การกลัวตกนรก หรือกลัวผลของอกุศลกรรม ถือว่าเป็นการยึดติดว่าเป็นเราไหม

 
Dayjung
วันที่  3 มี.ค. 2557
หมายเลข  24543
อ่าน  2,030

ขออนุญาตเรียนถามผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องการกลัวตกนรกค่ะ โดยจะขอยกตัวอย่างกรณีนึงนะคะ

สมมติว่า บิดาของนาย ก ป่วยหนักและอยู่ได้โดยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น ทีนี้บรรดาพี่น้องของนาย ก อยากจะถอดเครื่องช่วยหายใจ เพราะคิดว่าจะช่วยให้บิดาไม่ต้องทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้ แต่ นาย ก เป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมมาบ้าง เลยรู้ว่าการถอดเครื่องช่วยหายใจนั้น จะเป็นการกระทำอนันตริยกรรม ดังนั้น นาย ก จึงยืนกรานที่จะไม่ถอดเครื่องช่วยหายใจออกเด็ดขาด นาย ก จึงโดนต่อว่าจากญาติพี่น้อง (ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมมา) ว่าเห็นแก่ตัวเกินไป กลัวที่ตัวเองจะต้องตกนรก เพื่อเอามาแลกกับความทุกข์ทรมานของพ่อ (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านรกมีจริงหรือไม่)

ทีนี้ดิฉันจะขอเรียนถามว่า

1. การที่เรากลัวตกนรกหรือกลัวผลของอกุศลกรรม เป็นการยึดติดว่าเป็นเรา หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่า จริงอยู่ว่าตัวเราไม่มี มีแค่จิตแต่ละขณะ แต่เวลาที่ผลของกรรมแสดง จิตที่รู้สึกเจ็บปวด มันก็คือจิตที่อยู่ในร่างนี้ใช่หรือไม่ หรือไม่ก็ร่างในชาติหน้า ซึ่งเราก็เจ็บปวดอยู่ดี

2. ถ้าเราเกิดปัญญาขึ้น แยกความเป็นรูปนามออกได้ ว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีตัวเรา มีแต่จิตแต่ละขณะ แล้วทำไมเราถึงยังยึดติดว่าจะต้องเจริญกุศล อย่างในกรณี นาย ก ยืนกรานที่จะไม่ถอดเครื่องช่วยหายใจออก มันดูเหมือนว่า นาย ก ก็ยิดติดที่จะไม่ให้ผลของบาปเกิดขึ้นกับจิตของเขาในอนาคตหรือเปล่า แล้วแบบนี้ก็คือการยึดติดว่าเป็นเราใช่ไหม

3. แล้วอย่างนี้การที่เราต้องการจะเจริญแต่กุศลกรรม เพราะเห็นโทษของอกุศลกรรม จะเป็นโลภะหรือไม่คะ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ คำถามอาจจะมีวนๆ บ้างนะคะ ต้องขอประทานโทษด้วยนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. การที่เรากลัวตกนรกหรือกลัวผลของอกุศลกรรม เป็นการยึดติดว่าเป็นเราหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่า จริงอยู่ว่าตัวเราไม่มี มีแค่จิตแต่ละขณะ แต่เวลาที่ผลของกรรมแสดง จิตที่รู้สึกเจ็บปวด มันก็คือจิตที่อยู่ในร่างนี้ใช่หรือไม่ หรือไม่ก็ร่างในชาติหน้า ซึ่งเราก็เจ็บปวดอยู่ดี

-ตามความเป็นจริงแล้วประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจ แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน ความคิดของเราก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็ไม่สามารถที่รู้ดีเท่ากับตัวของผู้นั้นเอง การที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ ต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน แม้จะกล่าวคำว่า กลัว ก็มีหลายลักษณะ เช่น กลัวด้วยโทสะ ก็ได้ อย่างนี้เป็นอกุศล เป็นความไม่สบายใจ แต่ถ้าเป็นกุศล ขณะที่กลัวตกนรก กลัวการได้รับผลของอกุศลกรรม ด้วยความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ประกอบด้วยโสภณธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ มีศรัทธา พร้อมด้วยหิริ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวโทษภัยของอกุศล เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย, เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็มีแต่ธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป เท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง แม้จะกล่าวว่า ผู้นั้นผู้นี้หรือแม้กระทั่งตัวเรา รับผลของกรรม ก็คือเพราะมีสภาพธรรม ที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป จึงกล่าวได้ว่า มีบุคคลผู้รับผลของกรรม ถ้าเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ไม่สำคัญผิด แต่เพราะไม่รู้ความเป็นจริง ก็เป็นเราที่กลัว เป็นเราที่รับผลของกรรม ซึ่งจะแตกต่างจากขณะที่เข้าใจถูกอย่างสิ้นเชิง

2. ถ้าเราเกิดปัญญาขึ้น แยกความเป็นรูปนามออกได้ ว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีตัวเรา มีแต่จิตแต่ละขณะ แล้วทำไมเราถึงยังยึดติดว่าจะต้องเจริญกุศล อย่างในกรณี นาย ก ยืนกรานที่จะไม่ถอดเครื่องช่วยหายใจออก มันดูเหมือนว่า นาย ก ก็ยิดติดที่จะไม่ให้ผลของบาปเกิดขึ้นกับจิตของเขาในอนาคตหรือเปล่า แล้วแบบนี้ก็คือการยึดติดว่าเป็นเราใช่ไหม

-ก็ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวของผู้นั้นเอง เราจะตัดสินเองตามความคิดของเราไม่ได้ ตามความเป็นจริงแล้ว การที่จะไปถึงวิปัสสนาญาณ ก็ต้องเป็นปัญญาที่มีการเจริญขึ้นตั้งแต่เบื้องต้นในเรื่องของความเป็นจริงของธรรม ไม่ใช่คิดเอาเองว่าได้ถึงวิปัสสนาญาณขั้นนั้น ถ้าเป็นผู้เข้าใจความจริงแล้ว มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางแล้ว จะไม่กระทำในสิ่งที่ผิด มีความมั่นคงในความถูกต้อง เพราะแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง มีกรรมเป็นของของตน เราทำเท่าที่จะทำได้และต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น และข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ ก็ต้องถึงความเป็นพระโสดาบัน ถ้ายังไม่ถึงขั้นนี้ ก็ยังไม่พ้นจากกิเลสประเภทนี้ ความเข้าใจพระธรรมที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็จะทำให้ค่อยๆ ขัดเกลาความไม่รู้ ขัดเกลาความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

3. แล้วอย่างนี้การที่เราต้องการจะเจริญแต่กุศลกรรม เพราะเห็นโทษของอกุศลกรรม จะเป็นโลภะหรือไม่คะ

-โลภะ กับ กุศล ไม่ปะปนกัน ตราบใดก็ตามที่ยังไม่สามารถดับโลภะความติดข้องต้องการได้ โลภะ ก็แทรกมาอยู่เรือยๆ อกุศลที่เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้ทำกุศลได้ เช่น อยากที่จะไม่ต้องการให้ตนเองตกนรก ก็ทำกุศล ทำความดี โดยมีความอยากเป็นพื้น ขณะที่อยากจะบอกว่าเป็นกุศลก็ไม่ได้ อยาก ก็ต้องเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ทีมีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีปัญญาเข้าใจอย่างถูกต้อง เห็นว่า อกุศลกรรม เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ให้ผลเป็นทุกข์ ก็เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ควรเลยที่จะกระทำอกุศลกรรม ก็ทำให้ตนเองถอยห่างออกจากอกุศล มั่นคงในการที่จะสะสมความดี อย่างนี้ ไม่ใช่โลภะ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ ความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกลัวตกนรก กลัวผลของกรรม เป็นโทสะ ไม่ใช่การยึดถือว่าเป็นเรา

ขออธิบายความเป็นเราดังนี้

ความยึดถือด้วยความเป็นเรา มี 3 อย่าง คือ เป็นเราด้วยตัณหา (โลภะ) เป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยทิฏฐิ ซึ่งจะขออธิบายความเป็นเราแต่ละอย่างดังนี้

ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิดความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเรา หรือ เป็นเขาด้วยความติดข้อง หรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจ ในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น และแม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดี ก็เป็นเราด้วยตัณหา แต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพูมิ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา

ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบ ว่าเราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบ นอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่น ดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบ ครับ

ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือเป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิดคือ ขณะนั้นเป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยง ยั่งยืน และยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้น มีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ

- ซึ่ง พระอริยบุคคล ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีความเป็นเราด้วย ตัณหา และด้วยมานะ เพราะเหตุว่า ติดข้องพอใจในความเป็นเรา ในสิ่งต่างๆ และมีการเปรียบเทียบว่าเราดีกว่า เสมอกว่า ซึ่งขณะนั้นที่เกิดโลภะ ที่ติดข้องในคนอื่น ในตัวเรา ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเรา มีตัวตนจริงๆ ด้วยความเห็นผิด และขณะที่เปรียบเทียบด้วยมานะ ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ เพียงกำลังเปรียบเทียบว่า เราดีกว่า เป็นต้น ครับ

ซึ่งในความต่างกับปุถุชน ของ ความมีเรา ด้วย ตัณหา มานะ และ ทิฎฐิ นั้น พระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน ถึง พระอนาคามี ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ ดังเช่นปุถุชน แต่มีความเหมือนกัน คือ มีเราด้วยตัณหา และ มานะอยู่ แต่ที่แตกต่างกัน คือ กำลังของกิเลสของปุถุชน ที่เป็นเราด้วยโลภะ กับ ด้วยมานะ นั้นมีกำลังมากกว่าของ พระโสดาบัน ถึง พระอนาคามี ด้วยเนื่องจากปัญญาที่แตกต่างกัน และกิเลสบางอย่างที่พระอริยบุคคลดับได้แล้ว ครับ นี่คือ ความเหมือนและแตกต่างกันของ ปุถุชน กับ พระอริยเจ้า มี พระโสดาบัน ถึงพระอนาคามี ในความยึดถือว่าเป็นเราครับ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 65

.. อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญ ด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิ.

สำคัญอย่างไร?

จริงอยู่ ปุถุชนนี้ ยังฉันทราคะให้เกิดในผม เป็นต้น คือยินดี เพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็หรือ วัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง, ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายใน ด้วยความสำคัญอันเกิดจากอำนาจแห่งตัณหาอย่างนี้.

ก็หรือว่า เกิดความทะยานอยากในผมเป็นต้นนั้น โดยนัยเป็นต้นว่าผมของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ขอขนของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็หรือว่า ตั้งจิตไว้เพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ โดยนัยเป็นต้น ด้วยศีล หรือพรหมจรรย์ อันนี้ เราจักมีผมดำสนิทอ่อนนุ่ม ดังนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาแม้ดังอธิบายมานี้.

อนึ่ง ปุถุชน อภัยสมบัติ (ความถึงพร้อม) หรือวิบัติของผมเป็นต้นแห่งตน แล้วยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือว่าเราเลวกว่า ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า สำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะ.

อนึ่ง ย่อมยึดมั่นผมว่าเป็นชีวะ โดยนัยที่มาแล้วว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก่อนนั้น ดังนี้. (แม้) ในขนเป็นต้นก็นัยนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิดังกล่าวมา.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Dayjung
วันที่ 3 มี.ค. 2557

ขอขอบคุณ คุณ khampan และคุณ paderm นะคะ

ดิฉันอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่จะพยายามศึกษา ฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ