วิบากจิต 36

 
papon
วันที่  22 เม.ย. 2557
หมายเลข  24749
อ่าน  8,414

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

วิบากจิต 36 มีความละเอียดอย่างไรบ้างครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิบากชาติ วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) ชาติ (การเกิด , จำพวก) คือการเกิดเป็นวิบาก , จำพวกวิบาก หมายถึง วิบากจิต ๓๖ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นผลของกรรม คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน

วิบากจิตมี ๓๖ วิบากจิต ๓๖ ได้แก่ อเหตุวิบาก ๑๕ มหาวิบาก ๘ มหัคคตวิบาก ๙ ผลจิต ๔ รวมเป็น ๓๖

อเหตุกวิบากจิต

อเหตุก (ไม่มีเหตุประกอบ) + วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต)

วิบากจิตที่ไม่มีเหตุเจตสิกประกอบ หมายถึง วิบากจิต ๑๕ ดวง ที่ไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง

๑. อุเบกขาจักขุวิญญาณ ๑. อุเบกขาจักขุวิญญาณ

๒. อุเบกขาโสตวิญญาณ ๒. อุเบกขาโสตวิญญาณ

๓. อุเบกขาฆานวิญญาณ ๓. อุเบกขาฆานวิญญาณ

๔. อุเบกขาชิวหาวิญญาณ ๔. อุเบกขาชิวหาวิญญาณ

๕. สุขกายวิญญาณ ๕. ทุกขกายวิญญาณ

๖. อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต ๖. อุเบกขาสัมปฏิจฉันนจิต

๗. อุเบกขาสันตีรณจิต ๗. อุเบกขาสันตีรณจิต

๘. โสมนัสสันตีรณจิตอเหตุกกุศลวิบากทุกดวง (เว้นสันตีรณจิตทั้ง ๒) รู้อารมณ์ที่ดีปานกลาง (อิฏฐมัชฌัตตารมณ์) หรืออารมณ์ที่ดียิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) ก็ได้

ส่วนอุเบกขาสันตีรณจิตรู้อารมณ์ที่ดีปานกลางเท่านั้น

โสมนัสสันตีรณจิตรู้อารมณ์ที่ดียิ่งเท่านั้น

อกุศลวิบากทุกดวงรู้อารมณ์ที่ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) เท่านั้น

มหาวิบากจิต มหา (ใหญ่ , มาก) + วิบาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต) วิบากจิตซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามโสภณวิบากจิต หรือกามาวจรสเหตุกวิบากจิตก็ได้

เป็นทวิเหตุกะ (เหตุ ๒) และติเหตุกะ (เหตุ ๓) อย่างละ ๔ ดวง เหมือนมหากุศลจิต และมหากิริยาจิต ที่ชื่อว่า มหาวิบาก มิได้เป็นไปในอาการมากมายเหมือนมหากุศลและมหากิริยาแต่เพราะเป็นผลของมหากุศลจิต จึงมีชื่อตามมหากุศล

เพราะมหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพณกิจ ไม่สามารถเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไม่มีอธิบดี ๔ ไม่ทำให้เกิดวิญญัติรูป ไม่มีกรุณาและมุทิตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งวิรตี ๓ ก็ไม่เกิดกับมหาวิบาก มหาวิบาก ๘ ดวง มีความต่างกัน ๓ อย่าง คือ เวทนา ๑ (เป็นโสมนัส ๔ ดวง และอุเบกขา ๔ ดวง) สัมปยุตต์ ๑ (เป็นญาณสัมปยุตต์๔ ดวง และญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง) สังขาร ๑ (เป็นอสังขาริก ๔ ดวง และสสังขาริก ๔ ดวง) ชื่อบาลีเหมือนมหากุศลจิตทุกประการ

รูปาวจรวิบากจิต

รูป (รูป) + อวจร (ท่องเที่ยวไป) + วิปากจิตฺต (จิตที่เป็นผล)

วิบากจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภูมิเท่านั้น หมายถึง รูปฌานวิบากจิตซึ่งเป็นผลของรูปฌานกุศล สำหรับบุคคลที่ได้รูปฌานกุศลจิต แล้วไม่เสื่อมก่อนสิ้นชีวิต ในขณะจะมรณะ รูปฌานกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิตในมรณาสันวิถี คือวิถีจิตสุดท้ายใกล้ตาย มีผลทำให้รูปฌานวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ และทำภวังคกิจสืบต่อความเป็นรูปพรหมบุคคลจนกว่าจะสิ้นกรรม และทำจุติกิจเคลื่อนจากความเป็นรูปพรหมบุคคลเมื่อสิ้นกรรมแล้ว

รูปาวจรวิบากจิตมี ๕ ดวง คือ ...

๑. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๑ มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

๒. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๒ มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

๓. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๓ มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา

๔. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๔ มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข และเอกัคคตา

๕. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๕ มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตา

รูปวจรวิบากจิต ๕ ดวง เกิดได้ในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ เพราะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในรูปพรหมภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้น

อรูปาจรวิบากจิต ๔ ดวง

๐ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตฺต ๐ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตฺต 

๐ อากิญฺจญฺญายตนวิปากจิตฺต ๐ เนวสญฺญานาสญฺญายตนวิปากจิตฺต เมื่ออรูปาวจรวิบากจิตดวงใดดวงหนึ่งปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นอรูปพรหม บุคคลในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของอรูปฌานจิตนั้นแล้ว ก็ดำรงความเป็นอรูปพรหมบุคคลนั้นๆ จนกว่าจะจุติเมื่อสิ้นอายุของพรหมภูมินั้นๆ ระหว่างที่เป็นอรูปพรหมบุคคลนั้น ไม่มีรูปขันธ์ใดๆ เกิดเลย มีแต่นามขันธ์ ๔ เท่านั้น จึงเป็นอรูปพรหมบุคคล

โลกุตรวิบากจิต

โลกุตฺตร (เหนือโลก) + วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต) วิบากจิตที่เป็นโลกุตรภูมิ หมายถึง ผลจิตทั้ง ๔ ดวง คือ โสดาปัตติผลจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตผลจิต ซึ่งเป็นผลของโลกุตรกุศลกรรม คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลกุตรกุศลจิตที่ให้ผลไม่มีระหว่างคั่น เรียกว่า อกาลิโก หรืออกาลิกธรรม (ผลจิตเกิดต่อจากมรรคจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น ในมรรควิถีเดียวกัน)

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

รู้วิบากหรือรู้เรื่องวิบาก

สุรีย์ ดิฉันเรียนถามท่านวิทยากรมีอะไรเพิ่มเติมจากคราวที่แล้วไหมคะ เรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ

สุ. คือเรื่องจิตนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันไม่รู้จบจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพของธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีจริงๆ นั้น ก็มีเพียง ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน เรื่องของพระนิพพานนั้นก็ยกไว้ก่อน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูป จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดถึงพระนิพพาน หรือว่าอยากจะถึงพระนิพพาน เพราะเหตุว่าการศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แล้วไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้ว แม้แต่เรื่องของวิบาก ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจวิบากแล้ว ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นฟังเรื่องของจิต แล้วก็คิดว่าอ่านหนังสือจบไปหลายหน้าแล้ว แต่ไม่ว่าจะอ่านหนังสือจบไปหลายหน้า หรือว่าหลายเล่ม หลายเดือน หลายปี ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส คิดนึกในขณะนี้

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟัง ฟังเรื่องจิตก็ไม่รู้จบ หรือว่าเรื่องเจตสิกเรื่องรูปก็ไม่รู้จบ เพราะเหตุว่านอกจากฟังแล้ว ยังมีสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่ว่าผู้ที่ได้เรียนแล้ว รู้จริงตามที่ได้เรียนหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษา ค่อยๆ ศึกษาไปพร้อมกับสังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมมีประโยชน์ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องธรรมที่กำลังพูดถึง ละเอียด ชัดเจน ตรง ถูกต้องขึ้น มากกว่าเพียงรู้โดยคำ เช่น คำว่าวิบาก แล้วก็บอกว่าเป็นผลของอดีตกรรม เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นสภาพของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะที่เห็น

ขณะนี้ทุกคนเห็น ก็จะต้องเข้าใจว่า เป็นวิบากอย่างไร ยังไม่ใช่กุศล ยังไม่ใช่อกุศล นี่เป็นการที่จะต้องมีสติ หรือสติจะต้องเกิดขึ้น เพื่อที่จะแยกได้ ขณะนี้ทุกคนก็เห็น แล้วก็เห็นมาแล้ว แล้วก็กำลังจะเห็นต่อไป แต่สติเกิดระลึกที่จะรู้วิบาก ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นในขณะนี้ ไม่ใช่ความชอบหรือความชัง หรือการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งจะต้องคู่กันไปกับการศึกษา ถ้าพูดเรื่องวิบาก แล้วก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย คือไม่ใช่เรื่องรูป หมายความว่า จิตที่รู้หรือเห็นทางตา รู้หรือได้ยินเสียงทางหู พวกนี้ ก็ขอให้พยายาม คือ ขณะนั้นเป็นสัมมาวายามะ แล้ว สัมมาสติก็เกิดแล้ว ที่จะรู้ในความหมายจริงๆ ของวิบาก เพื่อที่จะได้แยกโดยการรู้ว่าขณะที่คิด นึกเป็นเรื่องราว หรือขณะที่กำลังชอบกำลังชังก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก แล้ว มีใครที่พอ จะเข้าใจพิจารณาและเข้าใจวิบาก โดยที่ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อบ้างไหมคะ ก่อนที่จะไปถึงวิถีจิต

สุรีย์ สำหรับวิบาก สำหรับผู้เริ่มเรียนใหม่ๆ จะแยกไม่ออกว่า วิบากอยู่ตรงไหน อย่างสมมติว่าเราเห็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่เข้าใจว่าอันนั้นเป็นวิบาก สิ่งที่เราไม่ชอบเราคงไปทำอะไรไม่ดีไว้ เราจึงเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ดิฉันคิดได้แค่นี้ แต่คิดไม่ถึงว่าวิบากนั้นมันเป็นอย่างไร

สุ. ค่ะ อันนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะว่าเคยทำกรรมมาไม่ดีก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือว่าไม่น่าพอใจ นี่เป็นเรื่องของวิบากอีก แต่ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้วิบาก

สุรีย์ อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาแนะนิดหนึ่งว่า กำลังรู้วิบากกับเรื่องวิบากนั้น ต่างกันอย่างไร

สุ. ที่พูดมาทั้งหมด ที่เป็นเรื่องเคยกระทำกรรมมาแล้ว ขณะนี้เป็นเรื่องของวิบาก แต่ถ้าในขณะที่กำลังเห็น นี่ต้องมีสติแน่นอนถึงจะรู้วิบากได้ แล้วต้องเป็นสติขั้นที่ระลึกได้ รู้ในขณะที่กำลังเห็นว่า สภาพหรืออาการเห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ เป็นสภาพรู้หรืออาการรู้ นี่ก็เป็นเรื่องยาว แล้วก็จะต้องเป็นเรื่องที่อบรมไปตลอดชีวิตคู่กันไปกับการฟังพระธรรม เพื่อที่จะมีสิ่งที่จะทำให้สามารถละคลายการยึดถือเห็นในขณะนี้ว่าเป็นตัวตนได้

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านก็เป็นห่วง เพราะว่าท่านก็อายุมาก ท่านก็บอกว่าท่านอยากจะรู้วิธีที่จะเอาใจไปไว้ตรงไหนก่อนจะตาย ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์มาก เพราะท่านมีความรู้สึกว่า อาจจะเป็นทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพานได้

ลืมเสียเรื่องจะถึงพระนิพพาน โดยไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านก็บอกว่า ท่านเคยเอาใจไปไว้ที่พุทโธ หรือลมหายใจ หรืออะไร แล้วผลก็คือว่าไม่มีความเข้าใจอะไร ก็เรียนให้ท่านทราบว่า ทุกอย่างที่เป็นการที่จะไม่ให้เกิดปัญญาแล้ว เลิกเสีย ไม่มีประโยชน์เลย ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้มี

เพราะฉะนั้นการที่จะถึงพระนิพพาน จะต้องจากการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีแล้วในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องทำค่ะ เลิกเรื่องทำ แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความละเอียดของพระธรรมที่จะต้องค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ

ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้นก็ไม่พ้นไปจากขณะที่เป็นการได้รับผลของกรรมกับ ขณะที่เป็นการสะสมเหตุ ที่เป็นกุศล บ้าง เป็นอกุศล บ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ขณะที่เป็นกุศล เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เป็นต้น นี้ คือ การสะสมเหตุที่ดี และ ยังเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดีในภายหน้าด้วย แต่เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าผลหรือวิบากจะเกิดขึ้นเมื่อใด ในทางตรงกันข้าม อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ทั้้งความติดข้องยินดีพอใจ ทั้งความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น ถ้ายังไม่มีกำลังถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยังไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า แต่ถ้ามีกำลังล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เมื่อใด ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ อกุศลทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาทเลย เพราะมีแต่โทษเท่านั้น ที่ควรจะเข้าใจคือ เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

สำหรับวิบาก ก็ได้แก่ ขณะทีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรม รู้สิ่งที่กระทำสัมผัสทางกาย ตลอดจนถึงขณะที่หลับสนิท กล่าวว่าเป็นวิบาก ซึ่่งก็คือ จิต และเจตสิกธรรม เกิดขึ้นเป็นการรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง วิบากทั้งหมด ต้องมาจากเหตุ คือ กรรมที่กระทำแล้ว ทั้งหมด

ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประเภท สรุปแล้ว ได้แก่ อเหตุกวิบาก ๑๕ มหาวิบาก ๘ รูปาวจรวิบาก ๕ อรูปาวจรวิบาก ๔ และ ผลจิตที่เป็นโลกุตตรวิบาก อีก ๔ รวมแล้ว ก็เป็นวิบาก ๓๖ ซึ่งเมื่อศึกษาก็ทำให้เข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า วิบากก็เป็นธรรม และ สำหรับแต่ละคน ก็ไม่พ้นไปจากวิบาก ยังได้รับผลของกรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมเที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 เม.ย. 2557

วิบาก คือ ผลของกรรม เช่น เห็นขณะนี้เป็นวิบาก เห็นรูปที่ดีเป็นกุศลวิบาก เห็นรูปที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขออนุญาตเรียนถามจากย่อหน้า วิบากจิตซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิต ว่า ไม่มีอธิบดี ๔ ไม่ทำให้เกิดวิญญัติรูป หมายความว่าอย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 23 เม.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 30 เม.ย. 2557

Anumodhana ka

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 17 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
palsawangpattanagul
วันที่ 7 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ​

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jans
วันที่ 12 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ