ภาวนา 4 ประการ เพื่อถึงการบรรลุธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ประการ ควรค่าแก่การเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจเหตุที่จะถึงการบรรลุธรรม ครับ ด้วยภาวนา ๔ ประการ
1. สัพพสัมภารภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลทั้งหมด
2. นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลและปัญญาติดต่อกันไป
3. จิรกาลภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลและปัญญาตลอดกาลนาน
4. สักกัจจภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลด้วยความเคารพ
หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินภาวนา ๔ ประการนี้เลย แต่เมื่อเข้าใจความหมาย และอรรถ ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจหนทางการบรรลุธรรมได้อย่างมาก ครับ
ก่อนอื่นเราก็จะต้องเข้าใจคำว่า ภาวนาเสียก่อนว่า คืออะไร
คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนา จึงไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น
ภาวนา ๔ ประการ ที่จะทำให้ถึงความบรรลุธรรม ซึ่งทั้ง ๔ ประการ มีความเกี่ยวเนื่องกันดังนี้
สัพพสัมภารภาวนา คือ การเจริญอบรมกุศลทุกประการทั้งปวง
การจะบรรลุธรรม ถึงการดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงอาศัยปัญญาเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยกุศลธรรมประการต่างๆ เป็นแรงเกื้อหนุน เพื่อที่จะถึงจุดหมายได้ เปรียบดั่งเช่น การข้ามฝั่งด้วยเรือ การสร้างเรือ ก็ไม่ใช่เพียงส่วนประกอบเดียว แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆ และแรงกำลังของคนด้วย หรือ เปรียบดั่งเช่น การที่บุคคลเดินไปสู่จุดหมาย แม้จะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ข้างหน้า แต่ไม่มีแรงเดิน ก็ไม่สามารถที่จะถึงจุดหมายได้ การถึงจุดหมาย คือ การดับกิเลส บรรลุธรรม ก็ย่อมจะต้องอาศัยการเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เพียงปัญญาเท่านั้น คือ กุศล ที่เป็นไปในการบำเพ็ญบารมี มีบารมี ๑๐ เป็นต้น มี ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา อันหมายความถึง กุศลทุกๆ ประการ ที่ควรเจริญอบรม เพื่อไปถึงฝั่ง คือ การดับกิเลส การบรรลุธรรม จึงต้องเป็นการเจริญการอบรมเจริญหนทางเพื่อการดับกิเลสนั้น คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น แต่ที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ การเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ถ้าหากยังเต็มไปด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย พร้อมกันนั้นก็ไม่อบรมเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองแล้ว ก็ยากที่จะเดินทางไปถึงการดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น จึงแสดงถึงการเจริญกุศลทุกประการ ไม่มีเว้นเลย แล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใด เมื่อมีโอกาสแล้วก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดลอยไป
นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรเป็นผู้ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ เพราะบางท่านมุ่งแต่จะฟังธรรม เจริญสติปัฏฐาน แต่ลืมกุศล แม้เล็กๆ น้อยในชีวิตประจำวัน เช่น เมตตา ความเป็นมิตร ความหวังดี การช่วยเหลือ การให้ กาย วาจาที่ดี เป็นต้น แม้กุศลเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเจริญอบรมได้แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึง กุศลที่มีกำลังระดับสูงได้เลย ครับ
นิรันตรภาวนา คือ การเจริญกุศล ติดต่อกันไป ไม่ขาดสาย
การอบรมเจริญกุศลประการต่างๆ ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย และอบรมปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพราะอกุศลมีเยอะมากที่พร้อมจะเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจทุกเวลา ถ้าไม่บำเพ็ญกุศล อบรมปัญญาอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้
ผู้ที่มีความเข้าใจ และมุ่งต่อการบรรลุธรรม และจะถึงการดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงการเจริญกุศลทุกประการ ที่เป็นสัพพสัมภารภาวนาเท่านั้น และไม่ใช่เพียงชาตินี้ชาติเดียว หรือ เพียงขณะเดียว แต่ต้องเป็นผู้ที่จะเจริญติดต่อกันไป ในแต่ละชาติที่มีโอกาสได้เจริญกุศล ได้พบพระพุทธศาสนา ดั่งเช่น พระโพธิสัตว์ ที่เจริญกุศลทุกๆ ประการ ติดต่อกันไป ในชาติที่โอกาสเจริญกุศล และเป็นผู้ที่มีความมั่นคงที่จะเจริญกุศล ติดต่อกันไป ที่จะบรรลุธรรม จิตใจตั้งความปรารถนา ติดต่อกันไปที่บำเพ็ญกุศลเพื่อดับกิเลสจนหมดสิ้น นี่คือ นิรันตรภาวนา การเจริญกุศล อบรมติดต่อกันไป
จิรกาลภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลตลอดกาลนาน
การจะบรรลุธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ ชาติเดียว หรือ ใช้ระยะเวลาสั้น หากแต่ว่าสะสมกิเลสมามากมายนับไม่ถ้วน จึงต้องอบรม คุณความดี ทั้ง ปัญญา และกุศลธรรมประการต่างๆ อย่างยาวนาน ดั่งเช่น พระโพธิสัตว์ และพระสาวก กว่าจะบรรลุธรรม ต้องใช้เวลา อบรมปัญญา และความดีประการต่างๆ นับชาติไม่ถ้วน ครับ ดังนั้น ควรที่จะอดทนที่จะฟัง ศึกษาพระธรรม ต่อไป และเจริญกุศล อบรมปัญญาอย่างยาวนาน เพื่อที่จะถึง จุดหมาย คือ การดับกิเลสได้ในที่สุด นี่แสดงให้เห็นว่ากุศลทุกประการควรเจริญ และต้องบำเพ็ญติดต่อกันไป และต้องอบรมอย่างยาวนานด้วย ครับ
สักกัจจภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลด้วยความเคารพ
ผู้มีความเคารพในกุศลธรรม ที่เป็นความดี ย่อมเป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกๆ ประการ ไม่เลือกว่า เป็นกุศลใด เพราะเคารพในความดีนั้น เพราะความดี ไม่ใช่สัตว์ บุคคลที่จะเลือกคบ เลือกเจริญ แต่ความดี เป็นความดี ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ จึงควรค่าแก่การเจริญ และเคารพในกุศลธรรมนั้น และ เมื่อเคารพในกุศลธรรม ย่อมเป็นผู้ที่จะเจริญติดต่อกันไป และอบรมอย่างยาวนาน เพราะความดี ควรค่าแก่การเจริญกุศล ซึ่งหากพิจารณาที่สภาพธรรมที่เป็นความดีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ ควรเคารพ เคารพในความดี เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ย่อมเห็นค่าของความดี ก็จะไม่พิจารณาที่ตัวบุคคล ที่เคารพที่ตัวบุคคล แต่ความดีเกิดขึ้นกับใคร เคารพในคุณความดีนั้น เพราะความดี ไม่ว่าเกิดขึ้นกับใคร ก็เป็นลักษณะที่ดี ที่ปราศจากธรรมที่มีโทษ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ อันเป็นธรรมที่ควรเคารพ ครับ
เพราะฉะนั้น เมื่อเคารพในคุณความดี ก็เจริญกุศลทุกประการ ติดต่อกันไป และอบรมอย่างยาวนาน ครับ
ซึ่งภาวนา ๔ ประการ ที่เป็น การเจริญ เพื่อถึงการบรรลุธรรม ที่สำคัญ ก็ขาดปัญญาความเห็นถูกไม่ได้เลย เพราะมีปัญญา ความเข้าใจถูก ย่อมเคารพในกุศล คุณความดี และเจริญกุศลทุกๆ ประการ และเจริญติดต่อและอบรมอย่างยาวนาน ครับ
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีค่าทุกคำ หากพิจารณาและไตร่ตรองได้ถูกต้อง แม้แต่เรื่องภาวนา ๔ ประการ ที่เป็นหนทางถึงการบรรลุธรรม ก็ต้องเข้าใจถูกด้วยว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะเลือก ภาวนาหนึ่งภาวนาใด และมีตนที่จะทำ แต่สภาพธรรมจะปรุงแต่งไปตามความเห็นถูก และดำเนินไปตามทางที่ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นการเจริญภาวนา ๔ ประการ แม้ไม่เรียกชื่อ ครับ
อกุศลไม่ดี ไม่ควรเจริญ
กุศล ควรเจริญทุกประการ ติดต่อกันไป อย่างยาวนาน ด้วยความเคารพใน กุศล
นี่คือ ประโยชน์ของพระธรรม ครับ
อนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่มากไปด้วยคุณค่ามหาศาล
จากบางช่วงบางตอนของการสนทนาธรรมวันมาฆบูชา (ที่เกี่ยวกับภาวนา ๔ อย่าง)
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗
- ควรที่จะได้รู้ความจริง ด้วยการฟังพระธรรม
- กว่าจะละความไม่รู้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ เมื่อวานก็ไม่รู้ ต่อไปก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม หรือถ้าฟังเพียงเล็กน้อย ก็ละความไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความรู้มากมายมหาศาลก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานมากในการอบรม กว่าจะค่อยๆ รู้ รู้เมื่อใด ก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ในขณะที่เริ่มเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนหมดสิ้นได้
- เจริญกุศลทั้งหมด กุศลทั้งหมด ควรกระทำ ไม่ควรเว้น แล้วสำหรับวันนี้ มีกุศลอะไรที่ตนเองเว้นหรือเปล่า เล็กๆ น้อยๆ ขณะใดก็ตามที่กุศลไม่เกิด อกุศล ก็เกิด จะเห็นได้ว่า เพราะไม่รู้ จึงไม่บำเพ็ญกุศล
- มีอัธยาศัยขยันทำอย่างอื่น ขยันแต่งตัว ฯลฯ แต่ไม่ขยันในการเจริญกุศล
- มีใครตั้งใจ แค่คิดก็ได้ ตั้งใจที่จะเจริญกุศลทุกประการบ้างหรือยัง
- วิธีที่จะกำจัดโมหะ ละโมหะ คือ ต้องเป็นกุศล
- ขณะที่คิดที่จะทำกุศล หวังอะไรหรือเปล่า บางคนบอกว่าจะได้เกิดในสวรรค์ บางคนกลัวการเกิดในอบายภูมิ แต่ต้องเข้าใจว่า การไปเกิดในอบายภูมิไม่ใช่ด้วยกุศลกรรม แต่ด้วยอกุศลกรรม ในบรรดาธรรมทั้งหลาย ธรรมใดที่ควรเคารพ ก็ต้องเป็นกุศลธรรม ไม่มีใครด่าว่ากุศลธรรม เพราะว่ากุศลธรรม เป็นสิ่งที่ดีงาม
- ตั้งต้นที่ไม่เว้นกุศลประการหนึ่งประการใด กุศลที่บริสุทธิ์จริงๆ ต้องเป็นผู้เคารพ เจริญกุศลด้วยความเคารพ ถ้าหวัง ไม่ใช่เป็นการกระทำด้วยความเคารพ
- ใครก็ตามที่เคารพในกุศล ขณะนั้น ก็จะค่อยๆ ขจัดความไม่รู้ ความติดข้องและความเห็นผิด ได้
- ต้องเจริญกุศลทุกประการ (สัพพสัมภารภาวนา) เพราะขณะใดที่กุศล ไม่เกิด อกุศล ก็เกิด ต้องเจริญด้วยความเคารพในกุศล (สักกัจจภาวนา) และต้องอาศัย กาลเวลาที่ยาวนาน (จิรกาลภาวนา) และ ก็คือ เดี๋ยวนี้ ตามเหตุปัจจัย เช่น ก่อน จะถึงวันนี้ ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว เห็นประโยชน์ก็ไม่ทอดทิ้ง ต้องฟัง ต้องศึกษาต่อไป (ก็เป็นนิรันตรภาวนา)
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ภาวนาในโพธิสมภาร มี 4 อย่าง
จากพระไตรปิฏกแปล ชุด 91 เล่ม ของ มูลนิธิมหามกุฏฯ
เล่มที่ 74 หน้า 35