พูด ยืน เดิน นั่ง นอน “ไม่ใช่เรา” แล้วคืออะไร
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พูด ยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่เราแล้วคืออะไร
ผู้ถาม อย่างที่ กล่าวว่า “ไม่มีตัวเรา” ทีนี้ ใน วันหนึ่งๆ ไม่ว่าเราจะ พูด เดิน ยืน นั่ง นอน ก็ ไม่ใช่ “ลักษณะของความเป็นตัวเรา” ใช่ไหมคะ
สุ. ความจริง เป็นอะไร
ผู้ถาม มีเหตุและปัจจัย ทำให้เราจะต้องคิด และก็ทำสิ่งเหล่านั้นต่างๆ
สุ. เราเรียน จิตประเภทต่างๆ หลังจาก ”จิตเห็น” แล้ว “จิตคิด” ใช่ไหม แล้วเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ก็เดี๋ยวนี้เอง หลังจากที่เห็น แล้วก็คิด จะ”มีเรา”อีกต่างหาก หรือว่า “เป็นจิต ที่เกิดดับสืบต่อ” หลังจาก”เห็นแล้วทางตา” จักขุทวารวิถีจิต ดับ หมดแล้ว ภวังคจิต เกิดคั่น และ จิตทางมโนทวาร ก็ รู้ “สิ่งที่ปรากฏทางตา” ต่อ หลายวาระ และก็ยัง”จำ”ไว้ด้วยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร นั่นคือ “คิด”
ผู้ถาม แต่ว่าในวันหนึ่งๆ มีเหตุที่จะต้องให้เราไป”ทำ”ทุกอย่างเลย ลืมตาขึ้นมา
สุ. ถ้าไม่ใช่ รูป อะไร ทำได้ / ถ้าไม่ใช่ นาม อะไร คิดได้ คิดที่จะทำ และ ก็มีการกระทำเพราะฉะนั้น “คิด”เป็นอะไร และ “การกระทำ”เป็นอะไร “เป็นเรา“ หรือว่า “เป็นจิต เจตสิก” ที่เกิดขึ้น “คิด” แล้ว เป็นปัจจัยให้ “รูปนั้น ไหวไป ตาม ความคิด” เพราะว่า ถ้าไม่มีรูปเลย จิตก็คิดไป รูปอะไรก็ไม่มี ที่จะไหวไป ทำอะไร ก็ไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่า ไม่ได้มีแต่รูป ถ้ามีแต่รูป รูปก็เคลื่อนไหว ทำอะไรเป็นกุศล อกุศลใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ทำกรรมอะไรไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่า มีจิตและเจตสิก ซึ่งไม่ใช่ รูป จิตและเจตสิก เป็นปัจจัยให้ รูปเกิดขึ้น ได้ เพราะฉะนั้น ถ้า”คิดจะทำอะไร” ขณะนั้น”เป็นความต้องการ” สิ่งที่ จะทำให้ รูปไหวไป โดยที่เราไม่ต้องคิดก่อน ใช่ไหม อย่างคนที่จะลุกขึ้นยืน ก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่ายืน แต่ว่ายืนแล้ว เพราะว่า “จิตต้องการจะยืน” มี เป็นปัจจัยให้ รูปนั้น ไหวขึ้น เป็นอาการยืน
ผู้ถาม ก็หมายถึง ลักษณะสภาพธรรม ในชีวิตประจำวัน แต่ละขณะจิต แต่ถ้าสมมติว่า เป็นวันหนึ่งๆ ที่เราคิดวางแผน ที่จะทำ อย่างโน้นอย่างนี้
สุ. ก็คือ “จิตคิด” .. “คิดอะไร ก็คือ จิตคิด” รูปคิดไม่ได้ และ จิตเกิดตลอด เกิดแล้วก็ดับ ก็เป็นปัจจัยให้ ขณะต่อไป เกิดสืบต่อ และก็ดับ และก็เป็นปัจจัยให้ ขณะต่อไป เกิดสืบต่อ ถ้าไม่เรียกชื่อว่าคุณสุกัญญา ก็”เป็นจิต เจตสิก” ใช่ไหมคะ ถ้าไม่เรียกชื่อว่าคุณพิศมัย ก็”เป็นจิต เจตสิก” เพียงแต่ว่า “ทั้งหมด เป็น จิต เจตสิก” .. “ซึ่งเรียกชื่อต่างๆ ” เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึง จิต เจตสิก อะไร ขณะไหน ขันธ์ไหน ของใคร
ผู้ถาม พอศึกษาธรรมไป ถึงจุดๆ หนึ่ง ทุกคนก็จะไปลงที่ว่า ลักษณะของ”ความที่ไม่มีตัวตน”
สุ. คิดเท่านั้นค่ะ ว่า “ไม่มีตัวตน” ถ้าไม่คิดว่า”ไม่มีตัวตน” ก็คิดเรื่องอื่น ขณะที่คุณสุกัญญากำลังพูดว่า”ไม่มีตัวตน” เพราะ”จิตคิดคำนี้” เสียงเปล่งออกมา เป็นปัจจัยให้ รูปที่เกิดจากจิต ไหวไป กระทบ ฐานของเสียง โดยไม่ต้องตระเตรียมอะไรเลยทั้งสิ้น ทุกอย่าง เป็นไป อย่างรวดเร็ว ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าขณะใด ไม่ได้คิดว่า “ไม่มีตัวตน” ขณะนั้นก็คิดเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น คิดก็คือคิด ไม่ว่าจะคิด เรื่องอะไร เมื่อไหร่ ก็คือ คิด เพราะว่า ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่ รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
ผู้ถาม อย่างนั้น “สภาวะที่ไม่มีตัวตน” อยู่ตรงไหน
สุ. จิตไงคะ เจตสิก รูป “ตัวอยู่ตรงไหน” ถ้า”แข็ง”กำลังปรากฏ “ตัวอยู่ตรงไหน” แข็งเป็นแข็ง “เป็นเรา”หรือเปล่า แล้ว”ตัวตนอยู่ที่ไหน” ขณะนี้กำลัง”เห็น” แต่ก่อนไม่เคยรู้เลย เป็นลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งต่างกับ รูปธาตุ ซึ่งไม่สามารถจะ รู้ อะไร ได้เลย นามธาตุ คือ ธาตุรู้ มีจริงๆ ต่างกับ รูปธาตุ เพราะ รูปธาตุ ไม่สามารถจะ รู้ อะไร แต่ นามธาตุ เป็นธาตุ ต่างหากจาก รูป และ มีจริง ใครจะบังคับให้ธาตุนี้ไม่เกิด ก็ไม่ได้ เพราะธาตุนี้ มี
ถ้าคิดจะบังคับไม่ให้ธาตุนี้เกิด ก็เหมือนบังคับ ไม่ให้”แข็ง”เกิด ไม่ให้”หวาน”เกิด คิดที่จะบังคับอย่างนั้น แต่ความจริง บังคับ”แข็ง”ไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ บังคับ ”หวาน” ไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ ฉันใด บังคับ นามธาตุ ไม่ให้เกิดขึ้น “รู้” ก็ไม่ได้ นี่คือ อนัตตา “ไม่ใช่เรา” ความหมายของ “ไม่ใช่ตัวตน” ก็คือ เพราะเหตุว่า “เป็นธาตุ” หรือ “เป็นธรรม” ซึ่ง “มี ลักษณะเฉพาะ” แต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อประมวลแล้ว ก็คือ “นามธาตุ ประเภทหนึ่ง” และก็ “รูปธาตุ อีกประเภทหนึ่ง”
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)