แสงและการเห็น

 
papon
วันที่  30 มี.ค. 2557
หมายเลข  24651
อ่าน  1,327

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

อาจารย์ครับทำไมแสงถึงไม่ร่วมในอายตนะของการเห็นครับ ขอความอนุเคราะห์ให้​ความกระจ่างด้วย​ครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจก่อนครับว่า อายตนะ ซึ่งคำว่า อายตนะ หมายถึง ที่ต่อ, บ่อเกิด, ที่ประชุม, เหตุ อายตนะภายใน 6 และ อายตนะภายนอก 6 มีดังนี้

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

๑. จักขวายตนะ (จักขปสาทรูป) ๒. รูปายตนะ (รูปสี)

๓. โสตายตนะ (โสตปสาทรูป) ๔. สัททายตนะ (รูปเสียง)

๕. ฆานายตนะ (ฆานปสาทรูป) ๖. คันธายนะ (รูปกลิ่น)

๗. ชิวหายตนะ (ชิวหาปสาทรูป) ๘. รสายตนะ (รูปรส)

๙. กายายตนะ (กายปสาทรูป) ๑๐. โผฏฐัพพายตนะ (ดิน ไฟ ลม)

๑๑. มนายตนะ (จิต ๘๙) ๑๒. ธัมมายตนะ (สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน)

เช่น ขณะเห็น ก็มี จักขวายตนะ (จักขปสาทรูป) ที่เป็นที่เกิดของจิตเห็น และมี รูปายตนะ (รูปสี) ที่เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ครับ

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ยินคำว่า อายตนะ ก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้ เพราะแต่ละขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ละขณะๆ นั้น มีสภาพธรรม ประชุมกันอยู่ มีอยู่ ณ ขณะนั้นมากทีเดียว ยกตัวอย่าง ขณะที่เห็นขณะเดียว ขณะนั้นมีจิตเห็นเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีที่เกิดของจิตเห็น และมีสีปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ซึ่งแต่ละอย่างๆ ก็เป็นแต่ละอายตนะ แต่ละอายตนะล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่พ้นจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นจิต เจตสิก รูป และนิพพาน แม้แต่การเห็นก็มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต คือ จักขุวิญญาณ คือจิตเห็น ซึ่งสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้น จะต้องมีเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้นแม้แต่การเห็นก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัย จักขุปสาทรูป คือ ตา และ รูปารมณ์ คือ สี ที่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และอาศัย รูปารมณ์ กับ ตา กระทบกัน และบางนัยก็กล่าวว่าอาศัยแสงสว่าง และเมื่อกรรมให้ผล ก็เกิด จักขุวิญญาณ การเห็นเกิดขึ้น

ดังนั้น คำถามที่ว่าแสงสว่างนั้นคืออะไร และจัดอยู่ในอายตนะหรือไม่ หากพิจารณาในความเป็นจริง สิ่งที่สว่างได้ก็ต้องไม่พ้นจากสี ซึ่งขณะที่เห็น ก็เห็นสี แต่รอบๆ ตัวก็มีสี สีก็มีต่างๆ ทั้งเฉดสีต่างๆ ที่ สว่าง และ มืด

เพราะฉะนั้น เมื่อมี สี ที่เป็นเฉดสี ที่สว่าง อยู่รอบตัว แม้จะไม่ได้ปรากฏกับจิตเห็นและไม่กระทบกับจักขุปสาทรูป แต่ก็สามารถทำให้บริเวณโดยรอบสว่างได้ เพราะมี สี ที่เป็นรูปารมณ์ ที่เป็นเฉดสีสว่างอยู่ตรงนั้น ดังเช่น แสงพระอาทิตย์ ก็เป็นเฉดสีเหลือง สีขาวนั่นเองครับ เพราะฉะนั้น แสงสว่าง ก็ไม่พ้นจาก สภาพธรรมที่เป็น รูป คือสี เพียงแต่แสงสว่างที่มีมากมาย หรือสีที่มีมากมายบริเวณนั้น ไม่ได้กระทบกับจักขุปสาทรูป หากแต่สีบางสีที่กระทบ แต่ แสงสว่าง ที่อยู่โดยรอบ ก็เป็นปัจจัยให้เห็นได้ เพราะมีความสว่างที่จะทำให้เห็นได้ดีขึ้น ครับ

ดังนั้น เราใช้คำว่า แสง เพื่อแสดงถึง ความสว่าง ก็ไม่พ้นจากสี เพียงแต่ใช้คำว่าสี รูปารมณ์ ที่เป็นรูปายตนะ นั้นชัดเจนกว่า หากแต่ว่า เมื่อแสงมากระทบจักขุปสาทรูปเกิด การเห็น แสงนั้นก็ไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เป็น รูปายตนะด้วย ครับ เพราะฉะนั้น แสง คือ สี ที่เป็นรูปายตนะ จึงไม่ใช่การเห็น ที่เป็น จิตเห็น ครับ

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้มีชื่อ หรือมีพยัญชนะมาเป็นเครื่องกั้น ขอเพียงเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่สับสน และที่สำคัญ ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน จะฟังมาก ฟังน้อย ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ปัญญาเจริญขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นได้ ซึ่งสภาพธรรมที่กําลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นอายตนะแต่ละอายตนะ ครับ

ขอยกข้อความคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ในเรื่องนี้ดังนี้ ครับ

ความหมายของอายตนะ

ชุมพร อยากเข้าใจคำว่า “อายตนะ” ค่ะ ตามที่เข้าใจก็คือ อายตนะ เป็นที่ประชุมรวมกันของ ๓ อย่าง ทีนี้การที่จะเข้าใจอรรถของคำว่า “อายตนะ” เราควรเข้าใจอย่างไรคะ

สุ. ก็หมายความว่า เป็นที่ต่อ ที่ประชุม หรือเป็นบ่อเกิด

ชุมพร ในด้านของสติปัฏฐาน จะเข้าใจอายตนะอย่างไรคะ

สุ. ขณะนี้มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ แต่ขณะนี้กำลังเห็น ถูกไหมคะ ที่เห็นนี่เป็นจิตชนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีจักขุปสาท เห็นได้ไหม

ชุมพร ไม่ได้ค่ะ

สุ. ถ้าไม่มีรูปารมณ์กระทบ เห็นได้ไหม

ชุมพร ไม่ได้

สุ. แล้วเห็นเมื่อไรคะ

ชุมพร เห็นเมื่อมี ๓ อย่างประชุมกัน

สุ. เห็นเมื่อมีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับและรูปารมณ์ที่กระทบยังไม่ดับ นี่คือความหมายของอายตนะ

ชุมพร ที่ไปอ่านในสติปัฏฐานสูตร มีอายตนบรรพ คนที่เข้าใจคำว่า “อายตนะ” จะต้องเข้าใจ หรือสติปัฏฐานเกิดขณะที่จักขุวิญญาณปรากฏ อย่างนั้นใช่ไหมคะ

สุ. ถ้ายังไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จะเข้าใจอายตนะได้ไหมคะ

ชุมพร ไม่ได้ค่ะ

สุ. ก็เพียงแต่จำชื่อ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ก็ต้องด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ค่อย ๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ไตร่ตรองในความเป็นจริงของธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะทุกคำที่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง แต่สิ่งที่เป็นเครื่องกั้นอย่างหนึ่ง คือ คำต่างๆ ชื่อต่างๆ ดังนั้น สำคัญที่สุดก็คือ เข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ ความเข้าใจมาก่อน ชื่อมาทีหลัง อย่างเช่น กล่าวถึง การเห็น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว เห็น เป็นจิต ทุกขณะที่จิต เกิด ต้องมีเจตสิกธรรมประการต่างๆ มีผัสสะ เวทนา เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และแน่นอนในขณะที่เห็น ก็ต้องมี สี ที่ยังไม่ดับไป เป็นอารมณ์ จิตเห็น เวลาเกิด ก็ต้องมีที่เกิดของจิตเห็น นั่นก็คือ จักขุปสาทะ (ตา) ทั้้งหมดนั้น ยังมีอยู่ประชุมพร้อมกันในขณะนั้น นี้แหละคือ ความหมายของอายตนะ ที่เป็นสภาพธรรมที่ประชุมกันในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ สี ก็เป็นอายตนะ (รูปายตนะ) จิตเห็น ก็เป็นอายตนะ (มนายตนะ) เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นก็เป็นอายตนะ (คือ เป็นธัมมายตนะ) และ จักขุปสาทะซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเห็นก็เป็นอายตนะ (คือ เป็น จักขวายตนะ) ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 30 มี.ค. 2557

แสง ไม่ใช่ เห็น แต่อาศัย ซึ่งกันและกัน จึงเกิดการเห็น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 30 มี.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การเห็นสีเป็นเฉดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าคนที่มีสีของลูกตา จมูก ปากหรือแม้กระทั่งริ้วรอยต่างๆ หรือการเห็นภาพในเฉดสีจากเข้มไปจาง ทำให้สัญญาจำได้ว่าสิ่งที่เห็นคืออะไรด้วยมโนทวารวิถี หรือแม้แต่สีที่รูปปากที่เบี้ยวบูดทำให้สัญญาจำว่านี่คือหน้าของคนโกรธ อย่างนั้นหรือไม่อย่างไรครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ขณะที่เห็นสี ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หากแต่ว่า ลักษณะของสีนั้น ที่เป็นสีต่างๆ ทำให้เกิดมโนทวารวิถีต่อ คิดนึก ในสีนั้น เห็นเป็นนิมิต รูปร่าง และเพราะอาศัย สัญญา ที่เคยทรงจำ เข้าใจว่าลักษณะหน้าตาแบบนี้ คือนึกคิดทางมโนทวารแล้ว ว่าหมายถึง คนที่โกรธ ก็ทำให้มีบัญญัติเป็นอารมณ์ รู้ว่าเป็นลักษณะหน้าของคนโกรธ โดยที่แท้ก็ต้องอาศัยเพียง สี สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เพียงเห็นเท่านั้นก่อน ครับ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ