วจีกรรม เป็นกรรมที่คนประมาทที่สุดหรือคะ

 
Biggy
วันที่  31 มี.ค. 2557
หมายเลข  24659
อ่าน  4,952

ได้สนทนาธรรมกับเพื่อน เขาบอกว่าวจีกรรมนั้นเป็นกรรมที่ผู้คนประมาทกันที่สุด เพราะคนเรามักคิดว่ากรรมคือการกระทำ จึงไม่คิดว่าคำพูดจะเป็นกรรม และคนส่วนมากมักจะคิดว่าดูนิสัยคนต้องดูที่การกระทำ ชอบนึกว่าคนปากร้ายมักใจดี ซึ่งขัดกับหลักพระธรรม คนปากร้ายชอบพูดบ่นด่ากระทบกระเทียบเสียดสี ก็เป็นอกุศลกรรมบถ ใจขณะนั้นเป็นอกุศล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม คือ การกระทำ ไม่ได้หมายเพียงการกระทำทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำทางวาจา และใจด้วย ครับ เพราะกรรมก็คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ที่เป็น กุศลจิต อกุศลจิต เป็นต้น

ซึ่งเป็นผู้ละเอียดแล้ว ความประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่าความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ดังนั้น ขณะใดที่เป็นเพียงอกุศลจิตในใจ ชื่อว่าประมาทแล้ว แม้ไม่ได้แสดงออกทางกาย วาจาเลย ดังนั้น กาย วาจาไม่ดี มีได้ ก็เพราะอกุศลจิตที่เกิดขึ้นในจิตใจ เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ประมาทโดยมาก แม้ไม่พูด ไม่ทำ ก็เกิดจากใจที่ประมาท เพราะฉะนั้น ความประมาทโดยมากจึงเกิดทางใจเป็นสำคัญ ครับ

ส่วนกรณีปากร้ายใจดีนั้น หากเป็นการพูดในวจีทุจริต 4 คือ พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ จะกล่าวว่าเกิดจากจิตที่ดีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะต้องเกิดจากจิตที่เป็นอกุศลจิต แตกต่างกับการกล่าวด้วยความหวังดี แต่ด้วยคำพูดที่ดูเหมือนดุ แต่เกิดจากจิตเมตตา ซึ่งจะเป็นด้วยจิตอะไร อย่างไรนั้น รู้ได้ด้วยสติและปัญญาที่เกิดระลึกรู้ในขณะที่พูด หรือ ทำในขณะนั้น ครับ

ดังนั้น คนจะดู ดูที่การกระทำ ก็ต้องดูทั้งกาย วาจา และที่สำคัญ ใจของผู้นั้นเองที่จะรู้ได้ว่า เป็นกุศล หรือ อกุศล ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

* * มีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นไป มีกาย วาจา และ ใจ แล้ว ก็ไม่ควรที่จะมีไว้เพื่อพอกพูนกุศลให้มากขึ้น แต่ควรที่จะเป็นไปในทางที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญ * *

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๙

ข้อคิดที่เกี่ยวกับการพูด

การพูด เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องพูดคุยสนทนากับผู้อื่นอยู่เสมอ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ เวลาที่หิริ (ความละอายต่ออกุศลธรรม) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) มีกำลังขึ้น เกิดขึ้นเป็นไป ก็จะทำให้พูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น นึกถึงคนฟังมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เช่น พูดเหน็บแนมผู้อื่น คำพูดกระทบกระเทียบผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคำพูดที่ไม่บริสุทธิ์เลย เพราะจิตใจไม่สะอาด เป็นอกุศล วาจาหรือคำพูดก็เป็นไปตามจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้ โดยนึกถึงคนฟังเป็นสำคัญ ที่มุ่งถึงการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะโดยปกติของทุกคนแล้ว ย่อมชอบคำจริง คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ไม่ชอบคำเท็จ ไม่ชอบคำหยาบคาย ไม่ชอบคำส่อเสียด ควรที่จะได้พิจารณา ว่า แม้เราก็ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง จึงไม่ควรที่จะพูดคำอย่างนั้นๆ ออกไปให้คนอื่นได้ยิน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ได้

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่จะพูดนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะพูด ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกล่าวธรรม ให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีแก่ผู้อื่น เพราะคำพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นคำพูดที่มาจากจิตใจที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 มี.ค. 2557

อกุศลเกิดที่ใจมากกว่าออกมาทางกาย วาจา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Biggy
วันที่ 3 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ