อยากสอบถามศีลข้อมุสา แค่ห้ามพูดโกหกอย่างเดียวใช่ไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ศีลข้อมุสา มุ่งหมายถึง การพูดโกหก เท่านั้น ครับ ไม่ได้หมายรวม การพูดคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ แต่ถ้าพูดถึงวจีทุจริต 4 ประการ รวมสี่ข้อ คือ
-การพูดโกหก
-พูดคำหยาบ
-พูดส่อเสียด
-พูดเพ้อเจ้อ
ซึ่งขอเพิ่มเติม วาจาที่ดี ที่ควรพูด ในชีวิตประจำวัน ดังนี้
วาจามีได้เพราะอาศัย จิตและเจตสิก หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิตและเจตสิก แล้ว วาจา คำพูดก็มีไม่ได้ ซึ่งจิตก็มีทั้ง กุศล และ อกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล การกระทำทางกายและวาจาก็ย่อมน้อมเป็นไปในทางที่ดี วาจาที่พูดย่อมไม่พูดเท็จ ย่อมไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ว่าจาที่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายครับ ดังนั้น วาจาจะบริสุทธิ์หรือไม่ ก็มีเหตุ คือ จิตนั้นบริสุทธื์ก่อน คือจิตบริสุทธื์เพราะปราศจากเครื่องเศร้าหมอง คือ ปราศจากกิเลสในขณะนั้นครับ เป็นกุศลจิตนั่นเองครับ วาจาที่พูดก็ย่อมบริสุทธิ์ด้วยครับ แต่หากว่า จิตไม่บริสุทธิ์ คือ จิตเป็นอกุศล วาจาที่พูดก็ไม่บริสุทธิ์ ย่อมพูดเท็จ พูดคำหยาบ ส่อเสียดและเพ้อเจ้อด้วยจิตที่ไม่บริสุทธิ์
ความบริสุทธิ์ของวาจาจึงมีหลายขั้น หลายระดับ ตามระดับของจิตและปัญญาครับ ซึ่งเพียงขั้นต้น ก็อาจเพียงงดเว้นวาจาที่ไม่ดี แต่เมื่อเห็นประโยชน์และมีปัญญาเจริญมากขึ้น ก็ไม่แต่เพียงงดเว้นวาจาที่ไม่ดีนั้น แต่ก็พูดวาจาที่ดีด้วย คือ พูดจริง พูดไม่ส่อเสียด ไม่หยาบ ไม่เพ้อเจ้อ และเมื่อปัญญามีกำลังมากขึ้น วาจาที่พูดก็ย่อมเป็นไปในการสละ ขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ ด้วย วาจาที่พูดถึงในเรื่อง กถาวัตถุ 10 ประการ คือ
1. วาจาที่พูดในเรื่อง มักน้อย
2. วาจาที่พูดในเรื่องสันโดษ
3. วาจาที่พุดในเรื่องความสงัด
4. วาจาที่พูดในเรื่องความไม่คลุกคลี
5. วาจาที่พูดในเรื่องปรารภความเพียรในกุศล
6. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่องศีล
7. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่อง สมาธิ
8. วาจาที่พูดเป็นไปในเรื่องปัญญา
9. วาจาที่พูดในเรื่องความหลุดพ้น
10. วาจาที่พูดในเรื่องการพิจารณาถึงกิเลสที่ได้หลุดพ้นแล้ว
10 ประการนี้ เป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ เป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งที่เป็น กถาวัตถุ 10 ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า วาจาที่ประเสริฐสูงสุด คือ วาจาที่กล่าวธรรม แสดงอมตะธรรม คือ แสดงหนทางดับกิเลสและพระนิพพาน เช่น วาจาที่กล่าวในเรื่อง สติปัฏฐาน เป็นต้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน เรามักพูดเป็นไปในเรื่องใดมาก ก็แสดงถึงการสะสมกำลังของกิเลสที่แสดงออกมามากในวาจานั้น ผู้ที่ศึกษาธรรม จึงค่อยๆ พิจารณา วาจาของตนที่จะพูดเป็นไปเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์และขัดเกลามากขึ้น อันเป็นไปเพื่อสละกิเลสทุกๆ ประการ แม้แต่วาจาที่พูดกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะค่อยๆ ขัดเกลาได้ ก็เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ด้วยการศึกษาพระธรรมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นที่จะต้องมีการพูด สนทนากับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ สำหรับเรื่องการพูด ก็มีทั้ง การพูดที่เป็นวจีสุจริต กับ การพูดที่เป็นวจีทุจริต ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องของกุศลธรรม กับ อกุศลธรรม ถ้าเว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นวจีสุจริต ในทางตรงกันข้าม ถ้าพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นวจีทุจริต สำหรับ ศีล ข้อมุสาวาท ก็มุ่งหมายถึง การพูดเท็จ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เท่านั้น เป็นสิ่งที่ควรเว้น แต่ก็น่าพิจารณาต่อไปว่า เรื่องของศีล ไม่ใช่เป็นเรื่องห้าม หรือ บังคับ เพราะห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ธรรมเป็นอนัตตา แต่ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามความเป็นจริง อกุศลเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ควรเว้น กุศล เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรสะสมในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของกุศลมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น คำพูด ที่ควรเว้น ไม่ใช่เฉพาะพูดเท็จ เท่านั้น คำพูดที่ไม่ดีอันเกิดจากอกุศลจิต ทั้งหมด เป็นคำที่ไม่ควรพูด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพูดเหน็บแนม กระทบกระเทียบคนอื่นให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ คำพูดเลียบเคียงแสดงถึงอยากได้สิ่งของจากผู้อื่น คำพูดส่อเสียดมุ่งให้คนอื่นแตกกัน คำพูดหยาบคาย และคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดทั้งนั้น
ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามในชีวิตประจำวัน เพราะความดีงามทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาและน้อมประพฤติตามอย่างแท้จริง ครับ
…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...