ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๗
เวลาที่กล่าวว่าใครดีใครชั่ว เพราะอะไร? เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะเหตุว่า กายก็ดี วาจาก็ดี ตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม? ก็ไม่ได้
จุดประสงค์สูงสุดของการฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงการฟังเฉยๆ แต่จะต้องให้ถึงบรรลุสูงสุด คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ซึ่งถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรม จะไม่มีโอกาสที่จะดับกิเลสเลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ฟังทำไม พิจารณาธรรมทำไม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทำไม? เพื่อการดับกิเลส
ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ ผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ จึงไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น และเมื่อคิด ก็คิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น นั่นคือผู้ที่เป็นบัณฑิต
ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นเบียดเบียนตน แล้วเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย แต่ว่าขณะใดที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในขณะนั้นก็เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่น
ถ้าขณะใดที่เห็นแก่ตัว ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การเกื้อกูลตนเอง ไม่ใช่เกื้อกูลบุคคลอื่น
ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจเป็นมิตรกัน การกระทำและวาจาก็ย่อมจะทำให้ระลึกถึงกัน เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำเป็นการกระทำที่ดีต่อกัน และวาจาก็เป็นวาจาที่ดีต่อกัน นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงกุศลจิตในขณะนั้นได้
ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใดๆ ก็ตาม
กุศลไม่ใช่อยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่ข้าว ไม่ได้อยู่ที่อาหาร กุศลอยู่ที่จิต
การทำกุศลมีหลายประเภท การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ นักเรียนขาดแคลนอาหารกลางวัน คนเจ็บไข้ได้ป่วย ครอบครัวซึ่งกำลังทุกข์ยาก แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะเกิดกุศลจิต คือ อโลภะ ความไม่เห็นแก่ตัวขณะใด แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดจิตใจปลาบปลื้มโสมนัสได้ตามกำลังของกุศล
พระอรหันต์ดับทั้งกุศลและอกุศล เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นกุศลอยู่ ก็ยังเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ก็ยังไม่ชื่อว่าดับทุกข์ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เมื่อดับกิเลสแล้วก็ดับกรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม จิตของพระอรหันต์เป็นวิบากจิตและกิริยาจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ความลำบากทั้งหลายมาจากโลภะทั้งสิ้น ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ เริ่มตั้งแต่เช้า การบำรุงรักษาร่างกาย ตั้งแต่ตื่น บำรุงผิวด้วยสบู่ หรือว่าด้วยเครื่องบำรุงต่างๆ บำรุงผม บำรุงรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งเช้าถึงค่ำ ลองพิจารณาะว่า ทำตัวให้ลำบากไหม
ทางวาจา ก็มีเรื่องลำบากหลายเรื่องเหมือนกัน สำหรับบางท่าน เช่นพูดคำหลอกลวงคนอื่น ในขณะนั้นก็ลำบากแล้วใช่ไหม? ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ย่อมไม่ลำบาก หรือบางท่านก็ถึงกับใช้คนอื่นให้ไปว่าคนที่ตนไม่พอใจ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
จะว่าโลภะ ดีนั้น เป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นที่เข้าใจอยู่ว่า ทุกคนในโลกนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ถ้าปราศจากโลภะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โดยลักษณะสภาพแท้จริงของโลภะแล้ว เป็นอธรรม คือ ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดี โดยส่วนเดียวเท่านั้น
อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทำให้เป็นผู้ตรง
จะเห็นได้ว่า ที่กุศลจิตจะเกิดต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก (เจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท) เพราะเหตุใดจึงไม่ง่ายที่กุศลจิตจะเกิด เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้มีศรัทธา มีสติระลึกได้ มีหิริ ความรังเกียจอกุศล มีโอตตัปปะที่เห็นโทษภัยของอกุศล และถอยกลับจากอกุศล ยังจะต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกด้วย
วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ต้องอบรมเจริญกุศลต่อไปอีกๆ จนกว่ากุศลจะเพิ่มขึ้นๆ จริงๆ และในวันหนึ่งๆ ทุกคนซึ่งเป็นผู้ตรง ก็จะรู้ได้ว่า กุศลเกิดมากหรือน้อยเทียบกับเวลาของวันเวลาในวันหนึ่ง ตอนเช้ามีกุศลสักกี่ขณะ กี่เหตุการณ์ ตอนกลางวัน มีกุศลหรือเปล่า ตอนเย็นมีกุศลไหม หรือว่าโลภะบ้าง โทสะบ้าง และก็ความหวั่นไหวด้วยอคติต่างๆ บ้าง
ต้องการที่จะเจริญเมตตาหรืออยากจะท่องเมตตา? วันหนึ่งท่องมาก แต่ว่าไม่เมตตาเลย หรือว่าไม่ต้องท่อง แต่คิดถึงใครก็คิดด้วยจิตที่เมตตา และก็คิดแต่ประโยชน์ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แล้วเวลาที่พบกัน ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายมีปฏิสันถาร (ต้อนรับ) เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยากไหม? หรือไม่ยากเลย ง่ายมาก ซึ่งก็ต้องแล้วแต่จิตใจของแต่ละบุคคล พระธรรมเริ่มจะส่องเป็นกระจกอย่างดีที่จะเห็นทุกซอกมุมของจิตใจของตนเองว่า เป็นบุคคลประเภทใด แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วย
ธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมที่ตัวเองชัดเจนถูกต้อง
การฟังพระธรรม เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะโดยนัยใดๆ
ก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๖
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาขอบคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพอย่างยิ่ง
และท่านอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัยพร้อมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณคำปั่น อักษรวิลัย เป็นอย่างยิ่งครับ