ความเพลิดเพลินในความโกรธ?

 
papon
วันที่  31 มี.ค. 2557
หมายเลข  24660
อ่าน  1,228

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

กระผมเคยได้อ่านบทความหนึ่งของสหายธรรมในกระดานสนทนาเกี่ยวกับความเพลิดเพลินในความโกรธ (หรือว่าคือฉันทะในความโกรธ) เป็นอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แม้เพียงคำเดียว ฉันทะ คือ "พอใจ" นำไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย

พอใจ เป็น พอใจ ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างอื่น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลอย่างเดียว เช่น พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะติดข้องยินดีในสิ่งที่ตนเองต้องการปรารถนา เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะความพอใจ ที่มาจากภาษาบาลีว่า "ฉนฺท" (ฉันทะ) นั้น เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ ทั้ง กุศล อกุศล วิบาก และ กิริยา ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทาน เป็นกุศล ขณะนั้น ฉันทะ ก็เกิดร่วมด้วย หรือ ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลแล้ว ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย ขณะที่โกรธขุ่นเคืองใจ ก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ ความเพลิดเพลิน ที่เป็นโลภะ ที่ติดข้อง แต่เป็นฉันทะ พอใจที่จะโกรธต่ออยู่ในขณะนั้น ซึ่งขณะที่ติดข้อง ขณะนั้นไม่เกิดความโกรธ แต่ขณะที่พอใจที่จะโกรธอยู่ เพราะมีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์ที่นี่ ครับ

ผู้ถาม ฉันทะเป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นฝ่ายอกุศลก็ได้ใช่ไหม

ธี. ก็ต้องแยกว่าฉันทะเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ว่าอกุศลไม่ทั้งหมด เว้นโมหมูลจิต ๒ ประเภท ประเภท ๑ ก็คือวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือมีความสงสัยเกิดร่วมด้วย และก็อุทธัจจะสัมปยุตต์ ขณะนั้นจิตก็ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ขณะนั้นไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่เป็นโมหมูลจิต ๒ ประเภทนี้ ไม่มีใครที่พอใจจะสงสัยเพราะเกิดขึ้นมาเอง ลังเลสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไร ไม่มีใครมีความพอใจที่จะสงสัยอย่างนั้น แต่ว่าฉันทะจะไปเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ โทสมูลจิตก็ได้ พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะผูกโกรธ พอใจที่จะยินดีติดข้อง และฉันทะก็ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง นอกนั้นฉันทะเกิดได้หมด

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้ถาม สงสัยในความติดข้องของโทสะว่าลักษณะความติดข้องของโทสะ จริงๆ แล้วโทสะเป็นลักษณะที่ไม่อยากได้ คือเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโลภะ แต่ว่ามันก็มีความติดข้องใช่ไหม

สุ. โทสะติดข้องไม่ได้เลย ลักษณะที่ติดข้องเป็นลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของโทสะ แต่โทสะมีลักษณะของฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉันทะคือความพอใจ ไม่ใช่ความติดข้อง พอใจที่จะกระทำ แต่ไม่ใช่ความติดข้อง ชอบโกรธไหม

ผู้ถาม ไม่ชอบ

สุ. แล้วเวลาที่โกรธเกิด ขณะที่โกรธเกิดมีฉันทะที่จะโกรธไหม พอใจที่จะโกรธไหม

ผู้ถาม ก็พิจารณาได้ว่าขณะโกรธมีแต่ความไม่พอใจ ไม่ได้มองเห็นลักษณะของฉันทะที่อาจารย์กล่าว

สุ. จริงๆ แล้วถ้าไม่พอใจจะโกรธไหม ลองคิดดู ถ้าไม่พอใจจะโกรธหรือ เพราะฉะนั้นเวลาโกรธก็แสดงว่าพอใจที่จะโกรธ ถ้าไม่พอใจที่จะโกรธ จะโกรธไหม คำตอบก็คือว่าถ้าโกรธก็แสดงว่าต้องพอใจที่จะโกรธ

ผู้ถาม จริงๆ แล้วลักษณะของฉันทะเป็นความพอใจ

สุ. ในขณะจิตนั้น แต่ไม่ใช่ความติดข้องที่เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งโลภะติดข้องได้ทุกอย่างนอกจากโลกุตตรธรรม นิพพานไม่เกิดขึ้นที่จะให้โลภะพอใจได้เลย เพราะฉะนั้นจะไปติดข้องในนิพพาน หรือจะไปติดข้องในโลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ เพราะยังไงๆ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นโลภะที่จะติดข้องในสิ่งที่ไม่ประจักษ์ เพราะว่าโลภะจะประจักษ์ลักษณะของนิพพานไม่ได้ โลภะจะประจักษ์หรือมีลักษณะของโลกุตตรจิตเป็นอารมณ์ไม่ได้

ผู้ถาม อย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเหตุการณ์ที่เกิดว่าคนที่เราไม่ชอบมากๆ เลยและเขาได้รับทุกข์ และเราก็มีความพอใจ หรือพูดตามภาษาทั่วๆ ไปก็คือสะใจ ซึ่งการสะใจนี้ก็พิจารณาว่าเป็นลักษณะของโทสะ แต่ก็มีความพอใจที่เขาได้รับทุกข์

สุ. พอใจที่จะเป็นโทสะนั้น ในขณะนั้น

ผู้ถาม อันนี้ไม่ใช่ลักษณะพอใจที่เขาได้รับทุกข์ อันนี้เป็นลักษณะของฉันทะ ไม่ใช่โลภะหรือ

สุ. ในขณะที่เขาได้รับทุกข์ จิตของเราเป็นยังไง

ผู้ถาม จิตของเรารู้สึกดี

สุ. สบายใจแน่ๆ หรือคะ

ผู้ถาม เราก็เลยคิดว่ามันเป็นโลภะ

สุ. ดี สบายใจ หรือว่าพอใจ

ผู้ถาม พอใจ

สุ. ทีนี้เวลาที่เขากำลังได้รับสิ่งที่ไม่ดี ใจของเรา

ผู้ถาม ไม่มีเมตตาเลย และเราก็มีความรู้สึกว่าเมตตานี่เป็นองค์ธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะซึ่งเป็นอโทสะ เพราะฉะนั้นลักษณะตรงนี้มันก็น่าจะเป็น

สุ. ความติดข้อง ความพอใจในโทสะ โลภะพอใจในทุกอย่างได้ แต่ขณะที่โทสะเกิด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีฉันทะในโทสะ เพราะฉะนั้นโลภะก็มีกิจๆ ของโลภะ ไม่ใช่กิจเห็น ไม่ใช่ทัสสนกิจ ไม่ใช่กิจได้ยิน ไม่ใช่สวนกิจ ไม่ใช่สัมปฏิฉันนกิจ ไม่ใช่สันตีรณกิจ ไม่ใช่โวฏฐัพพนกิจ เพราะฉะนั้นกิจของโลภะก็คือชวนกิจ ซึ่งรูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นอาเสวนปัจจัย ถ้าชวนจิตที่เป็นโลภะดับไปแล้วก็ทำให้ชวนกิจประเภทนั้นเกิดอีก เสพอารมณ์ซ้ำอย่างนั้นอีกจนถึงขณะชวนะที่ ๖ เป็นปัจจัยให้ชวนะที่ ๗ เกิดขึ้นอย่างนั้น ตื่นขึ้นมาก็สบายใช่ไหมวันนี้ มีเหตุปัจจัยจากการสะสม เป็นอุปนิสสยปัจจัย เราไม่มีตัวตนที่จะไปจัดการจิตสักขณะหนึ่งให้เกิดขึ้นทำอะไรได้เลย แต่สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วก็แสดงถึงความจริงที่ต้องมีปัจจัย และปัจจัยก็มีมาก ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความโกรธสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อโทสะเกิดขึ้น ก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย ฉันทะ ก็มี เพราะเป็นความพอใจที่เป็นไปกับอกุศล เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

เป็นความจริงที่ว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้นนั้น ย่อมเดือดร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ และถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้น ย่อมหวังร้ายคิดร้าย ประทุษร้ายต่อผู้ที่ตนโกรธ ด้วยกาย ด้วยวาจา ให้เขาเป็นทุกข์ เดือดร้อน ปราศจากความสุขด้วยประการต่างๆ เช่น ทุบตี ประหัตประหาร เกรี้ยวกราด กล่าววาจาหยาบคาย เผ็ดร้อน รุนแรง เป็นต้น แม้จะมีคนคอยบอกคอยเตือนให้เห็นว่า ความโกรธไม่ดี ก็ไม่รับฟัง เพราะกำลังโกรธ เมื่อประทุษร้ายผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจาแล้วย่อมสาสมใจที่ได้กระทำเช่นนั้น นี้คือความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม และเมื่อการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นเกิดเพราะความโกรธ นั้น เป็นเหตุให้ผู้ที่กระทำกุศลกรรมนั้นเองเป็นผู้ได้รับผลของกุศลกรรมนั้น โดยประสบความวิบัติ ทุกข์ยากต่างๆ และเป็นเหตุให้เกิดในบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ตามควรแก่ความหนักเบาของกุศลกรรมนั้นๆ โดยไม่มีใครทำให้เลย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ความโกรธ เป็นกิเลสที่ประทุษร้ายจิตใจของตนเอง มีกำลังประทุษร้ายผู้อื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napachant
วันที่ 7 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ