ความสำคัญของบารมี 10 (การเจริญกุศลทุกประการ) และ การเจริญสติปัฏฐาน
1. หากว่าการสร้างบารมี 10 กับการเจริญสติปัฏฐานต่างก็ช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กิเลสขั้นหยาบและขั้นกลางก็ขัดเกลา ด้วย ทาน ศีล สมถภาวนา เป็นต้น กิเลสขั้นละเอียด ก็เริ่มจากศึกษาพระธรรม ระลึกรู้สภาพธรรมจนละการคลายเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน ไปเรื่อยๆ ในแต่ละชาติๆ เมื่อกิเลสขั้นหยาบ ขั้นกลาง ถูกขัดเกลา ลงไปๆ เรื่อยๆ เบาบางลงไป พร้อมกันนั้นกิเลสขั้นละเอียดก็ได้ถูกขจัดไปด้วย จนเข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน ซึ่งต้องเป็นไปตามลำดับขั้น บุคคลที่เข้าใจลักษณะเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ
2. เหตุที่ว่าถ้ากุศลจิตเกิดแทนอกุศลจิตมากขึ้นๆ (เมื่อได้ถูกขัดเกลาไปเรื่อยๆ ) เพราะเหตุใดจึงเป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้น (คือระลึกรู้สภาพธรรมได้บ่อยขึ้น) สำหรับผู้ที่ได้ศึกษา ได้ฟังพระธรรมมาก่อนครับ
3. ขณะชั่วเวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นน้อยๆ (ระลึกรู้สภาพธรรม) ชั่วขณะจิตหนึ่งนั้น ขณะนั้นเป็นการละคลายอัตตสัญญาที่พอกพูนมา ให้ค่อยๆ เบาลางลง ถูกต้องหรือไม่ครับ
ขอความเมตตาท่านอาจารย์ประจำมูลนิธิช่วยอธิบายเพื่อความสว่างของปัญญาให้เข้าใจพระธรรมได้ตรงและถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไปครับ ขอกราบอนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. ถูกต้อง ครับ เจริญกุศลทุกๆ ประการ พร้อมกับการศึกษาพระธรรม กุศลขั้นต่างๆ ก็เจริญและค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ และ ปัญญาที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ย่อมจะละกิเลสได้เป็นลำดับ อย่างไม่มีเหลือ คือ ไม่เกิดอีกได้ในอนาคตกาล แต่อาศัยกุศลประการต่างๆ ที่เป็นบารมี เกื้อหนุน ให้เดินในหนทางที่ถูกต่อไป ครับ
2.สภาพธรรมที่เป็นกุศลประการต่างๆ ที่ไม่ใช่ สติปัฏฐาน เมื่อเกิดบ่อยขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม ที่จะเกื้อหนุนปัญญา ที่เป็นโสภณธรรมให้เกิดสติปัฏฐานได้ เพราะธรรมที่เป็นโสภณธรรมแต่ละอย่าง ก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัยน แต่มี ปัญญา เป็นรากฐาน เป็นแกนหลักครับ แต่ปัญญาก็ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เกื้อหนุนด้วย เช่น ศรัทธา สติ เป็นต้น ครับ ที่เกิดจากกุศลประการต่างๆ เป็นบริวารในการเกื้อหนุน ดั่งคนที่จะเดินทางไกล หากไม่มีเสียง แม้ฉลาดรู้ในหนทาง ก็ไปไม่ถึง ทาง จุดหมายได้ ครับ แต่หากว่า เจริญกุศลทุกๆ ประการ ก็ทำให้เกื้อหนุนให้ปัญญาเกิดได้ และถึงจุดหมาย คือ การดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
3. อัตตสัญญา ความจำว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล อนัตตสัญญา คือ ความจำในความไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่เมื่อเราได้ยินคำนี้ จะต้องหมายถึง มีปัญญา เห็นถูกตามความเป็นจริง จึงจะจำถูกเช่นนี้ได้ครับ ซึ่งขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล มีสัญญาเกิดร่วมด้วยพร้อมปัญญา จึงเป็นการสะสม อนัตตสัญญาในแต่ละขณะ ครับ และก็ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ ละคลายความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคลไปทีละน้อย ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี เตือนทุกแง่มุมของชีวิต เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิตนั่นเอง ถ้าชีวิตของผู้ใดยังเป็นผู้ที่ทุศีล ยังเป็นผู้ที่มีทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เนืองๆ บ่อยๆ เป็นนิตย์ หรือว่าเมื่อกระทำให้มาก เสพคุ้นกับสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานบริบูรณ์ได้ สภาพจิตใจห่างไกลต่อการที่่จะรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรม อย่างแท้จริง
และที่สำคัญ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของกิเลส อกุศลและทุจริต โดยละเอียดนั้น ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า กิเลสนั้น มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย และ ถ้าละเลย ไม่สนใจที่จะสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จะขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะดับกิเลสจริงๆ เป็นสมุจเฉท แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าผู้ที่จะเจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง จึงต้องเป็นผู้มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน รู้สภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยิ่งรู้ละเอียดรู้ทั่ว รู้ชัดเจน ก็ยิ่งจะละคลาย และสามารถที่จะแทงตลอดสภาพธรรมตามเป็นจริง ในขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนั้น อกุศลใด ก็เกิดไม่ได้ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ไม่เกิด ก็เป็นการขัดเกลา ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...