อุปาทาน ภพ ชาติ

 
natural
วันที่  9 เม.ย. 2557
หมายเลข  24693
อ่าน  3,138

จากที่ได้อ่านบทความทั่วไปเกี่ยวกับศาสนาที่ไม่มีการอ้างอิงที่มา ว่า

อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น

ภพ หมายถึง ลักษณะที่มีการแสดงออกมาเพื่อสนองความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น

ชาติ หมายถึง การเกิดความรู้สึกว่ามีเรา มีเขา มีตัวตน เพราะอุปาทาน

เรียนขอคำอธิบายเพิ่มเติมหรือข้อความจากพระไตรปิฎกเพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ตามสมควรค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปทานในพระพุทธศาสนา เรียกว่า ความยึดมั่นที่เป็นอุปาทาน มี 4 อย่าง คือ

1. กามุปาทาน (ความติดข้อง)

2. ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด)

3. สีลัพพตุปาทาน (ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด)

4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดถือว่าเป็นตัวตน)

กามุปาทาน (ความติดข้อง) คือ โลภะ ที่ยินดีดีพอใจในรูปเสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในรูปที่สวยมากๆ ขณะนั้นก็เป็นการยึดมั่นด้วยโลภะ คือ กามุปาทานแล้วครับ หรือ ขณะที่ชอบอาหารประเภทนี้มากๆ ก็มีความยึดมั่นด้วยโลภะ ที่พอใจในรสอาหารประเภทนั้น แต่ไมได้มีความเห็นผิด

ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด) คือ ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นประการต่างๆ เช่น มีความเห็นผิดว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี หรือ ตายแล้วไม่เกิดอีก หรือ ตายแล้วก็เที่ยง แน่นอน ไปอยู่ในสถานที่เที่ยงแน่นอน เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็น การยึดถือด้วยความเห็นผิด ที่เป็น ทิฏฐุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด อันเกิดจากความเห็นผิด อันสำคัญว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้บรรลุ ยกตัวอย่างเช่น การเดินกระโหย่งดังเช่นฤาษี คิดว่าเป็นหนทางบรรลุ การนอนบนตะปู ทรมานตน สำคัญว่าเป็นหนทางบรรลุ การอาบน้ำ ล้างบาป เป็นต้น ครับ

ภพ ตามพระไตรปิฎก มีหลากหลายนัยดังนี้

คำว่า ภพ มาจากภาษาบาลีว่า ภว (ว่าโดยศัพท์แล้ว มีหลายความหมาย หมายถึง ความมีความเป็น, ความเจริญ, ความเกิดขึ้นเป็นไป)

ภพ หมายถึง สถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔ หรือ หมายถึง ความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคลต่างๆ และ ในบางแห่งเช่น ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี ๒ ความหมายคือ

กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา โลกียกุศลเจตนา) และ

ปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา (โลกียวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย

ในอรรถกถาโลกสูตร แสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นภพใดๆ ก็ตาม ไม่พ้นไปจากขันธ์ คือ ความเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป.

ภพ ตามที่อรรถกถาอธิบายไว้ คือ เพราะ มี เพราะ เป็น จึงชื่อว่าภพ ดังนั้น ภพ คือ การเกิด การเป็นไป และการมี การเป็น ซึ่ง ก็ต้องพิจารณาครับว่า เป็นการเกิด การเป็นไปของอะไร และ อะไรที่มี ที่เป็น

ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน และ การทีมีสัตว์ บุคคล มี สวรรค์ นรก มีสิ่งต่างๆ เพราะ อาศัยการเกิดเป็นไปของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น มี ปรมัตถ์เกิดขึ้น จึงมีบัญญัติเรื่องราว ดังนั้น คำว่า ภพ จึงหมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ทั้งที่เป็น จิต เจตสิกและรูปด้วย อย่างเช่น ภพ คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าภพ และ แม้ที่อยู่ของสัตว์โลก ที่เป็นรูปธรรม ก็ชื่อว่า ภพ เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม

ซึ่ง ภพ ยังแบ่งเป็นอีกหลายนัยดังนี้ ครับ

1. สัมปัตติภพ

2. สมบัติสมภพ

3. วิปัตติภพ

4. วิปัตติสมภพ

สัมปปัติภพ คือ สุคติโลกสวรรค์

สมบัติสมภพ หมายถึง กรรมดีที่เป็นกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในสุคติ

วิปัตติภพ คือ อบายภูมิ มี นรก เป็นต้น

วิปัตติสมภพ คือ อกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ

ชาติ หมายถึง การเกิด ที่เป็นการเกิดของสภาพธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-อุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภเจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อุปาทานเป็นกิเลสที่มีกำลังยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นอุปาทานจึงไม่มีเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีความเห็นผิดที่เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นด้วย ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่จริงที่สุด

-ภพ มีจริงๆ เมื่อกล่าวโดยประมวลก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเป็นใคร ในภพใดก็ตาม ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเลย

-ถ้ากล่าวถึงจิต (และเจตสิก) แล้วก็ต้องหมายถึงการเกิดขึ้น ว่าทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ (ชาติ ในที่นี้ หมายถึง การเกิดขึั้น) กล่าวคือ เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก และเป็นกิริยา ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็กล่าวกล่าวถึงเจตสิกด้วย เมื่อจิตเป็นอกุศลชาติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดก็เป็นอกุศลชาติ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลชาติ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากชาติ อย่างเช่น ปฏิสนธิจิต กับ ภวังคจิต เป็นวิบากชาติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นวิบากชาติ เช่นเดียวกัน และเมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยาชาติ ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ชาติของจิต แล้ว จะไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของรูปธรรมเลย มุ่งหมายถึงเฉพาะการเกิดขึ้นของนามธรรมคือ จิตและเจตสิก เท่านั้น

แต่ถ้าเป็นชาติในปฏิจจสมุปบาท แล้ว ต้องหมายถึงการเกิดขึ้นของวิบากจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป ในขณะแห่งปฏิสนธิจิต ซึ่งก็คือ อุปัตติภพ อันเป็นผลมาจากกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมซึ่งเป็นกรรมภพ นั่นเอง ดังนั้น ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง ทั้งนามชาติ (คือ การเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ ทั้งรูปชาติ คือ การเกิดขึ้นของรูปธรรม ที่เป็นกรรมชรูป ด้วย [เจตสิกที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต นั้น มีทั้งสัญญาเจตสิก (สัญญาขันธ์) เวทนาเจตสิก (เวทนาขันธ์) พร้อมทั้งเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นสังขารขันธ์] ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 9 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 9 เม.ย. 2557

เท่าที่ทราบมาว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันเนื่องไปกับรูป เรียนถามเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงรูปจึงไม่มีชาติ และการเรียนรู้เรื่องชาติของจิตมีความสำคัญอย่างไรคะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 9 เม.ย. 2557

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก จิต (และเจตสิก) ไม่ได้ปะปนกันกับรูปเลย เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน เพราะจิตและเจตสิกเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ เกิดเมื่อใดก็ต้องรู้อารมณ์ ส่วนรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป แต่รูปก็เป็นปัจจัยแก่จิต ได้ และจิต ก็เป็นปัจจัยแก่รูป ได้ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ

ทีนี้ก็กลับมาที่คำว่า ชาติ ชาติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงชาติไทย ชาติจีน ชาติญี่ปุ่น เป็นต้น แต่หมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จึงไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ครอบคลุมทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าจะถามให้ได้คิดว่า จิต (และเจตสิก) เกิดไหม รูป เกิดไหม ก็ต้องเกิด นี้คือความเข้าใจเบื้องต้น จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ก็มี จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็มี จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก ก็มี จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา ก็มี จึงหลากหลายมากสำหรับจิตที่เกิดขึ้น และสำหรับรูปแล้ว ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างนามธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก

ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม มีเรื่องชาติของจิต เป็นต้น ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง มั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ทำให้มีการขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 10 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ