การสืบต่ออารมณ์ของชาติก่อน

 
natural
วันที่  13 เม.ย. 2557
หมายเลข  24712
อ่าน  2,711

จากการฟังสนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

…ต้องไม่สับสนค่ะ เมื่อเวลาพูดถึงชาติที่แล้ว หมายความว่า ปฏิสนธิจิตชาตินี้นะคะ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เวลามีตรานะคะ แล้วเราประทับตรา รูปของที่เราประทับแล้วกับตัวตราเหมือนกัน เสียงสะท้อนเหมือนเสียงเดิมไหมคะ หรือไปสะท้อนเสียงอื่น ไม่เปลี่ยนใช่ไหมคะ หมายความว่าก่อนจุติเนี่ยค่ะ จิตใกล้จะตายแล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมใด ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้จิตรู้อารมณ์ที่ทำให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดก่อนจุติจะเป็นชนกกรรม คือกรรมทำให้เกิด เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิด โดยมีอารมณ์สืบต่อจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน แต่เมื่อข้ามภพชาติก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิถีจิต เป็นอารมณ์ของชาติก่อนแต่ว่าสืบต่อ..

เรียนถามว่าอารมณ์สืบต่อกับชนกกรรมเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรคะ และรูปที่เกิดจากกรรมเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่สืบต่อจากชาติก่อนหรือไม่คะ เช่น ถ้าชาติที่แล้วมีรูปเป็นสัตว์แล้วชาตินี้มีรูปเป็นมนุษย์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชนกกรรม

ชนก (ผู้ให้เกิด) + กมฺม (เจตนาซึ่งเป็นผู้กระทำ) กรรมที่ให้ผลนำเกิด หมายถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๑ ดวง (เว้นโมห-อุทธัจจจสัมปยุตต์ ไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาล) และโลกียกุศลจิต ๑๗ ดวง ที่ได้โอกาสนำปฏิสนธิ คือให้ผลเป็นวิบากจิตและกัมมชรูปในปฏิสนธิกาล และยังให้ผลเป็นวิบากจิตทำกิจภวังค์ในปวัตติกาล ดำรงความเป็นบุคคงนั้นไว้จนกว่าจะสิ้นกรรม จึงให้ผลครั้งสุดท้ายทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำจุติกิจ

ซึ่งขณะที่ก่อนตาย ชวนจิตสุดท้าย จะต้องเกิด 5 ขณะ และอารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย มีรูปเป็นอารมณ์ได้ และ ปฏิสนธิจิตของชาติหน้า ก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้าย เช่น มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ส่วน ชวนจิตสุดท้าย ที่เป็น กุศล อกุศลก็ตาม ก็จะเป็นชนกกรรม นำเกิดในภพที่ดี หรือ ไม่ดี ตามแต่ว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศลในชวนจิตสุดท้ายครับ

ดังนั้น อารมณ์ที่สืบต่อ เช่น มีชวนจิตสุดท้าย มีรูปเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นก็เกี่ยวข้องกับ ชนกกรรม โดยการเป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้าย ให้ชนกกรรม คือเกิดปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น รวมทั้งปฏิสนธิจิตนั้นก็มีรูปเป็นอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายด้วยครับ นี่คือความเกี่ยวข้องกัน ตามที่กล่าวมา ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกส่วนของพระธรรมคำสอนที่ได้ยินได้ฟัง แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของกรรมที่นำเกิด เรื่องผลของกรรม เรื่องของจิต ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ

กว่าจะมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ เป็นมนุษย์ในสุคติภูมินั้น ก็เกิดมาแล้วนับไม่ถ้วนเพราะเหตุว่าสังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมอย่างไม่ขาดสาย นั่นเอง จิต เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ชวนจิตก่อนตายของชาติที่แล้ว ก็เป็นจิต จิตขณะสุดท้ายคือจุติจิตของชาติที่แล้ว ก็เป็นจิต และจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว ก็เป็นจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ และจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เพราะกุศลกรรมที่เคยได้กระทำแล้ว จึงทำให้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ เป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นพร้อมกับรูปที่เกิดจากกรรม ปฏิสนธิจิต (พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม และรูปที่เกิดจากกรรม ก็ต้องเป็นผลของกรรม ด้วย แสดงถึงความเป็นไปของธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เลือกไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอโทษด้วยค่ะ ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับวิบากจิตที่ทำกิจภวังค์ในปวัตติกาลดำรงความเป็นบุคคลนั้นที่มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายก่อนตาย พอจะมีตัวอย่างไหมคะ และโลกียกุศลจิต 17 ดวง มี กามาวจรโลกียกุศลวิบาก 8 ดวง แล้วอีก 9 ดวงเป็นวิบากจิตของบุคคลที่ทำฌานแล้วเกิดเป็นรูปพรหมและอรูปพรหมบุคคลใช่หรือไม่คะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนก เป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้ เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไปทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ซึ่ง ภวังคจิตที่เป็นผลของกรรม ที่ทำกิจดำรงภพชาติ ในปวัตติกาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ขณะที่หลับสนิท ภวังคจิตเกิดต่อเนื่อง ขณะที่หลับสนิท ไม่ใช่ขณะที่ตาย ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลนี้นั่นเอง และ มีอารมณ์เดียวกับ ชวนจิตก่อนตาย เพียงแต่ เราไม่สามารถรู้อารมณ์ในขณะที่ภวังคจิตเกิดขึ้นได้ ครับ แต่ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น

วิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นอกุศลวิบาก กล่าวได้ว่าวิบากทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นไป ต้องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตประจำวันเลย มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้นถึงจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้

ซึ่ง มหาวิบาก มี 8 ดวง อีก 9 ดวง ก็คือ รูปาวจรวิบาก 5 และ อรูปาวจรวิบาก 4 ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่าโลกุตตรจิตของพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ถ้ายังต้องเกิดอีก ปฏิสนธิจิตจะแตกต่างจากโลกียจิตอย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

โลกุตตรจิต ที่เป็นมรรคจิต ผลจิต ของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่นำเกิดปฏิสนธิครับ แต่ ปฏิสนธิของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นโลกียะ เพราะ ไม่ได้มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่มีรูป หรือ บัญญัติเป็นอารมณ์

ส่วน ปฏิสนธิจิตของปุถุชน กับ พระอริยะ เหมือนกันที่เป็นโลกิยะ แต่ต่างกัน ที่ปฏิสนธิจิตของปุถุชน มีอนุสัยกิเลสที่เต็มครบ แต่ปฏิสนธิจิตของพระอริยะ อนุสัยกิเลสดับหมดบางตัวตามระดับของพระอริยะ ครับ

ขออนุโมมนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 13 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 14 เม.ย. 2557

กรรมดีทำให้เกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นเทวดา กรรมไม่ดีทำให้เกิดในอบายภูมิ เช่น เกิดเป็นสัตว์นรก หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ