อินทรีย์แก่กล้า

 
kajeerat
วันที่  13 มี.ค. 2557
หมายเลข  24576
อ่าน  7,226

ฟังพื้นฐานพระอภิธรรมแผ่นที่ 4 ได้ยินท่านอาจารย์บรรยาย ว่าเวทนาทั้ง 5 คือ อินทรีย์,

ขอความกรุณาท่านอาจารย์ทุกท่านในเรื่องของ "อินทรีย์แก่กล้า"

ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อินทรีย์ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในกิจของตนๆ มีสภาพธรรมหลากหลายที่เป็นอินทรีย์ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม รวมแล้ว มีทั้งหมด ๒๒ อินทรีย์ เป็นรูป ๗ รูป เป็นนาม ๑๔ (คือ สองเท่าของรูป) และ อีก ๑ เป็นทั้งรูปทั้งนาม คือชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยรูป,ชีวิตินทริยเจติก) อินทรีย์ ๒๒ มีดังนี้

จักขุนทรีย์ (ตา) โสตินทรีย์ (หู) ฆานินทรีย์ (จมูก) ชิวหินทรีย์ (ลิ้น) กายินทรีย์ (กาย) อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง) ปริสินทรีย์ (ความเป็นชาย) ชีวิตินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ มนินทรีย์ (จิต) สัทธินทรีย์ (ศรัทธา) วิริยินทรีย์ (วิริยะ) สตินทรีย์ (สติ) สมาธินทรีย์ (สมาธิ) ปัญญินทรีย์ (ปัญญา)

อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิต)

อัญญินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติผลจิต ถึง อรหัตตมัคคจิต)

อัญญาตาวินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิต)

----------------------------

เวทนา ๕ ก็เป็นอินทรีย์ด้วย คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย (สุขินทรีย์) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขินทรีย์) ความรู้สึกที่เป็นสุขใจ (โสมนัสสินทรีย์) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ (โทมนัสสินทรีย์) และ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์คือ เฉยๆ (อุเปกขินทรีย์) ทั้ง ๕ นี้ เป็นใหญ่ เช่น ในขณะที่รู้สึกเจ็บทางกาย เจ็บจริงๆ เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน โดยที่สภาพธรรมอย่างอื่นจะมาทำกิจหน้าที่นี้ไม่ได้

ส่วนประเด็น อินทรีย์แก่กล้า หมายความว่า อินทรีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นธรรมฝ่ายโพธิปักขิยธรรม คือธรรมฝ่ายตรัสรู้อริยสัจจธรรม ได้รับการสะสม อบรม จนควรแก่การตรัสรู้อริยสัจจธรรม ดังนั้นผู้ที่เกิดมาชาติสุดท้ายพร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมเมื่อได้รับฟังพระธรรมของพระพุทธองค์ ชื่อว่า เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า

กว่าจะถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าได้นั้น ก็ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การไดัฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งแสดงถึงสิ่งที่มีจริง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุก ๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอให้เรียนให้ทราบในเรื่องของความหมายของอินทรีย์ซึ่งมีหลายนัยก่อนครับ

♢ อินทรีย์ หมายถึงความเป็นใหญ่ในสภาพธรรมนั้น

♢ อินทรีย์ หมายถึงครอบงำซึ่งสภาพธรรมอื่น

♢ อินทรีย์ หมายถึงความเป็นใหญ่อันทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยคล้อยตามไป

♢ อินทรีย์ หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือ พระพุทธเจ้าเสพแล้วด้วยความเป็นอารมณ์

♢ อินทรีย์ หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือ พระพุทธเจ้ารู้แจ้งแล้ว

♢ อินทรีย์ หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือ พระพุทธเจ้าทำให้เจริญแล้ว

ถ้าพูดถึงหนทางการเจริญอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส อันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือ อินทรีย์ 5 ที่เป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม และเป็นธรรมที่จะถึงการตรัสรู้ได้ แต่ในความละเอียดของธรรมแล้ว การจะถึงความเป็นอินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 แต่ละสภาพธรรม เช่น สัทธินทรีย์ ก็จะต้องมีปัญญาด้วย และเป็นศรัทธาที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่ไม่ใช่เพียงศรัทธาขั้นนึกคิด เช่น ศรัทธาเชื่อพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระธรรม เป็นต้น แต่ที่สำคัญศรัทธา จะต้องเป็นศรัทธาที่เกิดพร้อมปัญญา ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีศรัทธาที่ถึงพร้อมกับปัญญา จึงเป็นอินทรีย์ เป็นสัทธินทรีย์ในขณะนั้น ครับ โดยนัยเดียวกัน วิริยะ ความเพียร ไม่ใช่เพียร เดิน เพียรนั่งสมาธิ แต่เป็นความเพียร วิริยเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอินทรีย์ ที่เป็น วิริยินทรีย์ ในขณะนั้นครับ สติ ที่เป็นสตินทรีย์ ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริง สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น สติเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์ เพราะมีปัญญาระดับสูงเกิดร่วมด้วย ส่วนสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก ที่มีลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งความตั้งมั่น สมาธิ ไม่ได้หมายถึง การนั่งสมาธิ จะเป็นการอบรมสมาธินทรีย์ แต่เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น มีความตั้งมั่นชั่วขณะแล้ว ที่เป็น ขณิกสมาธิ แต่ สมาธินี้ เป็นสมาธินทรีย์เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม

ส่วนปัญญา ที่จะเป็นปัญญินทรีย์ ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาที่เชื่อกรรม และผลของกรรม แต่จะต้องเป็นปัญญาที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงจะเป็นใหญ่ ที่กำลังรู้ความจริง เพราะเป็นปัญญาที่เป็นหนทางการละกิเลสได้จริงๆ ครับ

ซึ่งเราก็จะได้ยินคำว่า อินทรีย์แก่กล้า พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรม กับผู้ที่อินทรีย์แก่กล้าแล้ว บรรลุธรรมเมื่อได้ฟังพระธรรม คำว่า อินทรีย์ หมายถึง สัทธินทรีย์ (ศรัทธา) สตินทรีย์ (สติ) วิริยินทรีย์ (วิริยะ) สมาธินทรีย์ (สมาธิ) ปัญญินทรีย์ (ปัญญา) คือ อบรมคุณธรรม คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามามากแล้วในอดีต จนมีอินทรีย์แก่กล้า ปัญญาแก่กล้าพร้อมที่จะบรรลุในชาตินั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมจึงบรรลุครับ ดังนั้นทุกอย่าง ไม่ว่าสิ่งใดจะต้องมีเหตุ การบรรลุธรรมเพียงได้ฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียวก็มีเหตุ ตามที่กล่าวมา คืออบรมปัญญา อบรมอินทรีย์และคุณธรรมต่างๆ มาอย่างยาวนาน ถ้าไม่ได้อบรมอินทรีย์ มีปัญญา เป็นต้น มาเลย จะไม่สามารถบรรลุได้เลย แต่เพราะอบรมมาอย่างยาวนาน แสนกัปบ้าง จนชาติสุดท้ายจึงบรรลุได้รวดเร็วครับ เพราะน้ำจะเต็มตุ่มแล้วนั่นเอง น้ำเต็มตุ่มจึงเปรียบเหมือนการบรรลุธรรม ปริมาณน้ำ เปรียบเหมือนปริมาณปัญญา น้ำเพียงก้นตุ่มเปรียบเหมือนปัญญาที่เพิ่งเริ่มสะสมในอดีตชาติอันแสนนานครับ

พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านก็เริ่มจากความไม่รู้และค่อยๆ รู้ขึ้น ก็ด้วยอาศัยการฟังพระธรรมอย่างยาวนาน จนในที่สุดท่านก็บรรลุได้ ความเข้าใจทีละน้อยจึงประเสริฐและเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรม สำคัญคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป เพราะเป็นเรื่อง จิรกาลภาวนา การอบรมปัญญาอย่างยาวนานครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 13 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kajeerat
วันที่ 13 มี.ค. 2557

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 13 มี.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 14 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ