เมื่อเกิดทุกข์ คิดให้สุดอย่างไรจึงไม่ทุกข์คะ?

 
นิ้ง
วันที่  17 เม.ย. 2557
หมายเลข  24728
อ่าน  3,011

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเป็นคนที่มีความทุกข์มาก ทุกข์เพราะความคิดมาก แบกความคิดตัวเองไม่พอ ยังไปเอาความคิดคนอื่นมาแบกไว้บนบ่าอีก ก็รู้ว่ามันมีแต่ทำให้ไม่สบายใจ แถมยังเบียดเบียนสมองตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถระงับได้ทันที เพราะเมือความคิดเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถนำเรื่องอื่นมาเชื่อมโยงจนบ่อยครั้งทำให้ทะเลาะกับคนรอบข้าง ก็เพราะเราเป็นคนคิดมาก ขี้น้อยใจ ขี้โมโห แล้วชอบเอาไปสานต่อให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต บางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังทำให้เจ็บปวดอยู่จนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งนอนเอามือก่ายหน้าผากแล้วความคิดหนึ่งก็ปรากฏขึ้นในหัวว่า "เอ... เราเป็นคนคิดมาก ขี้น้อยใจ ขี้โมโห" แบบนี้หากวันหนึ่งนอนๆ อยู่แล้วเกิดตายไป ความคิดสุดท้ายก็คงไม่พ้นเรื่องเหล่านี้เป็นแน่แท้ แล้วภพภูมิที่ฉันจะไปก็คงไม่พ้นอบายฯ สัตว์นรก หรือ เดรัจฉานเป็นแน่แท้.. คิดแล้วก็ได้แต่กลัดกลุ้ม แม้จะได้ฟังคำสอนของเหล่านักปราชญ์มามาก แต่ก็ไม่สามารถ "ดับความคิดที่จะนำไปสู่ความทุกข์ ณ ตรงนั้นได้ทันที" จึงอยากถามว่าเมื่อเกิดความคิดที่จะนำไปสู่ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ดิฉันควรพิจารณาให้ถึงที่สุดอย่างไรคะ จึงจะทำให้สามารถปล่อยวางในความคิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าฉันลืมแล้ว แต่ลึกๆ ยังคงเจ็บปวดอยู่กับมันตลอดเวลา

ขออนุโมทนาบุญในคำตอบของทุกๆ ท่านค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจครับว่าทุกข์ใจคืออะไร ทุกข์ใจ คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น อันเป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี เป็นโทสมูลจิต ที่มีความรู้สึกที่เป็นเวทนาที่เป็นโทมนัสเวทนา จึงทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ดังนั้นเพราะมีกิเลส คือ โทสะอยู่ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจจึงไม่ใช่ผลของกรรม ที่เป็นขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่ความทุกข์ใจ เป็นอกุศลจิตที่เป็นกิเลส ที่เกิดได้ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ผู้ที่จะไม่ทุกข์ใจ คือ พระอนาคามี เพราะท่านดับโทสะหมดแล้วครับ จึงไม่เป็นเหตุปัจจัยให้ทุกข์ใจเลยครับ ดังนั้น สำหรับปุถุชน ผุ้ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา พบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก อันเกิดจากภัยธรรมชาติ ที่จะไม่ทุกข์ใจ คงเป็นไปไม่ได้ครับ เพียงแต่ว่าจะทุกข์ใจมาก หรือ น้อยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ใจไม่จำเป็นจะต้องถึงกับร้องไห้เศร้าโศก เพียงความไม่ชอบใจ ไม่สบายใจเพียงเล็กน้อยก็ทุกข์ใจแล้ว แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลส หากไม่มีปัญญาก็จะไม่รู้เลยครับว่ากิเลสเกิดขึ้นแล้ว ส่วนบางคนทุกข์ใจมาก ทุกข์ใจน้อย ก็แตกต่างกันได้ ตามการสะสมความคิดของแต่ละบุคคล ผู้ที่เข้าใจความจริงของโลก ความเป็นไปธรรมดา ก็ย่อมทุกข์ใจน้อยกว่า ผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่มีปัญญา เพราะผู้ที่มีปัญญาย่อมคิดถูกต้อง ถึงความไม่เที่ยง และเป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้นครับ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจ และติดข้องมากๆ ในสิ่งต่างๆ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจมากด้วยครับ

ทุกข์มีได้เพราะมีกิเลส ความรัก ความผูกพันก็เป็นกิเลส เพราะฉะนั้น มีรัก ติดข้องเมื่อใด ก็มีทุกข์ได้เป็นธรรมดา ผู้ที่ไม่มีทุกข์ คือ ผู้ที่ไม่รัก ไม่ติดข้อง ครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้องได้จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน. ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน. ความโศกย่อมเกิดแต่ความยินดี ภัยย่อมเกิดแต่ความยินดี ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความยินดี ภัยจักมีแต่ที่ไหน

--------------------------

และ ผู้ที่มีรักหนึ่งก็ต้องทุกข์หนึ่ง มีรักร้อยก็ทุกข์ร้อย ตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แสดงไว้ว่า ความรัก ความติดข้องความยินดีพอใจ เป็นโลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นกิเลสตัณหา เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ ไม่ใช่เพียงแค่ความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น ความรักพี่น้อง รักเพื่อน หรือ ความติดข้องยินดีพอใจในกามคุณ ๕ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ก็เป็นโลภะ เป็นตัณหาเหมือนกัน และที่สำคัญ ตัณหาเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง เพราะมีรัก เมื่อยังไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เพิ่มโลภะมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าผิดหวัง หรือ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เพราะยังมีตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ย่อมถูกดับไปด้วย

โลภะ (หรือตัณหา) เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมทำให้ไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะที่โลภะเกิด ย่อมมีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้คิดไปในทางที่ผิด การพูดก็ผิด การกระทำก็ผิด ทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์, ขณะที่กุศลจิตเกิด จึงไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย ทำให้ไม่รู้ความจริง แต่โดยนัยตรงกันข้ามเมื่อปัญญาเกิด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง

บุคคลผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ใคร่ที่จะละคลายกิเลสลง ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลทุกๆ ประการ สะสมอุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติทุกๆ วันเพื่อละคลายกิเลสของตนเอง บุคคลประเภทนี้ เป็นบัณฑิต ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ ด้วยเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง สะสมความเข้าใจถูกต่อไป เพราะคนอื่นหรือทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่ที่พึ่่งที่แท้จริงในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่จะติดตามไปในภพหน้าได้ แต่ความดี และปัญญาที่สะสมไว้ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะสะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ครับ.

นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาของความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ในความเป็นปุถุชนที่ยังหนาด้วยกิเลสและเต็มไปด้วย ความติดข้องที่เป็นโลภะ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์และเพราะมีอวิชชา ความไม่รู้จึงต้องมีการเกิดและต้องทุกข์กายและใจเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงไม่ใช่การบอกวิธีให้ทำใจหายจากทุกข์ได้ทันที แต่ต้องเข้าใจความจริงที่เกิดแล้วว่าทุกข์มีจริง

ประโยชน์ที่จะคลายโศก ทุกข์ใจจริงๆ คือ การแก้ที่ต้นเหตุ คือ เหตุคือ กิเลสประการต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ ที่ทำให้เกิดความรัก มีโลภะ เป็นต้น เป็นเหตุให้ทุกข์ใจ การแก้ที่ต้นเหตุ คือ อบรมธรรมฝ่ายตรงกันข้ามที่จะละกิเลส คือ ละโลภะได้ด้วยการเจริญปัญญา ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ต้องไม่ลืมว่า กิเลสมีมากและสะสมมาเนิ่นนาน จะให้หายทุกข์ใจ ทำใจได้ทันทีคงเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะปัญญามีน้อยมาก ต้องค่อยๆ สะสมไป แต่การเริ่มจากเหตุที่ถูก ในการจะละความทุกข์ได้จริง ดีกว่า ประเสริฐกว่าการจะทำให้ทุกข์หายไปทันทีด้วยเพียงการปลอบใจอย่างชาวโลกครับ เพราะเดี๋ยวก็ต้องทุกข์อีกแน่นอนครับ แต่ผู้ที่เริ่มสะสมเหตุที่ถูกคือการอบรมปัญญา แม้จะทุกข์บ้างเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ก็ค่อยๆ ละทุกข์ได้ทีละน้อยด้วยปัญญา และในที่สุดวันหนึ่งก็ละทุกข์ได้จริงๆ ครับ ดังนั้นในพระพุทธศาสนา จึงทำใจไม่ได้ เพราะบังคับให้เป็นไปตามต้องการไมได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริงได้ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 359

[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิด-

เพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละ จึงมี

ทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน

ไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง กล่าวคือ เป็นนามธรรม (จิตกับเจตสิก) ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เราที่คิด ที่สำคัญคือความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ขณะที่เข้าใจถูก จะไม่มีความเดือดร้อนใจเลย

ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน เป็นจิตแต่ละขณะเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย สำหรับปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยด้วยกิเลส ยังเต็มไปด้วยกิเลสทุกๆ ประการ เพราะละกิเลสอะไรๆ ยังไม่ได้ การคิดด้วยอำนาจของกุศล จึงมีมากกว่า ขณะที่จิตเป็นกุศลเกิดน้อยมาก ดังนั้น ถ้าคิดดี ก็เป็นความดี เป็นประโยชน์ ไม่เคยนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้ใคร เลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าคิดไม่ดีแล้ว อย่างไรก็ต้องไม่ดี เพราะเป็นอกุศล จะดีได้อย่างไร อกุศลเกิด จะน้อยจะมากก็มีโทษโดยส่วนเดียว

การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม จึงเป็นกระจกที่ส่องให้เรารู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า มีกิเลสมาก แล้วพร้อมที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการเจริญกุศลทุกๆ ประการ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ต่อไป คิดก็คิดดี พูดก็พูดดี ทำก็ทำดี คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น และที่สำคัญเพราะมีการฟังพระธรรม เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ จะเกื้อกูลให้มีการคิดถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง มากขึ้น แทนที่จะไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 18 เม.ย. 2557

ยังไม่มีปัญญาก็ยังละทุกข์ไม่ได้ แต่จะต้องรู้จักทุกข์ โดยการฟังพระธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
worrasak
วันที่ 29 เม.ย. 2562

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 29 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ