พุทธการกธรรม ธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  31 มี.ค. 2557
หมายเลข  24656
อ่าน  7,798

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

พุทธการกธรรม

พระโพธิสัตว์ ทุกพระองค์ หลังจากที่ ได้รับพุทธพยากรณ์ ครั้งแรกว่า ท่านจะได้เป็น พระพุทธเจ้า แน่แท้ ในอนาคต แล้ว ก็จะพิจารณา พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) ซึ่งพระโพธิ์สัตว์ องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่า มีอะไรบ้าง และจะต้อง บำเพ็ญ หรือ ปฏิบัติ ต่อข้อธรรม แต่ละข้อ อย่างไร

พระโพธิ์สัตว์ จะพิจารณา พุทธการกธรรม ทีละข้อๆ เมื่อพิจารณาจบ แต่ละข้อ ก็จะหา ต่อไปว่า ยังมีธรรมข้ออื่น ที่ต้องบำเพ็ญ อีกหรือไม่ ถ้าพบว่า ยังมีอีก ก็จะพิจารณา ต่อไปอีก จนครบทั้งหมด ๑๐ ข้อ ซึ่งก็คือ บารมี ๑๐ หรือ ทศบารมี นั่นเอง

พุทธการธรรม ที่พระโพธิสัตว์ พิจารณา และ เห็นว่า เป็นธรรมที่ ต้องบำเพ็ญ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า มีดังนี้

๑. ทานบารมี ในข้อนี้ พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ ทานบารมี เหมือนอย่าง หม้อน้ำ ที่มีน้ำเต็ม แล้วคว่ำลง หม้อน้ำนี้ ย่อมคายน้ำออก จนหมดสิ้น ฉันใด เราก็พึงให้ทานแก่ยาจก โดยไม่มีส่วนเหลือฉันนั้น

๒. ศีลบารมี ในข้อนี้ พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ ศีลบารมี เหมือนอย่าง จามรี ชื่อว่า จามรี ย่อมไม่อาลัยแม้ชีวิต รักษาพวงหางของตน ฉันใด เราก็พึง รักษาศีล โดยไม่อาลัยแม้ชีวิตฉันนั้น

๓. เนกขัมมบารมี ในข้อนี้ พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ เนกขัมมบารมี เหมือนอย่าง นักโทษ ที่ถูกขัง และได้รับทุกข์ทรมาน ในเรือนจำ เป็นเวลานาน เขาผู้นั้น ย่อมไม่อยากอยู่ ในเรือนจำ ต้องการพ้นออกไปฉันใด เราก็พึงเห็น ภพทั้งปวง เป็นเสมือน เรือนจำ อยากพ้นไปจากภพทั้งปวง ด้วยการมุ่งสู่เนกขัมมะ ฉันนั้น

๔. ปัญญาบารมี ในข้อนี้ พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ ปัญญาบารมี เหมือนอย่าง พระภิกษุ พระภิกษุ เมื่อออกบิณฑบาต โดยไม่เลือก ตระกูล ว่าจะมีฐานะ สูง ต่ำ หรือ ปานกลาง ย่อมได้อาหาร เพียงพอแก่อัตภาพ ฉันใด เราก็พึง เข้าไปหา บัณฑิตทุกท่าน เพื่อถามปัญหา ฉันนั้น

๕. วิริยะบารมี ในข้อนี้ พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ วิริยะบารมี เหมือนอย่าง พญาราชสีห์ ชื่อว่าพญาราชสีห์ ย่อมมีความเพียร ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถ ทุกเมื่อ ฉันใด เราก็พึงมี ความเพียรอันมั่นคง ในภพทั้งปวง ฉันนั้น

๖. ขันติบารมี ในข้อนี้ พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ ขันติบารมี เหมือนอย่าง แผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมทนได้ ต่อสิ่งของ ที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะ สะอาด หรือ สกปรก ฉันใด เราก็พึงเป็น ผู้อดทน ต่อ การยกย่องและการดูหมิ่น ของคนทั้งปวงได้ ฉันนั้น

๗. สัจจบารมี ในข้อนี้ พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ สัจจบารมี เหมือนอย่าง ดาวประกายพรึก ชื่อว่าดาวประกายพรึก ย่อมไม่หลีกออกไปทางอื่น โคจรอยู่เฉพาะ ในทางของตน ฉันใด เราก็พึง ไม่ก้าวล่วงจากวิถีในสัจจะ พูดแต่ความจริง ฉันนั้น

๘. อธิษฐานบารมี ในข้อนี้ พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ อธิษฐานบารมี เหมือนอย่าง ภูผาหิน ชื่อว่า ภูผาหิน ย่อมตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ฉันใด เราก็จงเป็น ผู้ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ในอธิษฐานบารมี ฉันนั้น

๙. เมตตาบารมี ในข้อนี้ พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ เมตตาบารมี เหมือนอย่าง น้ำ ชื่อว่าน้ำ ย่อมทำให้ รู้สึก และ ชำระฝุ่นผง ทั้งแก่ คนดี และ คนไม่ดี เสมอกัน ฉันใด เราก็พึง แผ่เมตตา ทั้งแก่ คนที่ทำประโยชน์ และ คนที่ไม่ได้ทำประโยชน์ เสมอกัน ฉันนั้น

๑๐. อุเบกขาบารมี ในข้อนี้ พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญ อุเบกขาบารมี เหมือนอย่าง แผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมวางเฉย ไม่รู้สึก ยินดียินร้าย ต่อสิ่งของที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะ สะอาด หรือ ไม่สะอาด ฉันใด เราก็พึงเป็น ผู้วางเฉย มีใจเสมอกัน ทั้งใน ความสุข และ ความทุกข์ ฉันนั้น

เมื่อพิจารณา จนเห็น พุทธการกธรรม ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ แล้ว พระโพธิสัตว์ ก็รู้ว่า ธรรมทั้งหลาย ที่พระโพธิสัตว์ องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญ มาแล้ว เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า มีเพียงเท่านี้ ไม่มีข้ออื่นอีก และ ธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีอยู่ แม้ในอากาศ หรือในทิศใดๆ เลย

"แต่ว่าตั้งอยู่ในใจของเราเท่านั้น เราพึงตั้งใจมั่นในบารมีเหล่านี้ทั้งหมด"

พระโพธิ์สัตว์ จะพิจารณา พุทธการกธรรม ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ทั้ง อนุโลม และ ปฏิโลม คือ จากต้นไปยังปลาย และ จากปลายย้อนกลับมายังต้น

เมื่อพระโพธิสัตว์ พิจารณา อยู่อย่างนี้ อยู่หลายรอบ แผ่นดินก็ไหว เกิดเสียงกัมปนาท มนุษย์และเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ต่างพากันมา บูชา พระโพธิสัตว์ ด้วยดอกไม้ และของหอม เป็นต้น กล่าวสดุดี พระโพธิ์สัตว์ว่า "วันนี้ ท่านปรารถนา ความปรารถนา อันยิ่งใหญ่ ขอ ความปรารถนานั้น จงสำเร็จ แก่ท่าน"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 31 มี.ค. 2557

มีธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ว่า

ดูก่อนสุเมธดาบส ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นผู้มีศีลบารมี หากท่านปรารถนา เพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ หางจามรีคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ถ้าปลดขนหางออกไม่ได้ มันก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้งสี่ อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต รักษาเฉพาะศีลเท่านั้น ในกาลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหางด้วยชีวิต ฉันนั้นเถิด"

จามรีขนข้องอยู่ หยุดปลด

ชีพบ่รักษ์รักษ์ยศ ยิ่งไซร้

สัตว์โลกอันสมมต มีชาติ

ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้ ยศซ้องสรรเสริญ

จามรี เป็นสัตว์ที่มนุษย์ผูกพัน มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะ ชนพื้นเมือง เช่น ชาวทิเบต, ชาวภูฏาน, ชาวเชอร์ปา เป็นต้น ด้วยการเลี้ยงในฐานะปศุสัตว์ มีการบริโภคเนื้อและนมของจามรีเป็นอาหาร อีกทั้งขนของจามรีก็ใช้เป็นเครื่องนุ่มห่ม และเป็นสัตว์พาหนะ ซึ่งจามรีสามารถที่จะบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักและเป็นพาหนะ ในการเดินขึ้นเขาหรือที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี จามรีเป็นสัตว์ค่อนข้างเชื่อง แต่มักจะตื่นกลัวคนแปลกหน้า

จามรี ในธรรมชาติ เมื่อพบกับศัตรู หรือ ผู้คุกคามจะหันบั้นท้ายมาชนกัน จะตีวงล้อมลูกอ่อน หรือจามรีวัยอ่อนให้อยู่ตรงกลาง เพื่อป้องกัน ในวัฒนธรรมของไทย ขนหางของจามรีสีขาวได้ถูกนำเป็นแส้ ที่เรียกว่า "วาลวีชนี" นับเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้อง นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 1 เม.ย. 2557

วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคศีล ปริเฉทที่ ๑ สีลนิเทศ หน้าที่ ๕๑ – ๕๕

พวกเธอ จงเป็นผู้ มีศีลเป็นที่รัก มีความเคารพศีล ตามรักษาศีล ในกาลทุกเมื่อ เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เหมือนมารดารักษาบุตรที่รัก เหมือนคนตาเอก รักหน่วยตาข้างเดียวฉะนั้น เถิด

แม้ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า “มหาสมุทร มีความดำรงอยู่ เป็นธรรมดา ไม่ไหลล้นฝั่งไป แม้ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ สาวกทั้งหลายของเรา ก็เหมือนอย่างนั้น ไม่ล่วงข้ามสิกขาบท ที่เราบัญญัติไว้แล้ว สำหรับสาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”

ก็แหละ ในอรรถาธิบายนี้ นักศึกษาพึงเล่าเรื่องทั้งหลายของ พวกพระเถระ ที่ถูกพวกโจรมัดไว้ ในดง ประกอบด้วย ดังนี้

เรื่องพระเถระถูกโจรมัด

ได้ยินว่า โจรทั้งหลาย มัดพระเถระ ด้วยเครือหญ้านาง ให้นอนอยู่ในดงชื่อ มหาวัตตนี พระเถระได้เจริญวิปัสสนาตลอด ๗ วัน ทั้งๆ ที่นอนอยู่นั่นเทียว ได้บรรลุพระอนาคามิผล แล้ว ถึงซึ่ง มรณภาพ ไปในดงนั่นเอง แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก ยังมีพระเถระรูปอื่นๆ อีก ในตัมพปัณณิทวีป (ประเทศลังกา) ถูกพวกโจร เอาเถาหัวด้วนมัด ให้นอนอยู่ เมื่อไฟป่าลามมา ท่านก็หาได้ตัดเถาวัลย์ไม่ เริ่มเจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์สมสีสี ปรินิพพานแล้ว พระอภยเถระผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ทีฆนิกายพร้อมด้วยภิกษุห้าร้อยรูปมาเห็นเข้า ได้ทำฌาปนกิจศพของพระเถระนั้น แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้

เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาแม้อื่น เมื่อจะชำระปาติโมกขสังวรศีลให้บริสุทธิ์ พึงยอมสละแม้กระทั่งชีวิตโดยแท้ ไม่พึงทำลายปาติโมกขสังวรศีล อันพระโลกนาถเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 1 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเก็บไว้อ่านนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 4 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ ขออนุญาตแชร์นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 2 ก.ค. 2559

ด้วยความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า

เราข้ามได้แล้ว จะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย

เราพ้นแล้ว จะให้ผู้อื่นพ้นด้วย

เราตรัสรู้แล้ว จะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย

ขออนุโมทนา ขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ