วิบากเจตสิก
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายเกี่ยวกับ "วิบากเจตสิก" ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิบาก คือ จิต เจตสิกที่เป็นผลของกรรม คือ ในขณะที่เกิด คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และขณะที่ตาย คือ จุติจิต เป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรม และในชีวิตประจำวัน ที่เป็นวิบาก คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบาก
ส่วน ความคิด ไม่ใช่วิบาก ความคิด คือ ขณะที่เป็น กุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุ เช่น ขณะที่คิดชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่วิบากที่เป็นผลของกรรม
วิบาก จึง หมายถึง วิบากจิต ๓๖ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นผลของกรรม คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น วิบาก จึงหมายถึง จิต และ เจตสิกด้วย ที่เป็นผลของกรรม
เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท
ดังนั้น ตามสัจจะ ความจริง เมื่อจิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก จิตเป็นจิตประเภทใด เจตสิกก็เป็นประเภทนั้น ชาตินั้นด้วย เช่น จิตเห็น เป็นวิบากจิต ก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เช่น ผัสสะ สัญญา เป็นต้น เจตสิกนั้น ก็เป็นชาติเดียวกับ จิตนั้น คือ เป็นชาติวิบากด้วย เรียกว่า วิบากเจตสิก เพราะฉะนั้น วิบากเจตสิก จึงเป็น เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตประเภทวิบากที่เป็นผลของกรรม ตัวเจตสิกนั้น จึงเป็นชาติวิบาก ที่เรียกว่า วิบากเจตสิก ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ
วิบากจิต - วิบากเจตสิก - วิปากปัจจัย - บ้านธัมมะ
เชิญอ่านคำบรรยายเพิ่มเติมในประเด็นนี้จากท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้ ครับ
ถาม ปฏิสนธิจิตเป็นวิปากปัจจัยหรือเปล่าคะ?
ปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นวิปากปัจจัยแน่นอนค่ะ
ถาม เป็นวิปากปัจจัยแก่อะไร?
เป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน และรูปซึ่งเกิดพร้อมกัน ในขณะนั้น อย่าลืมนะคะ วิปากปัจจัยต้องเป็นนามธรรมคือ จิตและเจตสิกที่เป็นวิปากปัจจัย เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะนานักขณิกกัมมปัจจัยเป็นปัจจัย นานักขณิกกัมมปัจจัยทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน จิตและเจตสิกเป็นวิบาก จะใช้คำว่าวิบากจิต วิบากเจตสิกก็ได้ เพราะเหตุว่า เมื่อจิตเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นกุศลและอกุศลไม่ได้ วิบากเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมวิบากจิตก็เกิด เพราะกรรมเป็นปัจจัย คือ นานักขณิกกัมมปัจจัยเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น เมื่อทั้งจิตและเจตสิกเป็นวิปากปัจจัย อาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยต่างเป็นวิบากด้วยกัน วิบากจิตก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน และวิบากเจตสิกก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากจิตซึ่งเกิดร่วมกัน
ก็เป็นชีวิตของทุกคนในแต่ละวัน ในแต่ละขณะ กำลังได้ยินเสียงเป็นวิบากจิต เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเมื่อกี้นี้พร้อมกันแล้วก็ดับไป และวิบากเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับวิบากจิต ก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากจิตที่ได้ยินเสียง แล้วก็ดับไป แล้วทั้ง ๒ คือ ทั้งจิตและเจตสิกต้องเป็นวิบาก
ขออนุโมทนา
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับวิบากจิตจะเป็นวิบากเจตสิกทั้ง 7 เลยหรือเปล่าครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
ถูกต้องครับ เจตสิก ที่เกิดร่วมกับ วิบากจิต ทุกเจตสิก ต้องเป็นวิบากเจตสิกทั้งหมด ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น จะไม่ได้มีเฉพาะจิตเท่านั้นก็ต้องมีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ จิตมี ๔ ชาติ คือ คือ กุศล อกุศล วิบาก และ กิริยา เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ก็ย่อมเป็นชาติเดียวกันกับจิตในขณะนั้นทั้งหมด ยกตัวอย่าง เช่น จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เป็นจิตชาติวิบาก (วิบากจิต) เจตสิก ๗ ประเภท คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ กล่าวได้ว่าเป็นวิบากเจตสิกทั้งหมด เพราะเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก นั่นเอง เป็นธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
แล้วเจตนาที่เกิดกับวิบากจิตจะเป็นกัมมปัจจัยต่อไปในอนาคตหรือไม่อย่างไรครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 5 ครับ
เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับ จิตชาติวิบาก ไม่ทำให้เกิดผล คือ เป็นเพียง กัมมปัจจัย ที่เรียกว่า สหชาตกัมมปัจจัย ครับ แต่เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับ จิตที่เป็นอกุศลกรรม กุศลกรรม จึงจะทำให้เกิดให้ผล เกิดวิบากต่อไปได้ในอนาคต ครับ เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิก ที่จะทำให้เกิดผล จะต้องพิจารณาที่ประเภทของจิตที่เกิดด้วย ครับ
ขออนุโมทนา
เรียนความคิดเห็นที่ ๕ ครับ
เจตนาที่เกิดร่วมกับวิบากจิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จะไม่ให้ผลต่อไปในภายหน้า แต่เจตนา ที่จะให้ผลในภายหน้าตามควร ก็ต้องเป็นเจตนาที่เกิดกับกุศล และอกุศล ที่กระทำสำเร็จแล้ว และเมื่อใดที่ผล คือ วิบาก เกิดขึ้น เมื่อนั้น เจตนา คือ กรรม ที่ได้กระทำแล้ว จึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย คือ เป็นปัจจัย โดยความเป็นกรรมที่ให้ผลต่างขณะกัน ซึ่งทำให้มีผลที่เกิดขึ้น เป็น วิบาก ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...