คำกล่าวที่ว่าศึกษาธรรมเพื่อเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้ประจักษ์สภาพธรรมมีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่

 
thilda
วันที่  31 มี.ค. 2557
หมายเลข  24655
อ่าน  1,051

เรียนอาจารย์ทุกท่านค่ะ รบกวนสอบถามว่าคำกล่าวที่ว่า ศึกษาธรรมเพื่อเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น มีบอกไว้ชัดเจนในพระไตรปิฏกหรือไม่คะ และอยู่ในส่วนใดค่ะ รบกวนสอบถามเพื่อที่จะมีความมั่นใจและมั่นคงในการศึกษาต่อไปค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้ธรรมเกิดขึ้นได้ ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น รวมทั้งสติด้วย

สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิตและเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็ย่อมเป็นอกุศลทั้งหมด แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่าอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน และที่จะเป็นกุศลได้ ก็เพราะสติ เกิดขึ้นเป็นไป

สติเป็นธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรมแล้ว ใครๆ ก็บังคับบัญชาให้เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัย กว้างขวางมาก เพราะเป็นผู้เห็นประโยชน์ของความดี มีการคบบุคคลผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีนี้ เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย ครับ

การเกิดของสติ

ก็มีตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 203

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ฯ


อีกนัยหนึ่ง

สติปัฏฐาน ก็ต้องเริ่มจากเบื้องต้น คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม เพราะต้องการรู้ความจริงของธรรม แต่ถ้ายังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร ก็ไม่มีทางที่สติจะไปรู้ตัวธรรมได้เลยครับ เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงเหตุให้เกิดสติ คือ สัญญาที่มั่นคง ความจำที่มั่นคง ซึ่งหมายถึง ความจำในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันอาศัยการฟังพระธรรม แค่จำชื่อใช่ไหม ไม่ใช่ครับ เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่างเมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยครับ ดังนั้นไม่ใช่เพียงจำ ที่เป็นสัญญาเท่านั้น ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จึงกล่าวได้ว่าสัญญาที่มั่นคง หรือความจำที่มั่นคงพร้อมๆ กับความเข้าใจที่เกิดขึ้นด้วยครับ จึงเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดครับ ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ในเรื่องสภาพธรรม ขณะนั้นจำพร้อมความเข้าใจธรรม แต่ต้องฟังบ่อยๆ จำและเข้าใจบ่อยๆ จนในที่สุดก็จะเป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐานครับ

ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีตัวตัวตนที่เจริญสติ ไม่มีตัวเราทำสติให้เกิด แต่สตินั่นเองเกิดขึ้น หรือ เจริญขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า สติก็เป็นอนัตตาเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปกติ บ่อยๆ เนืองๆ จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับแล้ว ย่อมไม่ได้เหตุได้ปัจจัยให้สติเกิดขึ้นหรือเจริญขึ้นได้ เพราะเหตุว่าที่ตั้งให้สติระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมพิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งให้สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายความยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกคำในพระไตรปิฎก แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ และจุดประสงค์ในการศึกษา ตรง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อรู้ชื่อมากๆ จำได้มากๆ เป็นต้น ประโยชน์ก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องของปริยัติ คือ พระธรรมคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีทางที่จะสามารถจะถึงการประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริง ได้เลย

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๒

ปริยัติอันบุคคลเรียนดีแล้ว คือ จำนงอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณ มีสีลขันธ์เป็นต้นนั่นแล เรียนแล้ว ไม่เรียนเพราะเหตุมีความโต้แย้งเป็นต้น ปริยัตินี้ ชื่อว่าปริยัติมีประโยชน์ที่จะออกจากวัฏฏะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านั้น

อันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนานแก่กุลบุตรเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะอะไรเป็นเหตุ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะธรรมทั้งหลายอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว.


จะเห็นได้ว่าปัญญาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมาจากการเรียนปริยัติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยสาวกทั้งหลายอาศัยการศึกษาปริยัติธรรมแล้ว จึงถึงความเป็นพระอริยบุคคล จะไม่มีใครแม้แต่คนเดียว ซึ่งกล่าวว่าปัญญาที่ได้มาที่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น ไม่ได้เกิดจากการฟังพระธรรม ไม่สามารถที่จะกล่าวอย่างนี้ได้ เพราะปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง บุคคลผู้ที่เห็นคุณของพระรัตนตรัย มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ย่อมไม่ขาดการฟังพระธรรมซึ่งเป็นปริยัติธรรม

เพราะฉะนั้นแล้ว การศึกษาตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นไปตามลำดับ กล่าวคือ ผู้ศึกษาต้องฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก่อน ซึ่งเป็นการศึกษาในขั้นของปริยัติเมื่อฟังเข้าใจแล้วจึงน้อมประพฤติปฏิบัติตามคำสอน (ซึ่งไม่มีตัวตนที่ปฏิบัติ แต่เป็นธรรมปฏิบัติหน้าที่ของธรรม คือ สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ) เมื่อปฏิบัติตามคำสอนจึงจะมีผลคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมละกิเลสได้ตามลำดับขั้น (เป็นขั้นปฏิเวธ คือ การแทงตลอด การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม) ปฏิเวธจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และการปฏิบัติอย่างถูกต้อง จะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 มี.ค. 2557

สติ กับ ปัญญาจะเกิด เริ่มจากการฟัง ให้เข้าใจก่อน เป็นลำดับไป ค่่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Biggy
วันที่ 31 มี.ค. 2557

เคยได้ยินได้ฟังมา แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร หมายถึงอะไร ได้ฟังมาว่า

"ฟังธรรมให้เกิดความเข้าใจตามลำดับ ไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุด เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม จะเกิดสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ปฏิบัติกิจปรุงแต่งจิตให้ละคลายกิเลส จึงไม่ใช่เรื่องของตัวตนไปทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นการปฏิบัติกิจของสภาพธรรม สังขารขันธ์นี้จะทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้ผ่องใสจากกิเลส เจริญขึ้นมาจากการฟังธรรม"

อยากทราบว่าสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่ว่านี้คืออะไรหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

สังขารขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็น เจตสิก 50 หมายรวมทั้ง อกุศลเจตสิกและโสภณเจตสิก เจตสิกที่ดีงามด้วย ซึ่งการจะเกิด สติปัฏฐาน รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ต้องเริ่มจากการฟัง ศึกษาพระธรรม สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เกิดปัญญา ก็คือ ปัญญาขั้นการฟัง คือ ปัญญาเจตสิก ที่เป็นสังขารขันธ์ รวมทั้งเจตสิกที่ดีอื่นๆ เช่น ศรัทธา หิริ เป็นต้น ที่เป็นเจตสิกที่ดี ที่เป็นสังขารขันธ์ ครับ แต่ไม่ใช่ อกุศลเจตสิก ที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่รู้ความจริงครับ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ ในที่นี้ จึงหมายถึง โสภณเจตสิก มีศรัทธา หิริ และปัญญา เป็นต้น ในขั้นการฟังให้เข้าใจ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ