ในพระไตรปิฎก ทั้ง 45 เล่ม มีเล่มไหนที่อธิบายถึงเรื่องรูปกลาปไว้บ้างคะ
อาจารย์คะ ในพระไตรปิฎก ทั้ง 45 เล่ม มีเล่มไหนที่อธิบายถึงเรื่องรูปกลาปไว้บ้างคะ
ขอบคุณมากค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และพระธรรมทั้งหมดประมวลแล้วเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ที่พระองค์ทรงแสดงถึงรูปกลาป (กลุ่มของรูป) แต่ละกลุ่ม ก็เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด และ เมื่อแจกแจงแยกย่อยในรูปของแต่ละกลุ่มแล้ว ก็หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนไม่ได้ เช่น กลุ่มของจักขุปสาทรูป (กลุ่มของตา) มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป (จักขุทสกกลาป) คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตรูป และ จักขุปสาทะ เป็นรูปธรรมแต่ละหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย
สำหรับเรื่องรูปกลาป ในพระไตรปิฎก (ฉบับ ๙๑ เล่ม) พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ เล่มที่ ๗๖ ในส่วนของการจำแนกรูป ตั้งแต่หน้า ๑๙๑ เป็นต้นไป ก็มีรายละเอียดมาก
แต่ถ้าเป็นฉบับ ๔๕ เล่ม พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ จะอยู่ในเล่ม ๓๔ ตั้งแต่ หน้า ๑๖๙ เป็นต้นไป แสดงรูป โดยนัยประการต่างๆ ซึ่งมีแต่หัวข้อ ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากอรรถกถา
แต่อยากจะแนะนำให้อ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ในภาคผนวก จำแนกรูป ๒๘ ท่านอาจารย์ได้ประมวลรูปกลุ่มต่างๆ จากพระไตรปิฎก ให้ได้เข้าใจยิ่งขึ้น ดังนี้
รูป ๒๘ ประเภท
รูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ รูปเป็นสังขตธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้รูปเกิดขึ้น อุปาทายรูปอาศัยมหาภูตรูปจึงเกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่อุปาทายรูปและมหาภูตรูปจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องมีสมุฏฐาน คือธรรมที่ก่อตั้งให้รูปทั้งหมดนั้นเกิดขึ้น มิฉะนั้นรูปทั้งหมดก็เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย สมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป มี ๔ สมุฏฐาน คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑
รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า กัมมชรูป
รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า จิตตชรูป
รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อุตุชรูป
รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อาหารชรูป
กัมมชรูป
รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานโดยเฉพาะ ไม่เกิดจากสมุฏฐานอื่นเลย มี ๙ รูป คือ
๑. จักขุปสาทรูป
๒. โสตปสาทรูป
๓. ฆานปสาทรูป
๔. ชิวหาปสาทรูป
๕. กายปสาทรูป
๖. อิตถีภาวรูป
๗. ปุริสภาวรูป
๘. หทยรูป
๙. ชีวิตินทริยรูป
สิ่งใดก็ตามที่ดูเหมือนมีชีวิตแต่ไม่ได้เกิดจากอกุศลกรรม หรือ กุศลกรรมใดๆ เป็นสมุฏฐาน เช่น พืชพันธุ์ต่างๆ ไม่มีกัมมชรูปทั้ง ๙ รูปนี้เลย บางบุคคล กรรมไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาทรูปบ้าง โสตปสาทรูปบ้าง ฆานปสาทรูปบ้าง ชิวหาปสาทรูปบ้าง กายปสาทรูปบ้าง กายปสาทรูปบ้าง อิตถีภาวรูปบ้าง ปุริสภาวรูปบ้าง แต่เมื่อเป็นสัตว์บุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้ว ต้องมีหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต และมีชีวิตินทริยรูปที่เกิดร่วมกับกัมมชรูปอื่นๆ ในทุกๆ กัมมชกลาป สำหรับอสัญญสัตตาพรหมบุคคลซึ่งเป็นพรหมบุคคลที่มีแต่รูป ไม่มีนามธรรม คือ ระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหมนั้น จิต เจตสิกไม่เกิดเลย จึงมีกัมมชรูปเพียงกลาปเดียว คือ กลาปที่มีชีวิตินทริยรูปเท่านั้น (ไม่มีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป หทยรูป)
กัมมชรูป ๙ รูปนี้ เป็นอุปาทายรูป ฉะนั้น จึงต้องเกิดร่วมกับอวินิพโภครูป ๘ รูป ดังนี้ คือ
๑. จักขุทสกกลาป (กลุ่มของจักขุปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + จักขุปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป
๒. โสตทสกกลาป (กลุ่มของโสตปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + โสตปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป
๓. ฆานทสกกลาป (กลุ่มของฆานปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + ฆานปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป
๔. ชิวหาทสกกลาป (กลุ่มของชิวหาปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + ชิวหาปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป
๕. กายทสกกลาป (กลุ่มของกายปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + กายปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป
๖. อิตถีภาวทสกกลาป (กลุ่มของอิตถีภาวรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + อิตถีภาวรูป + ชีวิตินทริยรูป
๗. ปุริสภาวทสกกลาป (กลุ่มของปุริสภาวรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + ปุริสภาวรูป + ชีวิตินทริยรูป
๘. ทหยทสกกลาป (กลุ่มของหทยรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + หทยรูป + ชีวิตินทริยรูป
๙. ชีวิตนวกกลาป (กลุ่มของชีวิตรูปซึ่งมีรูปรวม ๙ รูป) คือ
อวินิพโภครูป ๘ + ชีวิตินทริยรูป
กัมมชกลาปเหล่านี้เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตตามควรแก่ภพภูมินั้นๆ และเกิดทุกอนุขณะของจิตทุกดวง คือ เกิดในอุปาทขณะ ฐีติขณะและภังคขณะของจิตดวงหนึ่งๆ และจะหยุดเกิดก่อนจุติจิต ๑๖ ขณะจิต ฉะนั้น กัมมชรูปทั้งหมดจึงดับพร้อมกับจุติจิต
กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นชลาพุชกำเนิด (เกิดในครรภ์) มี ๓ กลาป คือ หทยทสกกลาป กายทสกกลาป ภาวทสกกลาป เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป ชิวหาทสกกลาป ก็เกิดตามควรแก่กาลของกลาปนั้นๆ
ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นโอปปาติกกำเนิด (เกิดเป็นกายที่มีอวัยวะครบทันที) เช่น เทวดา เปรต อสุรกาย และผู้ที่เกิดในนรก มีกัมมชรูปครบทั้ง ๗ กลาปพร้อมกันทันทีในขณะที่ปฏิสนธิ คือ หทยทสกกลาป กายทสกกลาป ภาวทสกกลาป จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป ชิวหาทสกกลาป แต่ถ้ากรรมประเภทใดไม่เป็นปัจจัยให้รูปประเภทใดเกิด ก็เว้นรูปกลาป นั้นๆ ทั้งในปฏิสนธิกาล (ขณะปฏิสนธิจิตเกิด) และในปวัตติกาล คือ ขณะหลังปฏิสนธิ
ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิเป็นโอปปาติกกำเนิด มีกัมมชรูป ๔ กลาปเท่านั้น คือ หทยทสกกลาป จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป และชีวิตนวกกลาป เว้นฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ภาวรูป ซึ่งเป็นผลของการระงับความเพลิดเพลินยินดีในกามอารมณ์ด้วยกำลังของฌานจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล
ผู้ที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม คือ พรหมที่มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรมเลยนั้น มีกัมมชกลาป ๑ กลาป คือ ชีวิตนวกกลาป การเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมนั้นเป็นผลของปัญจมฌาน ที่คลายความยินดีในนามธรรม เพราะเห็นโทษของนามธรรมที่เป็นไปตามกิเลส จึงปรารถนาที่จะไม่มีนามธรรม เมื่อปัญจมฌานกุศลจิตไม่เสื่อมและปัญจมฌานกุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต ด้วยความหน่ายในนามธรรมจึงเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ มีอายุ ๕๐๐ กัปป์ เมื่อไม่มีนามธรรมเกิดเลย จึงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจุติ (ก่อนเป็นอสัญญสัตตาพรหม) ด้วยอิริยาบถใด รูปปฏิสนธิของอสัญญสัตตาพรหม ก็เป็นอิริยาบถนั้นจนกว่ารูปจะจุติ และกุศลกรรมหนึ่งจึงเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปเกิดในกามสุคติภูมิ วนเวียนเป็นกิเลส กรรม วิบากต่อไป ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
จิตตชรูป
รูปที่เกิดจากจิต เป็นสมุฏฐาน มี ๖ กลาป คือ
๑. สุทธัฏฐกกลาป เป็นกลาปที่มีแต่อวินิพโภครูป ๘ รูป เท่านั้น ไม่มีรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย
เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จิตตชรูปที่เป็นสุทธัฏฐกกลาปเกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของปฐมภวังคจิต และทุกอุปาทขณะของจิต เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้
จิตที่ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปมี ๑๖ ดวง คือ อรูปฌานวิบากจิต ๔ ดวง ปฏิสนธิจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ดวง รวม ๑๖ ดวง
อรูปฌานวิบากจิต ๔ ดวง ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปเลย เพราะเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเห็นโทษของรูปว่าเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่กิเลส จึงเจริญอรูปฌานกุศลซึ่งไม่มีรูปใดๆ เป็นอารมณ์เลย เมื่ออรูปฌานวิบากทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ จึงไม่เป็นปัจจัยให้รูปใดๆ เกิดเลยทั้งสิ้น
ปฏิสนธิจิตไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูป เพราะเป็นจิตขณะแรกในภพภูมิหนึ่ง จึงยังไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปได้
จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป เพราะเป็นจิตดวงสุดท้ายของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งสิ้นสภาพความเป็นปัจจัยที่ทำให้รูปเกิดได้
๒. กายวิญญัตินวกกลาป กลุ่มของกายวิญญัติรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + กายวิญญัติรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปแสดงความหมาย
๓. วจีวิญญัติสัทททสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วจีวิญญัติรูป ๑ + สัททรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่เป็นสมุฏฐานของเสียง คือวาจา
๔. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปเป็นไปในอิริยาบถต่างๆ
๕. กายวิญญัติลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ + กายวิญญัติรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปเป็นไปในอิริยาบถต่างๆ ที่แสดงความหมาย
๖. วจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๓ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ + วจีวิญญัติรูป ๑ + สัททรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้เกิดเสียงพิเศษ ที่ต้องอาศัยวิการรูปจึงจะเกิดเสียงนั้นๆ ที่ฐานของเสียงได้
จิตตชกลาป ทุกกลาปต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่เป็นสมุฏฐานให้จิตตชกลาปนั้นเกิด จิตตชกลาปจะไม่เกิดในฐีติขณะและภังคขณะของจิตเลย
อุตุชรูป
รูปที่เกิดจากอุตุ มี ๔ กลาป คือ
๑. สุทธัฏฐกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ รูปเท่านั้น ไม่มีรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย ในรูปที่มีใจครองนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้นในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะของปฏิสนธิจิต มีกัมมชรูปเกิด ตามที่ได้กล่าวแล้ว แต่ในฐีติขณะของปฏิสนธิจิตนั้นเอง อุตุ คือ ธาตุไฟในกัมมชกลาปที่เกิดนั้นก็เป็นสมุฏฐานให้อุตุชรูปที่เป็นสุทธัฏฐกกลาปเกิดขึ้น และอุตุชสุทธัฏฐกกลาปนี้จะเกิดขึ้นในฐีติขณะของรูปต่อๆ ไป
๒. สัททนวกกลาป กลุ่มของเสียงซึ่งมีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ
อวินิพโภครูป ๘ + สัททรูป ๑ ขณะใดที่รูปเสียงไม่ได้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานให้วจีวิญญัติรูปกระทบที่ฐานของเสียง ขณะนั้นเสียงเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เช่น เสียงรถยนต์ เสียงน้ำตก เป็นต้น
๓. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ
อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ อุตุย่อมเป็นสมุฏฐานหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปที่เบา รูปที่อ่อน รูปที่ควรแก่การงาน ถ้าอุตุไม่สม่ำเสมอก็เกิดโรค และกายส่วนใดไม่มีวิการรูป แม้จิตก็เป็นสมุฏฐานให้กายส่วนนั้นเคลื่อนไหวไปตามความต้องการไม่ได้
๔. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปและเสียงรวมกันทั้งสิ้น ๑๒ รูป คือ
อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ + สัททรูป ๑ ในขณะที่กลุ่มของวิการรูปนั้นมีเสียงเกิดร่วมด้วย เช่นดีดนิ้ว ปรบมือ เป็นต้น
อาหารชรูป
รูปที่เกิดจากโอชารูปในกพฬิงการาหาร คือ อาหารที่เป็นคำ ที่กลืนกินเข้าไปนั้นมี ๒ กลาป อาหารชกลาปนี้เกิดได้เฉพาะภายในร่างกายของสัตว์บุคคลเท่านั้น อาหารชกลาป ๒ กลาป คือ
๑. สุทธัฏฐกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วยเลย
๒. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ นอกจากจิตและอุตุจะเป็นสมุฏฐานให้เกิดวิการรูป ๓ แล้ว อาหารก็เป็นอีกสมุฏฐานหนึ่งที่ทำให้เกิดวิการรูป ๓ ถ้ามีเพียงวิการรูปที่เกิดจากอุตุเท่านั้น แต่ขาดอาหาร คือ แม้อากาศดีแต่ขาดอาหาร วิการรูปก็ไม่มีกำลังพอที่จะเคลื่อนไหว้ได้สะดวกรวดเร็ว
อาหารชรูป อาศัยการแผ่ซ่านของโอชาในอาหารที่กลืนเข้าไปนั้นเป็นสมุฏฐานเมื่อใด ก็เกิดขึ้นในฐีติขณะของโอชารูปซึ่งเป็นสมุฏฐานเมื่อนั้น
รวมรูปแต่ละรูปเกิดจากสมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่งใน ๔ สมุฏฐาน ดังนี้ คือ
อวินิพโภครูป ๘ เกิดได้จากสมุฏฐาน ๔ คือ
บางกลาปก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปก็มีอุตุเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปก็มีอาหารเป็นสมุฏฐาน
ปสาทรูป ๕ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น
ภาวรูป ๒ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น
หทยรูป ๑ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น
ชีวิตินทริยรูป ๑ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น
วิการรูป ๓ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ
บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน
วิญญัติรูป ๒ เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น
สัททรูป ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๒ คือ
บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
ปริจเฉทรูป ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ
เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน
เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน
ลักขณรูป ๔ ไม่เกิดจากสมุฏฐานใดเลย เพราะเป็นเพียงลักษณะอาการของสภาวรูป ๑๘ รูป
รูป ๒๘ รูป จำแนกได้หลายนัย ดังนี้ คือ
สภาวรูป ๑๘ คือรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน ได้แก่อวินิพโภครูป ๘ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑ สัททรูป ๑ รวม ๑๘ รูป
อสภาวรูป ๑๐ คือรูปที่ไม่มีลักษณะเฉพาะอีกต่างหาก ได้แก่ วิการรูป ๓ วิญญัติรูป ๒ ปริจเฉทรูป ๑ ลักขณรูป ๔
อัชฌัตติกรูป ๕ คือ รูปภายใน ได้แก่ปสาทรูป ๕
พาหิรรูป ๒๓ คือรูปภายนอก ได้แก่รูปที่เหลือ ๒๓ รูป
วัตถุรูป ๖ คือรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ได้แก่ปสาทรูป ๕ หทยรูป ๑
อวัตถุรูป ๒๒ ได้แก่รูปที่เหลือ ๒๒
ทวารรูป ๗ คือรูปที่เป็นทางรับอารมณ์ ได้แก่ปสาทรูป ๕ และเป็นทางของกายกรรมและวจีกรรม คือ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑
อทวารรูป ๒๑ ได้แก่รูปที่เหลือ ๒๑ รูป
อินทริยรูป ๘ คือรูปที่เป็นใหญ่ในกิจการงานเฉพาะของตน ๘ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ ชีวิตินทริยรูป ๑
อนินทริยรูป ๒๐ ได้แก่รูปที่เหลือ ๒๐ รูป
โอฬาริกรูป ๑๒ คือรูปหยาบ ๑๒ รูป ได้แก่วิสยรูป ๗ (รูปที่เป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) ปสาทรูป ๕
สุขุมรูป ๑๖ คือรูปละเอียด ได้แก่รูปที่เหลือ ๑๖ รูป
สันติเกรูป ๑๒ คือรูปใกล้ (ต่อการพิจารณารู้ได้) ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗
ทูเรรูป ๑๖ คือรูปไกล (ยากต่อการพิจารณาแทงตลอด) ได้แก่รูปที่เหลือ ๑๖ รูป
สัปปฏิฆรูป ๑๒ คือรูปที่กระทบได้ ได้แก่ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗
อัปปฏิฆรูป ๑๖ คือรูปที่กระทบไม่ได้ ได้แก่รูปที่เหลือ ๑๖ รูป
โคจรัคคาหิกรูป ๕ คือรูปที่กระทบอารมณ์ได้ ได้แก่ ปสาทรูป ๕
อโคจรัคคาหิกรูป ๒๓ คือรูปที่กระทบอารมณ์ไม่ได้ ได้แก่รูปที่เหลือ ๒๓ รูป
อวินิพโภครูป ๘ คือรูปที่แยกกันไม่ได้ ๘ รูป
วินิพโภครูป ๒๐ คือรูปที่แยกกันได้ ได้แก่รูป ๒๐ รูป.
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์
เรื่องรูป และ การพิจารณารูปอย่างไร
มีประโยชน์และละเอียดลึกซึ้งมาก ครับ
รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ แล้วจะมีความสำคัญอย่างไรเล่า ในชีวิตแต่ละขณะมีความเกี่ยวข้องกับรูปอย่างไรบ้าง ในการสนทนาธรรมที่เชียงใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงรูปและความสำคัญของรูปไว้อย่างชัดเจนมาก จึงได้นำคลิปนี้มาฝากให้ฟังและพิจารณา เพื่อความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่เป็นรูป
มีคำถามที่มีคนถามว่า แล้วทำไมต้องพูดเรื่องรูป มีความสำคัญอะไร
รูป หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งปรากฏให้เห็นได้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริงๆ แต่สิ่งนั้นไม่รู้อะไรเลย เพียงมีจริง ปรากฏเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่ก็คือรูปๆ หนึ่ง
เสียงก็มีจริง เกิดปรากฏเมื่อจิตได้ยินเกิดก็ปรากฏเสียง แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็มีรูป ไม่ใช่มีแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธาตุหรือนามธรรม แต่แม้สิ่งใดที่มีจริง เช่น รูป ก็สมควรจะรู้ เพราะว่าเราติดข้องในรูปหรือเปล่า ด้วยความไม่รู้ว่า เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏแล้วหมดค่ะ เมื่อวานนี้เห็นอะไร เมื่อกี้นี้เห็นอะไร ตามความเป็นจริงก็คือ สิ่งนั้นเกิดกระทบจักขุปสาท คือ ตา แล้วก็มีจิตเห็นเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
นี่คือธรรม ที่ต้องพิจารณาจนเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นความจริงอย่างนี้ และความเข้าใจสิ่งนี้ในวันนี้ ก็คือตามที่ได้ฟัง และอบรมไปเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าคลายความติดข้อง เพราะเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีรูปที่ตัวแน่ๆ ที่เราบอกว่า “ร่างกาย" แต่ถ้าจะกระทบสัมผัสดู ก็จะเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ไม่ว่าจะกระทบวันไหน เมื่อไร เวลาใด จะมืดหรือสว่าง เวลากระทบกายที่เป็นรูป ก็เป็นสิ่งที่เพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นธาตุซึ่งมีจริง ไม่ใช่แต่ที่ร่างกาย ที่อื่นก็มีธาตุชนิดนี้ แต่เวลาที่ธาตุชนิดนี้เกิดที่เราเรียกว่า เป็นรูปร่างกาย ก็เหมือนกับว่าเป็นร่างกายของเรา แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ เพื่อที่จะรู้ความจริง ก็คือว่า รูปทุกรูปเกิดแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ เวลานี้รูปใดปรากฏคะ มีหรือเปล่าคะที่กาย มีรูปใดปรากฏไหมคะ ถ้ามี เพราะรูปนั้นเกิดแล้วก็ดับ แล้วรูปอื่นที่ว่าเป็นกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทำไมไม่มี ในขณะที่เพียงแข็งปรากฏ ตับ ปอด หัวใจ แขน ขา ศีรษะ มือ เท้า ก็ไม่ได้ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงก็คือ เฉพาะรูปใดที่ปรากฏ แสดงว่ารูปนั้นมีลักษณะอย่างนั้นเกิดขึ้น แล้วก็รู้ว่าเพียงเท่านั้นเอง ที่เคยเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็ชั่วขณะที่รูปนั้นปรากฏว่ามีจริงๆ แล้วก็ดับไป
ความลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า รูปที่เราเห็นว่า ใหญ่โต เป็นแขนบ้าง เป็นขาบ้าง ก็คือหลายๆ รูปประชุมรวมกัน ไม่ใช่รูปเดียวเลย เพราะว่ารูปเดียวสามารถจะรู้ว่า เล็กแค่ไหน โดยที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ เพราะฉะนั้นแต่ละรูป แต่ละกลุ่ม แต่ละกลาป ในภาษาบาลี ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แล้วก็กำลังทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ โดยไม่มีใครรู้เลยทั้งสิ้น
นี่คือจำเป็นต้องกล่าวเรื่องรูป เพื่อให้เห็นความจริงซึ่งไม่ใช่สาระ เพราะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่รูปก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น จิตไม่ได้เกิดนอกรูปเลย ถ้ารูปนี้ไม่มีจิต ลองคิดดูค่ะ ทุกคนรู้สภาพของรูปซึ่งไม่มีจิต ใช่ไหมคะ เมื่อตายแล้ว รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ เป็นรูปจริงๆ เหมือนยังไม่ตาย รูปจริงๆ ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย ถ้าไม่มีจิตที่เป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเคลื่อนไหว
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างละเอียด ชั่วขณะที่แสนสั้น เพราะไม่รู้ความจริงว่า แม้แต่ ๑ รูป กลาปเดียวนั้นก็เป็นที่เกิดของจิต เช่น เห็นขณะนี้ก็ต้องมีรูปที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา เล็กแค่ไหน แต่ก็ยังเป็นที่เกิดของจิตเห็น
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักรูปธรรม ไม่รู้จักนามธรรม จนกว่าจะได้ฟังความละเอียดยิ่ง ค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก
พิจารณารูปนามอย่างไร
ถาม ผมยังใหม่ๆ ขอให้ท่านอาจารย์การพิจารณาสภาพนามธรรมและรูปธรรม
สุ. ฟังเข้าใจก่อน แล้วก็มั่นคงต่อการที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ คือ คิด จำ สุข ทุกข์ พวกนี้ แต่รูปไม่สามารถรู้สึก ไม่สามารถเห็น ไม่สามารถจำ ไม่สามารถหิวเลยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นบางคน เขาก็จะถามตัวเขาว่า หิว เป็นรูปหรือนาม ทั้งๆ ที่ลักษณะของนามก็คือสภาพรู้ หรือรู้สึก ส่วนรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็ยังสงสัย แล้วหิว เป็นนามหรือรูป
ผู้ถาม นามครับ
สุ. ถ้าเข้าใจถูกก็ตอบได้ รูปไม่หิวเลย รูปไม่มีทางจะหิวได้ รูปไม่สามารถจะรู้สึกอะไรได้เลย
ถ้าจะค่อยๆ พิจารณาธรรม คือ สิ่งที่กำลังมี แล้วเกิดระลึกพิจารณา นี่ก็คือใคร ห้ามไม่ได้ที่จะคิดอย่างนี้ เพราะไม่มีปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่ความเข้าใจธรรม การตรึกถึงธรรม การฟังธรรม การสนทนาธรรมจะทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อมีสัญญาความจำที่มั่นคง คือ ความเข้าใจ สัญญาที่นี่ต้องหมายความว่า เกิดร่วมกับปัญญา ความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มั่นคงขึ้น สติปัฏฐานก็ระลึก ซึ่งจริงๆ สติปัฏฐานไม่ได้ลำบากยากเลย มีแข็งปรากฏ ไม่เคยรู้ตรงแข็ง ก็รู้ตรงแข็ง ซึ่งความจริงแข็งตรงนั้น รู้แล้ว เพราะว่ากายวิญญาณรู้แล้ว แต่ไม่ใช่สติที่ระลึกที่จะศึกษา ที่จะรู้ ที่จะค่อยๆ เข้าใจตรงนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่แข็ง อย่างที่ทุกคนกำลังแข็งเดี๋ยวนี้ ผู้ที่ฟังและมีปัจจัยพอก็รู้ตรงแข็ง ทั้งๆ ที่แข็งมีปรากฏต้องมีกายวิญญาณแล้ว ไม่ต้องไปนั่งเทียบเคียงว่า ต้องมีกายวิญญาณก่อน และสติระลึกตรงแข็ง เพราะว่าแข็งเขามีเป็นปกติ ทุกคนก็รู้แข็ง แต่ขณะที่กำลังใส่ใจ สนใจ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นมีรู้แข็งไหมคะ
ผู้ถาม มีครับ
สุ. เพราะฉะนั้นลักษณะรู้ คือ เพียงขณะที่กำลังรู้นั่นแหละ คือ นามธรรม เป็นจิตหรือเจตสิก
ผู้ถาม รู้แข็งเป็นจิตครับ
สุ. มีเจตสิกร่วมด้วยไหมคะ
ผู้ถาม มีครับ
สุ. ก็มีทั้ง ๒ อย่าง
กว่าจะค่อยๆ เข้าใจอย่างคร่าวๆ ก็เป็นความละเอียดขึ้นๆ แต่ก็เป็นชีวิตธรรมดาตามปกติ อย่างที่คุณกุลถามทุกอิริยาบถ เดี๋ยวนี้เอง เมื่อไรก็เมื่อนั้น จะมีใครรู้ล่วงหน้าไหมว่า สติปัฏฐานจะเกิด ไม่มีทาง มีใครรู้ไหมคะว่า จะได้ยินเสียง มีใครรู้ไหมคะว่าจะคิดอะไร
เพราะฉะนั้นแม้แต่คิดของแต่ละคน ก็ตามการสะสม มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น
อนุโมทนา ครับ