ภวังคจิตและปัจจัยที่มีผลต่อภวังคจิต

 
papon
วันที่  25 มี.ค. 2557
หมายเลข  24627
อ่าน  1,040

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ภวังคกิจเป็นกิจของจิต ปัจจัยที่มีผลต่อภวังคจิตมีหรือไม่อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ - ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดีที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมี่วิบากจิตอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมาก ถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย

ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ดังนั้น ภวังคจิต ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติ ก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ทั้งหลายๆ ปัจจัย เช่น สหชาตปัจจัย อาศัย จิต และ เจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น และ วิปากปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัย และ ปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ครับ

อันเป็นการแสดงให้เห้นว่า สภาพธรรมต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้น และเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภวังคกิจ เป็นการกล่าวถึงกิจหน้าที่ของจิต ซึ่งแน่นอนต้องมีจิตเกิดขึ้นทำกิจดังกล่าวนี้ตามควรแก่บุคคล ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดเป็นใคร ถ้าเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ก็เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจนี้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์พิการบ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ก็เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากที่ทำกิจนี้ และถ้าเกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด และเกิดเป็นเทวดาก็เป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดในแปดดวงที่ทำกิจนี้ ถ้าจะกล่าวถึงความเป็นจริงแล้ว ภวังคจิตไม่ได้เกิดเพียงขณะเดียว มีภวังคจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ และถ้าจะเป็นเหตุให้วิถีจิตเกิดสืบต่อ ขณะต่อไปก็ไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นวิถีจิต ทั้งหมดนั้นกล่าวถึงความเป็นไปของจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 มี.ค. 2557

สภาพธรรม อาศัยเหตุปัจจัย เกิดขึ้น ภวังคจิต เป็นธรรม มีเหตุจึงเกิดขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 25 มี.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ปกตูปนิสสยปัจจัยมีผลต่อภวังคจิตอย่างไรครับ ขอความกรุณายกตัวอย่างด้วยนะครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรม ที่มีกำลังจนสามารถ เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมอื่นที่เป็นจิต เจตสิกครับ ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมากครับ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดนั้น ปัจจัยที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ จิต 89 เจตสิก 52 รูป 28 เป็นต้น ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย มีหลายอย่างดังนี้ครับ

1.กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลที่เป็นจิต เจตสิก เช่น สะสมการฟังธรรม ความเห็นถูกมา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตคือปัญญาเกิดได้อีกครับ หรือ อกุศลขั้น การฟังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลขั้นสูงครับ

2.กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล เช่น เพราะมีความเห็นถูก (ปัญญา) ทำให้เกิดมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น

3.กุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ เกิดวิบาก

4.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

5.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล

6.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ ที่เป็นวิบากจิต

7.อัพยากตะ เป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ

เพราะฉะนั้น อาศัยกุศลกรรมที่เคยทำในกาลก่อน เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมที่เป็นภวังคจิตในปัจจุบันได้ หรือ อกุศลกรรมในกาลก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดภวังคจิตในขณะนี้ก็ได้ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 26 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 30 มี.ค. 2557

" กุศลขั้นการฟังพระธรรมยังเป็นเหตุของอกุศลขิั้องการมีมานะ ยกตัวข่มผู้อื่น"

เป็นความละเอียดลึกซึ้งจริงๆ

ยิ่งทำให้ไม่ประมาทต้องเร่งศึกษาพระธรรมต่อไป และไตร่ตรองสภาพธรรมเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณผู้ถาม และกราบขอบคุณอาจารย์ผู้ติอบให้ความกระจ่าง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ