ถามเรื่อง ศรัทธา ๔ และ อีกข้อ คือ โกหกกับความอ้วนครับ

 
ณัฐวุฒิ
วันที่  17 มี.ค. 2557
หมายเลข  24595
อ่าน  3,924

เรียนถาม ท่านวิทยากรทุกท่านครับ เรื่อง โอกัปปนศรัทธา ที่แปลว่า ปักใจเชื่อ
อ้างอิงจาก

[ [เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 355

ข้อความบางตอนจาก...

อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ ๓ ดังต่อไปนี้. บทว่า สทฺธา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ในความว่า สทฺธา นั้น ศรัทธามี ๔ คือ อาคมนียศรัทธา อธิคมศรัทธา ปสาทศรัทธา โอกัปปนศรัทธา. บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ นั้น อาคมนียศรัทธา ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู. อธิคมปสาทศรัทธา ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ส่วนเมื่อเขาว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ก็เลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ส่วนความปักใจเชื่อ ชื่อว่า โอกัปปนศรัทธา. ]

"โอกัปปนศรัทธา" ที่แปลว่า ปักใจเชื่อ นั้น เป็นกุศลธรรม เช่นกันใช่ไหมครับ เพราะคำว่า ปักใจเชื่อ ดูเหมือน แบบงมงาย (ผมคิดเอง ซึ่งต้องมากไปด้วยความเห็นผิดนะครับ) อีกเรื่องหนึ่ง ได้ อ่าน อานิสงส์ของการสมาทานศีล ข้อ ๔ คือ ไม่โกหก แสดงว่า อานิสงส์แห่งการรักษาศีลข้อที่ 4 มี 14 ประการ

1. มีอินทรีย์ทั้ง 5 ผ่องใส
2. มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน
3. มีฟันเสมอชิด สะอาด
4. ไม่อ้วนจนเกินไป
5. ไม่ผอมจนเกินไป
6. ไม่สูงจนเกินไป
7. ไม่เตี้ยจนเกินไป
8. กลิ่นปากหอมเหมือนดอกบัว
9. ได้สัมผัสแต่ที่เป็นสุข
10. มีบริวารล้วนขยันขันแข็ง
11. มีถ้อยคำที่บุคคลเชื่อถือได้
12. ลิ้นบางแดง อ่อนเหมือนกลีบบัว
13. ใจไม่ฟุ้งซ่าน
14. ไม่เป็นคนติดอ่าง ไม่เป็นใบ้ในข้อ
4. ไม่อ้วนจนเกินไป
5. ไม่ผอมจนเกินไป
6. ไม่สูงจนเกินไป
7. ไม่เตี้ยจนเกินไป

ทำไมการเว้นจากการโกหก จึง มีผลกับสรีระอ้วนผอมสูงต่ำของกายด้วยครับ หรือ ความอ้วนผอมสูงต่ำ เป็นเหตุให้เกิดการนินทา ว่าร้าย ดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งเป็นอกุศลวิบากที่มาจากการพูดเท็จ? จึงขอท่านวิทยากรอาศัย เมตตา กรุณา ช่วยชี้แจงด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และ สัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ส่วน คำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ซึ่ง ปสาทะ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของศรัทธา (ศัทธา) เช่นกัน หรือ บางครั้งก็ใช้เหมือนกันได้ ที่หมายถึง ศรัทธา (สัทธา) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในคำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ยังสามารถใช้ในความหมายอื่นๆ เช่น ลักษณะสภาพธรรมใดๆ ที่ผ่องใส ก็ชื่อว่า ปสาทะ เช่น ใช้ในความหมายของรูป ประเภทต่างๆ เช่น จักขุปสาทรูป ที่ เป็น ลักษณะของรูปที่ผ่องใส กระทบสีได้ โสตปสาทรูป เป็นต้น

ซึ่งในการแสดงถึง ปสาทะ ที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 355

ข้อความบางตอนจาก...

อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัตตกะที่ ๓ ดังต่อไปนี้. บทว่า สทฺธา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา. ในความว่า สทฺธา นั้น ศรัทธามี ๔ คือ อาคมนียศรัทธา อธิคมศรัทธา ปสาทศรัทธา โอกัปปนศรัทธา. บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ นั้นอาคมนียศรัทธา ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญู. อธิคมปสาทศรัทธา ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ส่วนเมื่อเขาว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ก็เลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา. ส่วนความปักใจเชื่อ ชื่อว่า โอกัปปนศรัทธา.

ซึ่งจากข้อความในพระไตรปิฎก มีศรัทธา หรือ สัทธา 4 อย่าง คือ

1.อาคามนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2.อธิคมศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรม

3.ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

4.โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ

แสดงให้เห็นว่า ปสาทะ ก็เป็นชื่อหนึ่งของศรัทธาด้วย ที่เป็น ปสาทศรัทธา เป็นความเชื่อ เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ครับ

ซึ่ง โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ดี มี กุศลธรรม เป็นต้น เพราะ ศรัทธา เป็นเจตสิกที่ดีงาม จึงจะต้องเกิดกับกุศลจิต เป็นต้น จึงไม่ใช่การปักใจเชื่อด้วยความเชื่อที่ผิด แต่เพราะเข้าใจถูก มีปัญญา จึงปักใจเชื่อ จึงเป็น กุศลธรรม สภาพธรรมที่ดีงาม ครับ

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับ รูปร่าง ของการงดเว้นจากการพูดเท็จ การงดเว้นจากการพูดเท็จ เป็น กุศลธรรม สามารถนำเกิดปฏิสนธิได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดรูปจากกรรมที่เป็นกรรมดี เพราะฉะนั้น เพราะ กรรมดี คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ จึงทำให้มีรูปร่างที่ดี ตามกุศลกรรมที่ทำให้เกิดรูปด้วย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่ศรัทธาก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธาเกิดเมื่อใด อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้เลย การศึกษาพระธรรมประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำอะไรก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย แม้แต่คำที่กล่าวถึงคือศรัทธา ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้ ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้าคือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธาเป็นเบื้องต้นนั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย เพราะฉะนั้น ศรัทธา จึงไม่ใช่อกุศลธรรม จะไม่เกิดร่วมกับธรรมฝ่ายไม่ดีเลย เพราะศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น

-เรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ในเบื้องต้นที่พอจะเข้าใจได้คือ เมื่อเป็นเหตุที่ดี คือ กุศลกรรม มีแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็ทำให้ผลที่ดีที่น่าปรารถนาเกิดขึ้นเป็นไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศลกรรม แล้ว เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็เกื้อกูลให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ดี คือ เป็นกุศลและเว้นในสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศล ครับ .

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ศรัทธา เป็นความเชื่อที่ดี ปักใจเชื่อในสิ่งไม่ถูกไม่ใช่ศรัทธา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ณัฐวุฒิ
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ