เคยบวชพระ สามารถบวชเณรได้ไหมครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  20 มี.ค. 2557
หมายเลข  24610
อ่าน  25,742

ถ้าเคยบวชพระ และน่าจะอาบัติ เช่นเห็นพระพี่เลี้ยงอยู่ในกุฏิสองต่อสอง แต่ผมอยู่ชั้นสอง ผมไม่ได้บอกพระอื่น บอกแต่เพื่อนฆราวาส จับเงิน ให้พรโยมที่นั่ง ตอนสึกจำได้ว่าปลงอาบัติรวม ผมเลยคิดว่าน่าจะไม่หมดอาบัติ แล้วอยากบวช แต่อยากบวชตอนพร้อมอีกครั้ง น่าจะหลังเกษียณ ไม่ทราบบวชเณรได้ไหม ส่วนใหญ่วัดรับบวชเณรไหมครับ

ขอบคุณครับ สาธุๆ ๆ ๆ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับกรณีของพระภิกษุนั้น หากต้องอาบัติปาราชิก มีการฆ่ามนุษย์ เป็นต้น เมื่อกลับมาเป็นฆราวาส แต่แม้สำนึกผิด จะกลับมาบวชเป็นพระภิกษุอีกไม่ได้ ครับ เพราะผู้ที่ต้องอาบัติหนักสุด คือ ปาราชิก ไม่สามารถกลับมาบวชเป็นเพศพระภิกษุอีกได้ แต่สามารถกลับมาบวชเป็นสามเณรได้ ดังนั้น วัด ก็สามารถรับบวชเณรได้ แม้จะเคยบวชเป็นพระมาและต้องอาบัติข้อต่างๆ

โดยศัพท์คำว่า สามเณร หมายถึงเหล่ากอ หรือเชื้อสายของสมณะ สามเณรมีสิกขาบท ๑๐ คือ

งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

งดเว้นจากการลักทรัพย์

♢ งดเว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การเสพเมถุน)

งดเว้นจากการพูดเท็จ

♢ งดเว้นจากดื่มสุราเมรัย

♢ งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

♢ งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น

งดเว้นจากการลูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

♢ งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

งดเว้นจากการรับเงินทอง

เมื่อสามเณรก้าวล่วงสิกขาบท ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อนั้นย่อมขาดจากความเป็นสามเณรทันที (เหมือนปาราชิกของพระภิกษุ) ย่อมควรแก่การนาสนะคือขับไล่ออกจากวัด แต่เมื่อก้าวล่วงสิกขาบท ๕ ข้อหลัง ควรแก่การลงโทษบางอย่างตามสมควรแก่พระวินัย แต่สามเณรที่ขาดจากความเป็นบรรพชิตแล้ว เมื่อกลับตัวกลับใจ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ พระภิกษุท่านให้สรณะและศีลใหม่ ความเป็นสามเณรก็ยังคงเหมือนเดิม เมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุได้ ซึ่งต่างจากพระที่ว่าเมื่อปาราชิกแล้ว จะกลับมาบวชเป็นพระภิกษุใหม่อีกไม่ได้

การบวชด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส และ ประพฤติตามพระธรรมวินัย ย่อมเกื้อกูล และเป็นประโยชน์ กับผู้นั้นเอง แต่การบวชด้วยจุดประสงค์ที่่ถูกต้อง และไม่ศึกษาพระธรรมและไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ การบวชนั้น ก็เป็นดั่งมีดสองคม ที่จับด้านที่คม ย่อมบาดมือของผู้จับที่จับไม่ดี การบวชด้วยจุดประสงค์ที่ผิด ไม่ปฏิบัติตามพระวินัย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่จุดประสงค์ ต้องตรง ว่า บวชเพื่ออะไร? เพราะจุดประสงค์ของการบวชจริงๆ คือ เพื่อการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น จากเพศคฤหัสถ์เข้าสู่เพศที่สูงยิ่ง เพราะถ้าผิดจุดประสงค์แล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากพระธรรม มีแต่จะเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียวไม่ว่าจะบวชเป็นพระภิกษุหรือบวชเป็นสามเณรก็ตาม และที่น่าพิจารณา คือ จำเป็นต้องบวชหรือไม่? เพราะการอบรมเจริญปัญญา ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศบรรพชิตเท่านั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ก็สามารถจะอบรมเจริญปัญญาพร้อมทั้งสะสมคุณความดีประการต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นคุณประโยชน์ของธรรมฝ่ายดีมากแค่ไหน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 มี.ค. 2557

บวชเป็นพระ สึกออกมา ถ้ามีอาบติ ก็มีอาบัติกลับมาอีก แต่ถ้าไปบวชเป็นเณรไม่มีอาบัติ บวชได้ ถือศีล 10 ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ