เสียงสูงต่ำเป็นจิตหรือสัญญาเจตสิกที่รู้ครับ

 
papon
วันที่  16 มี.ค. 2557
หมายเลข  24585
อ่าน  1,032

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"เสียงสูงต่ำเป็นจิตหรือสัญญาเจตสิกที่รู้ครับ" ขอความละเอียดด้วยครับ

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัททรูป คือ รูปเสียง หมายถึง สิ่งที่สามารถปรากฏได้ทางหู ซึ่งมีลักษณะที่ดัง และกระทบกับโสตปสาท จะเป็นความดังค่อย ดังแรง ดังแหลม ดังทุ้มอย่างไร ก็เป็นเพียงความดังที่ปรากฏได้ทางหูในขณะปัจจุบันเท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นความหมายที่รู้จากเสียงนั้นจึงไม่ใช่เสียง แต่เป็นบัญญัติซึ่งจิตทางมโนทวารคิดตาม หลังจากที่จิตได้ยินเสียงทางหูดับไปแล้ว

เสียง เป็น รูปธรรม ไม่ใช่ จิต เจตสิก เพราะจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ครับ เสียงไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ครับ

ส่วนเสียงที่เกิดขึ้น หากมีการรู้เสียง ก็มีสภาพธรรม ที่มีจิต เจตสิก ที่รู้เสียงในขณะนั้น ซึ่งสัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่จำ ซึ่งสัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นสัญญาเจตสิก จึงจำเสียงในขณะนั้นด้วย และรู้เสียงด้วย สรุปได้ว่า จิต เจตสิก รวมทั้งสัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีเสียงเป็นอารมณ์ หรือ รู้เสียงในขณะนั้นได้ ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ประโยชน์ที่สุดของพระธรรม ซึ่งเป็นสัจจธรรม คือ ทุกท่านสามารถจะพิสูจน์ได้ทันที ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใส่ใจว่าเป็นสีต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นสีต่างๆ เหมือนเสียง เสียงก็มีเสียงต่างๆ เสียงสูงก็มี เสียงต่ำก็มี เสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงทุ้ม เสียงพร่า เสียงแหบ มีหลายๆ เสียง เราจะเปลี่ยนลักษณะสภาพของเสียงนั้นไม่ได้เลย ถ้าเป็นเสียงสูง ลักษณะของเสียงสูงนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นสูง ถ้าเป็นเสียงต่ำ เสียงต่ำนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นต่ำ เราก็เปลี่ยนปัจจัยและเปลี่ยนเสียงนั้นไม่ได้ แต่ลักษณะของเสียงก็คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับโสตปสาทรูป ชั่วขณะที่แสนสั้นทั้ง ๒ อย่าง คือ โสตปสาทรูปและเสียง ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณ คือ จิตได้ยินในขณะนี้ที่กำลังได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใส่ใจในเสียงว่าสูงหรือต่ำฉันใด เพราะเหตุว่ากำลังเข้าใจว่า ลักษณะของเสียง เช่นในขณะนี้ จะเป็นเสียงสูงเสียงต่ำอะไรไม่สนใจ แต่สนใจรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หมดแล้ว สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วก็ดับ ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่

----------------------------------------------------

ท่านอ.สุจินต์..ก่อนที่คุณมธุรสจะมาเมืองนี้ ไม่มีคำว่า “โครักขปูร์” ใช่ไหมคะ แต่ที่คุณมธุรสจะคิดในใจว่า โครักขปูร์ ต้องได้ยินคำนี้ แล้วก็จำเสียงของคำนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิดนึกเป็นคำต่างๆ เพราะสัญญาเจตสิกจำเสียง แล้วขณะนั้นจิตนึกถึงเสียง ขณะนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งหมดที่เป็นเรื่อง ขณะนั้นต้องเป็นความจำเสียง ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตได้หมด ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ แล้วสภาพที่ไม่ใช่ ปรมัตถธรรม คือ บัญญัติเรื่องราวต่างๆ จิตสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จิตรู้รูปก็ได้ รู้เจตสิกก็ได้ รู้จิตก็ได้ รู้นิพพานก็ได้ รู้สมมติบัญญัติก็ได้ ที่คิดเป็นเรื่องคือ สัญญาจำเสียง แต่ถ้าไม่คิดเป็นเรื่อง เราก็จำสี จำกลิ่น จำรส แล้วก็คิดถึงได้เหมือนกัน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่สำคัญคือความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า รูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เกิดตามสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และรูปก็มีมากมายหลายรูป แต่ละหนึ่ง ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน เสียง ก็เป็นหนึ่งในบรรดารูปทั้งหลาย จะได้ยินเสียงได้ ก็ต้องมีหูหรือโสตปสาทะ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ได้ยิน เป็นจิต ส่วนสิ่งที่ถูกได้ยิน เป็นเสียง ในขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีเฉพาะจิตได้ยินเท่านั้น ก็ยังมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) เจตนา (ความจงใจขวนขวาย) สัญญา (ความจำ) เอกัคคตา (ความตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้ธรรมที่เกิดร่วมกันทรงความมีชีวิตคือดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพที่ใส่ใจในอารณ์) ดังนั้น สัญญาก็เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ไม่ได้เป็นสภาพธรรมเดียวกันกับจิต และไม่ได้เป็นสภาพธรรมเดียวกันกับเสียง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 16 มี.ค. 2557

เสียง เป็นรูป ไม่รู้อะไร สัญญารู้เสียงได้ แต่ ทำหน้าที่จำ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 16 มี.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ