม่มีการอ่าน หรือว่า ดูอะไรได้เลย
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กล่าวว่า "เห็น"
"เห็น" มีจริงๆ เจ้าค่ะ
แล้ว "เห็น" ไม่ได้อยู่ที่หนังสือ
"เห็น" ก็ไม่ใช่ ตัวหนังสือ
ตัวหนังสือ ก็เป็นเส้นต่างๆ ดังที่เรียนให้ทราบแล้ว
แต่ว่า ตามความเป็นจริง ในขณะนั้น ต้องมี "เห็น"
ถ้าไม่มี "เห็น"
จะไม่มีเส้นต่างๆ ที่ปรากฏว่า อยู่ในหนังสือเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่า ความจริงขณะนี้
"เห็น" เมื่อไหร่? "เป็นธรรมะ" เมื่อนั้น
"เข้าใจ" เห็น เมื่อไหร่
คือ
การเริ่มศึกษาธรรมะ เมื่อนั้น
"รู้แจ้ง" ความจริงของ "เห็น" เมื่อไหร่
ขณะนั้น ก็คือ รู้แจ้งธรรมะ เมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มี "เห็น" ยังไม่ได้ศึกษาเรื่อง "เห็น"
ยังไม่ได้เข้าใจเรื่อง "เห็น"
ถ้าจะเข้าใจ จนกระทั่ง แจ้ง ประจักษ์ความจริง ว่า
"เห็น" ขณะนี้ เป็นธรรมะ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เกิดขึ้น แล้วดับไป
ก็ต้องรู้ว่า ขณะนี้ ที่กำลังเห็นนี่แหละ
คือ
สิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงกับชาวมคธ
หรือว่า ผู้ที่กำลังฟังพระธรรม ในขณะนั้น
ไม่มีหนังสือเลย
แต่มี "เห็น"
เพราะฉะนั้น "เห็น" เป็น "ธรรมะ"
"ความลึกซึ้งของเห็น" เป็น "อภิธรรมะ"
เพราะฉะนั้น ธรรมะ ที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลง ได้เลยทั้งสิ้น
จะเปลี่ยน "เห็น" ให้เป็น "ได้ยิน" ไม่ได้
จะเปลี่ยน "เห็น" ให้เป็น ขม เป็น หวาน เป็น แข็ง ไม่ได้
"เห็น" เป็น "เห็น" เท่านั้น
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะ
ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยน แปลง "ลักษณะ" ให้เป็นอย่างอื่นเลย
จึงเป็น ปรมัตถธรรม
จะได้ยินสองคำ เจ้าค่ะ
ธรรมะ - ปรมัตถธรรม
และ ธรรมะ ที่เป็น ปรมัตถธรรม อย่างนี้
ลึกซึ้งอย่ายิ่ง
สุขุม
กว่าที่จะรู้แจ้งความจริงได้
ว่า ไม่ใช่เรา
เกิดขึ้น แล้ว ดับไป
ขณะนั้น ก็เป็น อภิธรรม
เพราะฉะนั้น ที่พระคุณเจ้าบอกว่า พระคุณเจ้า เรียนอภิธรรม
ก็ต้องรู้ว่า
ไม่ใช่เรียน "คำ"
หรือ
ไม่ใช่เรียน "ตัวหนังสือ"
แต่ "ทุกคำ" นั้น
บ่งถึง "ลักษณะ" ของสภาพธรรมะ ที่มีจริงๆ ทุกขณะ
แม้แต่ขณะนี้ ก็มี "เห็น"
ถ้าเข้าใจ "เห็น" เมื่อไหร่
จะจากการ "ฟัง" , การ "อ่าน"
แล้วก็ พิจารณา ไตร่ตรอง
จนกระทั่ง "เริ่มเข้าใจ"
ว่า "เห็น" เป็น "ธรรมะ" เป็น "อภิธรรมะ"
เพราะว่า แม้เห็นเกิด แล้วดับไป
ก็ยังไม่รู้จัก
ว่า "เห็น" ขณะนี้
เกิด แล้ว ดับ
เพราะฉะนั้น ที่จะรู้แจ้ง "สภาพธรรมะ" ได้
ภาษาบาลี จะใช้คำว่า "ภาวนา" เจ้าค่ะ
"ภาวนา" ไม่ได้หมายความว่า ไปนั่ง ไปปฏิบัติ
แต่ว่า หมายความว่า
อบรม "ปัญญา"
ให้ ค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่มีจริง
จนกว่า จะสามารถ รู้ความจริง ของสิ่งนั้น ได้
คำว่า "ปฏิบัติ"
ขอเชิญคุณคำปั่น ให้คำแปลด้วยค่ะ
คุณคำปั่น ครับ ก็เป็นคำ ที่มาจากภาษาบาลีว่า "ปฏิปัตติ"
"ปฏิ" แปลว่า "เฉพาะ"
"ปัตติ" แปลว่า "ถึง"
เพราะฉะนั้น "ปฏิปัตติ" ซึ่งแปลทับศัพท์ เป็น "ปฏิบัติ"
มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก
ก็คือ เป็นการ
"ถึงเฉพาะ"
"ลักษณะ ของสภาพธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง"
ซึ่งใจความตรงนี้
ก็ได้ฟังจากท่านอาจารย์
ก็เป็นประมวลเป็นความเข้าใจว่า
เป็นการเข้าถึง สภาพธรรมะ ด้วยสติและปัญญา ครับ
นี้คือ ความหมายของ "ปฏิปัตติ" ครับ
ก็กราบเรียนท่านอาจารย์ ในความละเอียด ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมี "นักปฏิบัติ" ได้ไหม เจ้าคะ?
ถ้าไม่เข้าใจ "ขณะนี้" ว่า "เป็นธรรมะ"
ไม่มี เจ้าค่ะ
ต้องเป็น "ผู้ตรง" อย่างยิ่ง
นี่คือ การที่จะทำให้ พระศาสนา ดำรงอยู่
โดยการที่ ไม่เปลี่ยน หรือ ไม่เข้าใจผิด
ไม่มี "วาจาอื่น"
ซึ่งมาเบียดเบียน "วาจาจริง"
ให้ค่อยๆ หมดไป
เพราะฉะนั้น "นักปฏิบัติ" โดยมาก ใช้กันทั่วโลก เจ้าค่ะ
แต่ว่า ตามความเป็นจริง
ต้องถามผู้ที่ปฏิบัติ
หรือผู้ที่เข้าใจว่า ตนเอง เป็น "นักปฏิบัติ"
ว่า
"ปฏิบัติ" อะไร?
และ
"ทำ" อะไร?
เมื่อได้ "เข้าใจ" ถูกต้องแล้ว จะไม่มี "นักปฏิบัติ"
แต่
จะมีการ "อบรมจริญ ความเห็น ที่ถูกต้อง"
ใช้คำว่า "ภาวนา"
แล้วถ้าศึกษาโดยละเอียด จะมีภาวนา ๒ อย่าง
คือ
สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และ วิปัสสนาภาวนา อีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ทุกคำ ไม่ใช่เป็นคำ ที่เพียงฟังแล้ว ใช้เลยทันที
เผินมาก
แต่ ฟังแล้ว ต้องพิจารณา
ต้องถามว่า คือ อะไร?
ถามว่า ปฏิบัติ คือ อะไร?
ถ้าตอบไม่ตรง เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจธรรมะ
ไม่ใช่ปฏิบัติ
เพราะ "ปฏิบัติ" มาจากคำภาษาบาลีว่า "ปฏิ" กับคำว่า "ปัตติ"
"ปฏิ" แปลว่า "เฉพาะ"
"ปัตติ" แปลว่า "ถึง"
ถ้าใช้ภาษาไทยว่า "ถึงเฉพาะ"
อะไรถึง?
การฟัง ก็คือว่า
"ฟัง" เพื่อ "เข้าใจถูก"
เพราะฉะนั้น
"ถึง" การที่เข้าใจถูก ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มี
ของธรรมะ นั่นเอง
เช่น "ขณะนี้ กำลังเห็น"
เข้าใจถูก ตามความเป็นจริงว่า
"เห็น" เป็น "เห็น" เท่านั้น
เกิดขึ้น แล้ว ดับไป หรือเปล่า?
ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้
ไม่ได้ "ถึงเฉพาะ" ลักษณะ ของ "เห็น"
ด้วยความเข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า "เห็น" ไม่ใช่เรา
"เห็น" เป็นแต่เพียง "ธรรมะ"
คือ สภาพรู้ ที่เกิดขึ้น รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ
ว่าเป็นอย่างนี้ ไม่เป็น อย่างอื่น
แล้วก็ ดับไป
เพราะฉะนั้น
เป็นผู้ที่อบรม เจริญ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่มี เจ้าค่ะ
"...กำลังเห็น แล้วไม่พูดเรื่องเห็น
แล้วจะพูดเรื่องอะไร จึงจะเข้าใจได้ว่า
เห็น เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา..."
(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙)
ขณะนี้ มีเห็น
แต่เป็น "เรา" ที่เห็น
จึงมีการฟังพระธรรม เพื่อจะได้เข้าใจว่า
เห็น เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา
(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙)
"...ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น
เพราะเหตุว่าบางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวัน ไม่ควรจะเป็นสภาพธรรม
นั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
ว่าแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรม
ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมอื่นเลย
ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ..."
(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙)
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 99ข้อความบางตอนจาก ภูมิชสูตร
[๔๐๗] ท่านภูมิชะกล่าวว่า ดูก่อนพระราชกุมาร เรื่องนี้อาตมภาพ
มิได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย แต่ข้อที่เป็นฐานะมีได้
แล คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ถ้าแม้บุคคลทำความ
หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถ
จะบรรลุผล ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์
โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความ
ไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ดร.อนุสรณ์ กุศลวงศ์ และ พี่เดือนฉาย ค่ำอำนวย
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมี "นักปฏิบัติ" ได้ไหม เจ้าคะ?
ถ้าไม่เข้าใจ "ขณะนี้" ว่า "เป็นธรรมะ"
ไม่มี เจ้าค่ะ
ต้องเป็น "ผู้ตรง" อย่างยิ่ง
นี่คือ การที่จะทำให้ พระศาสนา ดำรงอยู่
โดยการที่ ไม่เปลี่ยน หรือ ไม่เข้าใจผิด
ไม่มี "วาจาอื่น"
ซึ่งมาเบียดเบียน "วาจาจริง"
ให้ค่อยๆ หมดไป
ขอบพระคุณพี่วันชัยมากๆ ครับ ในการเก็บภาพ และ ธรรมได้อย่างละเอียด
เป็นประโยชน์กับผู้ที่อ่าน และ พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
เหมือนเยือนเมืองน่าน และ ได้ประโยชน์จากพระธรรมด้วย ครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ดร.อนุสรณ์ กุศลวงศ์ และ พี่เดือนฉาย ค่ำอำนวย
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัยสำหรับ
บทสรุปธรรมทัศนาจรที่มีประโยชน์อย่างยิ่งมา ณ กาลครั้งนี้ด้วยครับ
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ อ. ดร.อนุสรณ์ กุศลวงศ์
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...