กุกกุจจะ
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับ "กุกกุจจะ" คืออย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็ต้องทราบก่อนว่า กุกกุจจะ คือ อะไร? กุกกุจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น บางวาระโทสมูลจิตก็มีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระโทสมูลจิตก็ไม่มีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย กุกกุจจะเป็นสภาพธรรมที่เดือดร้อนรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว และ กุศลที่ยังไม่ได้กระทำ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กุกกุจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศเจตสิก ที่จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต เท่านั้น จะเกิดร่วมกับจิตชาติอื่น เช่น ชาติกุศล ชาติวิบาก และ ชาติกิริยา ไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศล เท่านั้น เพราะอกุศลเจตสิก ก็จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต เท่านั้น ตามสมควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ ขณะที่เดือดร้อนรำคาญใจที่ได้กระทำอกุศลกรรม และ ไม่ได้ทำกุศลกรรม นี้แหละคือ กุกกุจจะ แม้จะไม่ใส่ชื่อ ความเป็นจริงของธรรม ก็ไม่เปลี่ยน ขณะนั้น ไม่สบายใจประกอบพร้อมกับโทสะ และอกุศลเจตสิกประการอื่นๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ที่จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ ก็ต้องไม่กระทำอกุศลกรรม และ ไม่ละเลยโอกาสที่จะเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะขณะที่กุศลเกิดขึ้น นั้น อกุศลใดๆ เกิดไม่ได้เลยในขณะนั้น กุศลธรรม นี้เอง ที่เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุกกุจจะ
อกุศลธรรมทั้งปวงที่มี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกุกกุจจะเท่านั้น มีมากกว่านี้ จะดับให้หมดสิ้นไปได้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จะขาดปัญญาไม่ได้เลยทีเดียว พระอริยบุคคลทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ด้วยปัญญา ทั้งนั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ฟังพระธรรมท่านอาจารย์ตอนที่ 147 (พระอภิธรรมพื้นฐาน) รู้สึกกังวลใจกับอกุศลที่ได้ทำผ่านมาแล้ว จึงมีความประสงค์อยากจะศึกษาว่า สภาพธรรมที่มีตรงกันข้ามกับกุกกุจจะคือสภาพธรรมใดครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์กรุณาให้ปัญญาด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 3 ครับ
สภาพธรรมที่ตรงข้าม กับ กุกกุจจะ คือ ความไม่เดือดร้อนรำคาญใจ นั่นก็คือ กุศลธรรมนั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ เข้าใจอกุศลที่เกิดแล้ว แม้ กุกกุจะ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แต่ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงทางที่เป็นไปเพื่อละกุกกุจจะดังนี้ ครับ
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดง เหตุในการละ อุทธัจจกุกกุจจะ ไว้ 6 ประการ คือ
ความเป็นพหูสูต ๑ ความเป็นผู้สอบถาม ๑ ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย ๑ การคบหาคนเจริญแล้ว ๑ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑ การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ ๑.
ความเป็นพหูสูต คือ สดับ ฟังพระธรรมมาก และเกิดความเข้าใจพระธรรมนั้นด้วย เมื่อปัญญาเกิดจากการฟังมาก ย่อมทำให้ละความฟุ้งซ่านที่จะเกิดขึ้น เพราะมีปัญญาพิจารณาถูกต้อง และไม่เดือดร้อนรำคาญใจเพราะเข้าใจตามความเป็นจริง อันเกิดจากการฟังและเข้าใจมากครับ
ความเป็นผู้สอบถาม เพราะอาศัยการสอบถาม ผู้รู้ สิ่งที่สงสัยและทำเกิดความฟุ้งซ่าน เพราะไม่สามารถเข้าใจและหาคำตอบได้ ความฟุ้งซ่านในเรื่องนั้นก็หมดไปเมื่อได้คำตอบและเข้าใจในคำตอบที่ได้ถามนั้นครับ รวมทั้งความรำคาญใจ ก็ค่อยๆ คลายไปเพราะได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จากการสอบถามครับ
ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย คือ รู้ว่าข้อห้าม และข้อควรประพฤติของพระภิกษุคืออย่างไร ตัวพระภิกษุเอง ที่เข้าใจในพระบัญญัติ ย่อมประพฤติถูกต้อง ย่อมไม่เดือดร้อนรำคาญใจภายหลังในการประพฤติของท่าน และไม่ฟุ้งซ่าน เพราะอาจเกิดจากการกระทำผิดเพราะไม่รู้พระวินัยนั่นเอง แต่เมื่อรู้ ย่อมละความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนรำคาญใจได้ครับ
การคบหาคนเจริญแล้ว ก็ทำให้ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจก็ค่อยๆ ละ คือ คบหาผู้มีปัญญา ก็จะได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง และละความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ
ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร เพราะได้มิตรที่ดี มีคุณธรรม ย่อมทำให้เจริญในคุณธรรม มีปัญญา เป็นต้น ก็ย่อมละคลายกิเลสประการต่างๆ รวมทั้งความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจครับ
การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ คือ กล่าวในเรื่องที่ดี เรื่องที่ทำให้กุศลธรรมเจริญและเรื่องที่ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป มีการกล่าวพระธรรม เป็นต้น ย่อมละความฟุ้งซ่านที่เป็นอกุศลในขณะนั้นได้ครับ
อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านจะไม่เกิดขึ้นต่อไปเพราะอรหัตตมรรค หรือ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ กุกกุจจะ ความรำคาญใจไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค หรือบรรลุเป็นพระอนาคามีครับ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
ขออนุโมทนา ครับ