กรรมและเจตนาเจตสิก

 
thilda
วันที่  18 มี.ค. 2557
หมายเลข  24600
อ่าน  3,738

สวัสดีค่ะ แม้จะศึกษาธรรมอยู่ แต่พอตรึกตรองดูหลายๆ เรื่องก็รู้สึกว่ายังไม่รู้หรือไม่แน่ใจในสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานอีกมากมายเลยค่ะ รบกวนขอความรู้จากอาจารย์ทุกท่านดังนี้ค่ะ

1) ทุกอย่างที่เรากระทำไปทางกายหรือวาจา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ก็ล้วนแต่เป็นกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ล้วนแต่จะให้ผลเป็นวิบากในกาลข้างหน้าใช่ไหมคะ ถ้าเป็นกรรมที่อยู่ในอกุศลกรรมบถก็จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะเกิดวิบากในวาระอื่นๆ จะเป็นชาตินี้หรือชาติไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ส่วนการคิดนึกนั้นก็เป็นมโนกรรม ถ้าไม่ได้อยู่ในอกุศลกรรมบถก็จะไม่ทำให้เกิดวิบาก แต่จะสะสมต่อไปในจิตทุกดวงใช่ไหมคะ

2) เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ขณะที่เรากระทำกรรมนั้น เจตนาเจตสิกขณะที่ไม่ตั้งใจต่างจากที่ตั้งใจอย่างไรคะ อย่างเช่นกรณีที่ฆ่าสัตว์โดยไม่ตั้งใจ ขณะที่กระทำนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งใจกับไม่ตั้งใจต่างกันอย่างไร จึงเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นวิบากต่อไปหรือไม่เป็นวิบากต่อไปค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากๆ ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
thilda
วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขออภัยค่ะ อาจารย์ รู้สึกคำถามข้อ 1 กับ 2 จะขัดกันเอง ขอถามข้อ 2 ใหม่ค่ะ

2) เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ขณะที่เรากระทำกรรมนั้น เจตนาเจตสิกขณะที่ไม่ตั้งใจต่างจากที่ตั้งใจอย่างไรคะ อย่างเช่นกรณีที่ฆ่าสัตว์โดยไม่ตั้งใจ ขณะที่กระทำนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งใจกับไม่ตั้งใจต่างกันอย่างไรค่ะจึงเป็นปาณาติบาตกับไม่เป็นปาณาติบาต

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตนา เจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง และเกิดแล้วก็ดับไป พร้อมกับจิตที่เกิดร่วมด้วย แต่ก็ควรเข้าใจว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แต่ไม่ได้หมายความว่าเจตนานั้นจะต้องเป็นกรรม ที่เป็น กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมเสมอไป เพราะเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็น กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมก็ได้ และ กิริยาจิต เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่จะเป็นกรรม ที่จะให้ผล คือ เจตนาที่เป็นไปใน กุศลจิต และ อกุศลจิต แต่ที่เกิดกับวิบากจิต และ กิริยาจิต ไม่ทำให้เกิดผลเลย และ เมื่อละเอียดลงไปอีก เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต ก็ยังเป็นแบบที่ให้ผลก็มี ไม่ให้ผลก็มี ขอยกตัวอย่าง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่โกรธ ขณะที่โกรธในใจ มีเจตนา จงใจ ตั้งใจในขณะนั้นแต่เมื่อโกรธในใจ ไม่ได้แสดงออกมาทางกาย วาจา ก็ไม่ได้มีเจตนาทางกาย วาจา ที่เป็นในทางทุจริต ไม่ถึงกับการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ที่ล่วงศีล ที่เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง เพียงแต่โกรธในใจ แม้มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ไม่เป็นกรรมที่จะให้ผล จึงไม่ล่วงศีล ไม่ทำให้เกิดวิบาก แม้เพียงมีเจตนา เพียงแค่โกรธในใจ ครับ

แต่หากว่า เจตนานั้นเกิดกับอกุศลจิตที่มีกำลัง ที่แสดงออกมาทางกาย วาจา จนถึงขนาดฆ่าผู้อื่น เพราะมีเจตนาฆ่า อย่างนี้ก็เป็นการล่วงศีล ครับ เพราะฉะนั้นแม้จะมีเจตนา แต่ก็ต้องพิจารณาว่า ครบองค์กรรมบถ หรือไม่ ถ้าไม่ครบกรรมบถก็ไม่ล่วงศีล ไม่ให้ผล ยกตัวอย่างเช่น มีเจตนาฆ่าคนอื่น และก็พยายามที่จะฆ่า แต่ผู้นั้นไม่ตาย ก็ยังไม่สำเร็จเป็นปาณาติบาต ก็ยังไม่ล่วงศีล ครับ เพราะฉะนั้น การจะล่วงศีล ไม่ล่วงศีล ให้ผล หรือ ไม่ให้ผล สำคัญที่เจตนาประการหนึ่ง ว่า มีเจตนาทุจริตหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อจิต มีเจตนาเกิดร่วมด้วยเสมอ จะเป็นการล่วงศีลเสมอ ต้องดูที่เจตนานั้นเกิดกับจิตประเภทอะไร และ เจตนาที่เกิดกับจิตนั้น เป็นเจตนาที่เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลังหรือไม่ และ ยังต้องพิจารณาว่า ครบกรรมบถในข้อนั้นหรือไม่ครับ จึงจะกล่าวได้ว่าศีลขาด หรือ ไม่ขาด ครับ

ซึ่งจากคำถามที่ว่า

1) ทุกอย่างที่เรากระทำไปทางกายหรือวาจา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ก็ล้วนแต่เป็นกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ล้วนแต่จะให้ผลเป็นวิบากในกาลข้างหน้าใช่ไหมคะ ถ้าเป็นกรรมที่อยู่ในอกุศลกรรมบถก็จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะเกิดวิบากในวาระอื่นๆ จะเป็นชาตินี้หรือชาติไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ส่วนการคิดนึกนั้นก็เป็นมโนกรรม ถ้าไม่ได้อยู่ในอกุศลกรรมบถก็จะไม่ทำให้เกิดวิบาก แต่จะสะสมต่อไปในจิตทุกดวงใช่ไหมคะ

@ การกระทำทุกๆ อย่าง ที่กระทำทางกาย วาจา ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเกิดวิบาก เพราะการจะเกิดวิบาก ให้ผล จะต้องเป็นกรรมที่ครบกรรมบถ เช่น มีการฆ่าสัตว์ มีการลักทรัพย์ เป็นต้น หากเพียงกระทำทางกาย วาจา ปกติ เช่น ทานอาหาร แปรงฟัน เป็นการกระทำทางกาย ก็จริง แต่เป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตที่ออกมาทางกาย แต่ไม่ครบกรรมบถ ที่ไม่เป็นในการถึงการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ล่วงอกุศลกรรมบถ 10 ข้อ เพราะฉะนั้น การกระทำทางกาย วาจา ที่ไม่ถึงกรรมบถ จึงไม่ก่อให้เกิดวิบาก คือ เกิดผลในอนาคตได้ ครับ

ส่วนการคิดนึก ถ้าไม่อยู่ในอกุศลกรรมบถ เพียงคิดในใจ ก็ไม่ให้ผล เกิดวิบาก ครับ ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

2) เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ขณะที่เรากระทำกรรมนั้น เจตนาเจตสิกขณะที่ไม่ตั้งใจต่างจากที่ตั้งใจอย่างไรคะ อย่างเช่นกรณีที่ฆ่าสัตว์โดยไม่ตั้งใจ ขณะที่กระทำนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งใจกับไม่ตั้งใจต่างกันอย่างไรค่ะ จึงเป็นปาณาติบาตกับไม่เป็นปาณาติบาต

@ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท แต่จะให้ผล จะต้องเป็นเจตนาที่เกิดกับ กุศล กับ อกุศล แต่จะต้องละเอียดลงไปอีกครับว่า เจตนาที่จะให้ผล ในฝ่ายอกุศลจะต้องเป็นเจตนาที่ทุจริต คือ มีเจตนาที่จะทำทุจริต จึงให้ผล เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ได้มีเจตนาฆ่าสัตว์ เจตนามี แต่เป็นเจตนาที่ไม่ใช่การฆ่า คือ ไม่มีเจตนาฆ่า แม้สัตว์นั้นตาย ก็ตายตามกรรมของสัตว์ แต่เมื่อตนเองไม่มีเจตนาฆ่าแล้ว แต่เจตนาเป็นไปในการกระทำอย่างอื่น อย่างนี้ ไม่มีเจตนาที่จะทำทุจริต จึงไม่ครบเป็นกรรมบถ ที่เป็นปาณาติบาต เจตนาที่ไม่ตั้งใจนั้น จึงไม่ให้ผลแน่นอน ครับ แต่สะสมเป็นอุปนิสัย ในการกระทำต่างๆ แต่ไม่ใช่การสะสมอุปนิสัยในการฆ่า เพราะไม่มีเจตนาฆ่า ไม่มีเจตนาทุจริต ส่วนเจตนาที่ฆ่า เมื่อมีการทำบาป จนสัตว์ตาย ก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยให้เป็นผู้ฆ่าง่ายขึ้น และทำให้เกิดกวิบาก ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ครับ เพราะฉะนั้น การจะพิจารณาว่ากรรมจะให้ผลหรือไม่ ต้องพิจารณาประเภทของจิต เป็นอันดับแรก คือจะต้องเป็นกุศลจิต อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต และ กิริยาจิต อันดับที่สอง คือมีเจตนาที่ทุจริต ทำบาปหรือไม่ ถ้าไม่มีเจตนาทำบาป แม้สัตว์จะตาย ก็ไม่บาป ไม่ให้ผล ครับ และต้องพิจารณาว่า ครบองค์กรรมบถ ในแต่ละข้อหรือไม่ ถ้าครบองค์กรรมบถก็สามารถให้ผล นำเกิดในอบายภูมิ เป็นต้นได้ ครับ ขออนุโมทนา

ไม่มีเจตนาฆ่า ไม่บาป ไม่ก่อให้เกิดกรรม และ วิบาก

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 103

ขอถวายพระพร มหาบพิตร ! ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะเรียนถามพระดาบสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! นกเป็นอันมาก เข้าใจว่า ญาติของพวกเราจับอยู่แล้ว จึงพากันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้าย่อมถูกต้องกรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาปนั้น ใจข้าพเจ้า ย่อมสงสัย ว่า (บาปนั้นจะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ?) . พระดาบส ตอบว่า ก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านี้มา เพราะเสียง และเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้ว หรือจงถูกฆ่า นกกระทา เรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่า ถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่ ถ้าใจของท่าน ไม่ประทุษร้าย (ในการทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อย ผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์) .

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจก่อนว่า กรรม มีจริงๆ เป็นธรรม ว่าโดยสภาพธรรมแล้วคือเจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่มีเว้นเลย แต่กรรมที่จะเป็นเหตุในภายหน้าต้องสำเร็จเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมบถ เช่น ถ้าเป็นกุศลกรรม ก็อย่างเช่น ให้ทาน รักษาศีล การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลกรรม เช่น ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ลักทรัพย์ผู้อื่น เป็นต้น เมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้ แต่ถ้าเป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เช่น ขุ่นเคืองใจ หรือ ติดข้องยินดีพอใจ โดยไม่ได้ล่วงออกมาเป็นอกุศลกรรมบถประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบากในภายหน้า แต่ก็เป็นการสะสมสิ่งที่ไม่ดี เพราะถ้าสะสมมากขึ้น ก็อาจจะล่วงเป็นอกุศลกรรมบถได้ เพราะฉะนั้นจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย

-จะเป็นบาปกรรม ก็ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ เช่น มีเจตนาฆ่า มีเจตนาลักทรัพย์หรือไม่ ถ้าไม่มีเจตนาที่จะกระทำอย่างนั้นก็ไม่เป็นบาปกรรม เช่น เดินไปเหยียบมดโดยไม่มีเจตนาฆ่า ตั้งใจปิดประตูโดยที่ไม่รู้ว่ามีจิ้งจกอยู่ ก็ทับจิ้งจก อย่างนี้ เป็นต้นไม่เป็นบาปกรรม

เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เจตนา เกิดกับจิตทุกดวง จะกล่าวว่า กรรม คือ เจตนา เกิดกับจิตทุกดวง ก็ได้ เกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลเจตนา หรือ จะเรียกว่าอกุศลกรรมก็ได้ ถ้าเข้าใจอย่างถูกต้อง เพราะอกุศลกรรม ก็มีทั้งที่ถึงความเป็นกรรมบถ กับ ที่ไม่ถึงความเป็นกรรมบถ ถ้าเจตนาเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นกุศลเจตนา

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

วันหนึ่งทำอะไรบ้างคะ หยิบช้อนส้อม จับถ้วยแก้ว กวาดถู ซักรีด เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า? ไม่เป็น เจตนาที่เกิดกับจิตนั้นๆ เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า? เป็น

สิ่งที่น่าพิจารณา คือ

ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่พ้นไปจากการกระทำกรรม และการได้รับผลของกรรม ถึงแม้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้ายังไม่ดับขันธปรินิพพาน กรรมในอดีตก็ยังมีโอกาสให้ผลได้ จนกว่าจะถึงกาลที่ปรินิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องมีการกระทำกรรมและการได้รับผลของกรรมอีกต่อไป ดังนั้น ถ้ายังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ย่อมไม่พ้นจากการกระทำกรรม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และไม่พ้นไปจากการได้รับผลของกรรมในชีวิตประจำวันในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนา ตามสมควรแก่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต การอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไป เพื่อสิ้นกรรมและสิ้นการได้รับผลของกรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 18 มี.ค. 2557

เจตนาที่ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ไม่ให้ผล แต่สะสมนิสัยไม่ดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 18 มี.ค. 2557

อาจารย์คะ แต่อกุศลกรรมที่ไม่ครบองค์ก็ทำให้เกิดวิบากในปวัตติกาลได้ไม่ใช่เหรอคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

กรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่ไม่ครบองค์ สามารถให้เกิดวิบากในปวัตติกาลได้ คือ หลังจากเกิดแล้ว เช่น การจะคิดฆ่าสัตว์ และ มีการพยายาม และเบียดเบียนสัตว์ด้วย มีทรมาน ต่างๆ เป็นต้น ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาเป็นโรคมาก เป็นต้น แต่ประเด็น คือ ผู้ถามได้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีเจตนาฆ่าจะให้ผลหรือไม่ คำตอบ คือ เช่นเดิม ครับ ไม่ให้ผล แม้ปวัตติกาล เพราะการจะให้ผลของกรรม จะต้องมีเจตนาที่ทุจริต เช่น มีเจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียน แม้ไม่ครบองค์ แต่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ก้ให้ผลหลังจากเกิด ป่วยง่าย เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต เช่น ไม่มีเจตนาฆ่า ไม่มีเจตนาเบียดเบียน สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายจากเรา ก็ไม่ให้ผล ครับ เพราะไม่มีเจตนาที่ทุจริตนั่นเอง ดังนั้น ต้องพิจารณาที่เจตนาเป็นสำคัญอันดับแรก ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ รบกวนถามอีกนิด จิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ล้วนเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้ว แม้เพียงลืมตาเห็น หรือได้ยินเสียง จิตเห็นหรือจิตได้ยินนั้นก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับผลของกรรมที่ทำมาแล้ว ดิฉันจึงคิดว่า วิบากนี้กว้างมากๆ จึงน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยที่กว้างมากๆ แต่ที่ฟังดู ก็คือจะสามารถทำให้เกิดอกุศลวิบากได้เฉพาะเมื่อกรรมที่ทำให้เกิดอกุศลวิบากนั้นต้องมีเจตนาที่ทุจริต แต่มันก็คงเกินกว่าที่จะคาดเดาได้ ว่าทำไมวิบากจิตที่เกิดขึ้นจึงกว้างขนาดนั้นใช่ไหมคะอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

พระธรรม เป็นสัจจะ และเป็นเรื่องที่ตรง ซึ่งยากจะเข้าใจ เพราะเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ครับ แม้แต่ จิตเห็น จิตได้ยิน ก็เป็นวิบากจิต แต่จะต้องเกิดจากเหตุ คือ กุศลกรรมให้ผล ทำให้เห็นที่ดี และ อกุศลกรรมให้ผล ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งสัจจะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่จะเป็นกรรมไหนนั้นก็ยากที่จะรู้ แต่จะต้องเกิดจากกรรมที่มีเจตนาทุจริต หรือ สุจริต ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 19 มี.ค. 2557

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และผู้ศึกษาก็ต้องละเอียด และหลายเรื่องก็ยากเกินจะเข้าใจเพราะเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ขอบพระคุณอาจารย์และขออนุโมทนาที่อาจารย์ได้ให้ความรู้แก่ดิฉันอย่างมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
napachant
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ