กรรมบถ มโนกรรม ข้อพยาบาท มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไรครับ

 
rukawa119
วันที่  22 เม.ย. 2557
หมายเลข  24751
อ่าน  4,043

ขอเรียนสอบถามท่านอาจารย์ประจำมูลนิธิทุกท่านว่า

1. อกุศลกรรมบถข้อที่เป็น มโนกรรม ซึ่งมีองค์ 2 คือ

(๑) ปรสตฺโต ผู้อื่น สัตว์อื่น (๒) วินาสจินฺตา มีจิตคิดทำลาย เพื่อให้ผู้นั้น สัตว์นั้น ประสบความพินาศ

อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความและยกตัวอย่าง ระหว่างปาณาติบาต กับ พยาบาททางมโนกรรม ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน เช่น โกรธแล้วลงมือฆ่า หรือ คิดที่จะฆ่าแต่ยังไม่ได้ฆ่า อันไหนสำเร็จเป็นกรรมบถทางใด ครับ

2. พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันละพยาบาท ในลักษณะไหนได้บ้างครับ เช่น ท่านไม่คิดเบียดเบียน ไม่คิดให้สัตว์พินาศ หรือลักษณะอย่างไร เพราะพระโสดาบันยังไม่ได้ดับโทสมูลจิตได้ขาด

3. หากมีจิตเป็นอกุศลวิตกขึ้นมาว่า น่าจะตอบโต้ เช่น น่าจะทำร้าย น่าจะด่ากลับไป อย่างนี้สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถทางมโนทวารหรือไม่ครับ

4. การค้าขายสัมมาอาชีพในปัจจุบันมีการแข่งขัน เช่น ถ้าสินค้าเรามีลิขสิทธิ์แล้วคู่แข่งก็อปปี้สินค้าเรา ทำสินค้าให้เหมือนเรา แย่งลูกค้าไปจากเรา คราวนี้เราพยายามแก้ไขรูปแบบการค้าเพื่อสู้คู่แข่ง ให้ลูกค้ากลับมา เช่นการโปรโมท การประชาสัมพันธ์ ทีนี้คู่แข่งแพ้เรา อย่างนี้เป็น อกุศลกรรมบททางมโนทวารหรือไม่ครับ ที่เราต้องการให้ชนะคู่แข่งทางการค้า

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลที่ท่านอาจารย์เมตตามาตอบครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. แสดงถึงกำลังของกิเลสที่แตกต่างกันไป และ ทวารที่เกิดขึ้นเริ่มแรก สำหรับปาณาติบาต ก็สำเร็จด้วยทางกาย ทางวาจา ซึ่งไม่ได้มีกำลังของกิเลสที่คิดวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าผู้อื่น แตกต่างจากมโนกรรมที่คิดวางแผนฆ่าผู้อื่น อย่างนี้ถึงจัดเป็นมโนกรรม ส่วนปาณาติบาต อาจพบสัตว์เฉพาะหน้า เช่น ยุงมากัด ก็ตบไป ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่ายุง ครับ แต่มโนกรรมที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ ก็ด้วยการวางแผนที่จะฆ่าคนอื่น และกรรมนั้นสำเร็จ ทำให้ผู้อื่นตายจากการวางแผนคิดในใจนั้น ครับ

เพราะฉะนั้น เพียงคิดในใจ ยังไม่ได้ลงมือฆ่า ไม่มีทางสำเร็จเป็นกรรมบถ ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงอยู่เพียงใจ คิดไปเถอะค่ะทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่นอยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกไปอยากจะได้ของของเขา จะเป็นการได้ของบุคคลอื่นมาได้อย่างไร นั่งคิดไปๆ ไม่มีวันที่ของคนอื่นจะมาเป็นของท่านได้สำหรับผู้ที่คิดอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรม มี เป็นแต่เพียงกายกรรม เช่น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจจะเป็นของที่ไม่ทราบว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน และก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย และไม่ได้คิดมาก่อนด้วยว่า ต้องการของสิ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปเห็นเข้า เช่น ดอกไม้ในสวน หรืออะไรก็ตามแต่ ของในป่าหรืออะไรอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าต้องการของสิ่งนั้น แล้วก็เด็ดไปถือไปจะเป็นผลไม้ หรือดอกไม้ก็ตาม ถ้ามีผลไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น เมื่อมีความอยากได้ ก็เก็บเอาไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓ ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรมโดยคิดอยู่ในใจเฉยๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกายทางวาจานั้นไม่สามารถจะสำเร็จลงไปได้ แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม โดยที่ว่า มโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน จึงจัดเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น แล้วก็จ้างคนอื่นไปฆ่าคนนั้น ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริงแต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม ไม่ใช่เพียงกายกรรม แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่เลยเกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่าต้องการที่จะฆ่าคนนั้น แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว หรืออะไรก็ตามแต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้นๆ เป็นกายกรรม หรือว่า เป็นมโนกรรม

2. พระโสดาบัน ยังไม่ได้ละโทสะ แต่ต้องเข้าใจว่า แม้ยังไม่ได้ละ แต่กิเลสของท่านก็เบาบาง ต่างจากของปุถุชนอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ความโกรธของท่าน ไม่มีแม้จิตคิดจะฆ่า พยาบาทใคร หากแต่ความโกรธยังมีเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ครับ ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าปุถุชน ครับ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายในประเด็นนี้ดังนี้ ครับ

ผู้ถาม. คุณธิดารัตน์ครับ ถ้าเป็นพยาปาทที่มีกำลังน้อยจะมีลักษณะอย่างไร อย่างพระโสดาบันท่านก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่าหรือทำร้ายถึงขนาดที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ แต่ว่าพยาปาทที่เป็นมโนกรรมจะมีอยู่อย่างไรบ้าง

ธิ. ที่เราโกรธ เรียกว่าโทสะ คือแสดงออกไปเลย แต่หลังจากนั้นมีการคิดถึงเรื่องนั้นและก็ยังไม่พอใจบุคคลนั้นอยู่ก็เรียกว่าเริ่มที่จะเป็นพยาปาท แต่ถ้าเริ่มที่จะมีกำลังมากๆ คิดที่จะปองร้ายเขา และถ้ามีการล่วงออกมามากกว่านั้นอีก มีการกระทำ เช่นคิดจะไปว่าเขา เมื่อใดที่มีการเบียดเบียนเขาด้วยวาจาจริงๆ ตรงนั้นก็เรียกว่าสำเร็จแล้วเป็นพยาปาททางมโนกรรม และก็ล่วงทางวจี แต่ถ้ามีการคิดปองร้ายเขา แต่ไม่ได้ล่วงทางวาจาต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดอยู่ ท่านอาจารย์คะ ไม่ได้ล่วงทางกายวาจาจะเป็นการสำเร็จเป็นกรรมไหม ถ้าเพียงแค่คิด

สุ. ก็มีองค์ของอกุศลกรรมบถทั้งหมดว่าเป็นกรรมประเภทไหน

ธิ. พยาปาท ถ้าพูดถึงตามองค์ก็จะมีแค่องค์ ๒ เท่านั้นเอง

สุ. องค์ ๒ เกิดแล้วใช่ไหม และทำอะไรหรือเปล่า

ธิ. ก็ยังไม่ได้ทำ

สุ. ก็แสดงให้เห็นว่าองค์ ๒ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่ากรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม

ผู้ถาม พยาปาทกับผูกโกรธและปริยุฏฐานุสัย จะเรียนถามท่านอาจารย์ กิเลสทั้งสามขั้นตอน

สุ. ชื่อนี่ ให้ทราบเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับเราหรือว่าต้องการจะเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ เอ๊ะนี่ชื่ออะไรนะ ชื่อปฏิฆะ หรือว่าชื่อโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท และยังมีชื่ออื่นอีก วิหิงสาหรือเปล่า ก็เป็นการที่พยายามจะคิดถึงชื่อ จริงๆ แล้วแม้แต่ลักษณะของโทสะมี เรารู้หรือเปล่า เรารู้เพียงชื่อหรือว่าเรารู้ลักษณะ โดยที่ว่าไม่คำนึงถึงชื่อเลย ถ้าลักษณะที่ขุ่นใจไม่สบายใจเกิดขึ้น เรารู้แล้วว่าถ้าจะคิดถึงเวทนาๆ ขณะนั้นตรงข้ามกับโสมนัสหรืออุเบกขา แต่ว่าเป็นความไม่สบายใจเลย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีความขุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าเราโกรธมากกว่านั้นอีก เราจะนึกถึงชื่อไหมว่าเปลี่ยนชื่อหรือยัง จากโทสะมาเป็นพยาปาทหรือยัง หรือรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นใดๆ ก็ตามที่ลักษณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ไม่สบายใจทั้งหมด พอกลัว เอ๊ะ นี่อะไร จะชื่อปฏิฆะหรือว่าจะชื่อโทสะ หรือว่าจะชื่อพยาปาท ไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าเรามัวกังวลหรือว่าคิดถึงเรื่องชื่อ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมลืมไม่ได้เลยในสมัยก่อนโน้น ๒๕๐๐ กว่าปี ผู้ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด จะใช้ว่าปฏิฆะ พยาปาท วิหิงสา ก็คือลักษณะของโทสะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่โทสะกำลังเกิด มีลักษณะที่จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้น ที่กว่าเราจะคุ้นเคยว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีชื่อ เพราะว่าเราคุ้นกับชื่อกับคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าเราไม่ได้คุ้นกับลักษณะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราก็สามารถจะรู้ความต่างว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะธรรมที่เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่เรา เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก็คงมีผู้ที่ได้ไปเฝ้าและได้ฟังพระธรรม แต่ความเข้าใจลักษณะของธรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน จะติดตามมาจนกระทั่งถึงแม้ได้ยินได้ฟังอีก มีความเข้าใจในลักษณะของสภาวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าพะวงเรื่องชื่อเหมือนอย่างที่เคยได้ฟังชื่อต่างๆ มาตั้งเป็นพันๆ ปีก็ได้ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าถ้าเรามีความรู้ เวลาที่เราอ่านพระธรรม ได้ยินชื่อต่างๆ รู้ว่านี่เป็นโทสะ หรือว่าได้ชื่อต่างๆ และก็รู้ว่านี่ไม่ใช่โทสะแต่เป็นวิตก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าอีกประการหนึ่งนั่นไม่ใช่วิตก นี่เป็นวิจาร หรือว่านั่นเป็นโลภะ หรือนั่นเป็นมัจฉริยะ นั่นคือเราเรียกชื่อภาษาบาลี แต่ลักษณะนั้นไม่มีว่าจะต้องเป็นภาษาไหนเลย ถ้าเกิดริษยาต้องใช้คำในภาษาบาลีหรือเปล่า เอ๊ะ นี่ชื่ออิสสา ไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะที่อิสสาภาษาบาลี ถ้าจะใช้คำในภาษาไทย บางคนอาจจะใช้คำอิจฉา แต่ความจริงแล้วถ้าเป็นภาษาบาลี อิจฉาเป็นลักษณะของโลภะ นี่ก็คือการที่จะต้องเข้าใจในคำที่ได้ยิน แต่ว่าลึกกว่านั้นก็คือว่าเข้าใจในลักษณะซึ่งเราผ่านไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามัวคิดถึงชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

3. คิดในใจ ไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็ไม่สำเร็จเป็นกรรมบถที่เป็นมโนกรรม ครับ

ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์อธิบายได้ละเอียดในประเด็นนี้ ครับ

ถ้าจะกล่าวว่าเป็นมโนกรรม อย่าลืมว่า อกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั้งหมดเป็นมโนกรรม นี่ตอนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวาร เช่น ทางตาเห็นแล้วเกิดโลภมูลจิตขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต มีอกุศลเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นมโนทวาร

นี่คือความหมายทั่วไปเลยของคำว่า “มโนกรรม” แต่ถ้ากล่าวถึงมโนกรรมในอกุศลกรรมบถ ยกเพียง ๓ อย่าง ซึ่งจำแนกให้เห็นว่า กรรมใดเป็นกายกรรม กรรมใดเป็นวจีกรรม กรรมใดเป็นมโนกรรม และสำหรับมโนกรรมที่เป็นอกุศลเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร

เพราะเหตุว่า แม้แต่เพียงอกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั่วๆ ไป ก็เป็นมโนกรรมแล้วโดยนัยที่กว้างมาก เมื่อยังไม่ล่วงเป็นทุจริตทางหนึ่งทางใดก็เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น อภิชฌาเมื่อยังไม่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย หรือทางวาจา ก็เป็นมโนกรรม

ถาม แสดงว่าพระโสดาบันละอภิชฌาในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้ใช่ไหมครับ

สุ. ไม่มีการอยากได้ของของคนอื่นในทางทุจริตเลย ถ้าถามว่าพระโสดาบันยังมีมโนกรรมไหม

ถาม มีครับ

สุ. มี เพราะอกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงเป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด ข้อความในอัฏฐสาลินี ที่ว่า กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ๒๙ อันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่ามโนกรรม และมโนทวาร ที่ใช้คำว่า มโนทวาร เพราะเหตุว่ายังไม่ล่วงออกไปทางกายหรือทางวาจา

ถาม ถ้าเห็นว่าคุณบิดามารดามี แค่นี้ก็เป็นมโนกรรมซึ่งเป็นกุศลกรรมใช่ไหมครับ

สุ. เห็นคุณมารดาบิดาก็ต้องเป็นกุศลกรรม

ผู้ถาม เป็นสัมมาทิฏฐิ การเห็นว่าคุณบิดามารดามี และต้องทำการตอบแทน อย่างนี้ก็เป็นมโนกรรมแล้วใช่ไหมครับ

สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นมโนกรรม

เรื่องของมโนกรรม ถ้าคิดถึงอย่างกว้างที่สุดแล้วจะไม่มีปัญหาเลย คือ ขณะใดก็ตามที่ยังไม่ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาทั้งหมดเป็นมโนกรรม ตัดปัญหาไปได้เลย แต่ถ้าถึงขั้นอกุศลกรรมบถ ยกเฉพาะ ๓ ที่เป็นมโนกรรมคือ อภิชฌา ๑ พยาปาท ๑ และมิจฉาทิฏฐิ ๑

4. ไม่ได้มีเจตนาทำลาย เจตนาเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อรายได้ และ ใช้วิธีการที่ถูกต้อง ก็ไม่จัดเป็นอกุศลกรรมบถ แน่นอน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ให้ถึงความตาย เป็นการกระทำที่ล่วงเป็นทุจริตกรรม แต่ก็แสดงถึงกำลังของอกุศลที่มีมาก ในกรณีที่เป็นพยาบาท คือ การปองร้าย วางแผนตระเตรียมมาเป็นอย่างดี ในการที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น อย่างนี้เป็นมโนกรรม กระทำสำเร็จอกุศลกรรมบถ อย่างเช่น โกรธแล้ว คิดจะฆ่าแล้วก็ฆ่า อย่างนี้เป็น การกระทำที่เป็นพยาบาท เป็นอกุศลกรรมบถ แต่ถ้าเพียงโกรธแล้วคิดร้าย แต่ไม่ได้กระทำการเบียดเบียนแต่อย่างใด ขณะนั้น เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป สะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี และในขณะนั้นก็กล่าวได้ว่าเป็นมโนกรรม เพราะเป็นกรรม คือ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต แต่ยังไม่เป็นมโนกรรมที่ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ

อกุศลทั้งปวง เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว อย่างเช่น ความโกรธ เมื่อสะสมมากขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ผิดมากมาย แม้บุคคลผู้มีพระคุณ เช่นบิดา มารดาเป็นต้น ก็ฆ่าได้ เพราะกำลังของความโกรธ

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ถาม ขณะที่ฆ่าสัตว์ อาจจะเป็นกรรมบถที่เป็นพยาบาทได้ไหม

สุ. การฆ่าก็แสดงไว้ว่าเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ต้องแยก ไม่ได้หมายความว่า การฆ่าทุกครั้งต้องเป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่าบางทีเราก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะฆ่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จนกระทั่งถึงมนุษย์ก็ตามแต่ แต่ว่าบางครั้งบางคนก็มีการตระเตรียมมีแผนการ มีความพยาบาทต้องการที่จะให้ฆ่า และการฆ่านั้นก็สำเร็จ เพราะฉะนั้นการฆ่าที่ประกอบด้วยพยาปาทจึงเป็นมโนทวารเป็นมโนกรรม แต่ว่าแล้วแต่ว่าเป็นทางวาจาหรือทางกาย แต่ว่าถ้าเป็นเฉพาะทางกายก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม มีไหมปกติเฉพาะที่เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม ตบยุงใช่ไหม ก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ก็บางคนก็อาจจะแก้ตัวว่าพอเจ็บก็ตบ แต่ความจริงแม้ขณะนั้นก็มีเจตนาเกิดร่วมด้วยและสัตว์นั้นก็ตายด้วย แต่ว่าไม่ใช่มโนกรรม เป็นกายกรรม เรื่องธรรมจริงๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

พระโสดาบัน ดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง คือ ดับกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้ทั้งหมด พระโสดาบัน ย่อมไม่คิดที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น แม้ว่าท่านจะยังละความโกรธไม่ได้ แต่ก็ต้องมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับผู้เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส

ถ้าเป็นบุคคลที่คิดว่า น่าจะมีการตอบโต้น่าจะมีการด่า เพียงแค่คิดในใจ ยังไม่ได้ประทุษร้ายออกไป ก็เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ขณะนั้นกล่าวได้ว่าเป็นมโนกรรม แต่ยังไม่เป็นมโนกรรม ที่ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ

ตราบใดก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นอกุศล ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นอกุศลในระดับใด ถึงขั้นที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ จากตัวอย่างที่กล่าวมานั้น ไม่พ้นไปจากความติดข้องต้องการ ที่ต้องการได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองปรารถนา แต่ไม่ได้เป็นการกระทำอกุศลกรรมบถทั้งในเรื่องการลักทรัพย์ การประทุษร้ายเบียดเบียน

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นจริงๆ ที่จะทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกได้ว่า แม้ความติดข้องต้องการ ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา และทำให้มีความมั่นคงในการที่จะสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นต่อไป เพราะถ้ากุศลจิตไม่เกิด ก็ย่อมจะเป็นโอกาสเกิดขึ้นของอกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 เม.ย. 2557

มโนกรรม คือ การกระทำทางใจ ถ้าอกุศล ก็คิดจะเอาของเขา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
rukawa119
วันที่ 23 เม.ย. 2557

ขอกราบอนุโมทนาทุกคำตอบครับ และขอเรียนสอบถามอาจารย์ทุกท่านเพิ่มเติมว่า

เฉพาะอกุศลกรรมบทมโนกรรม พยาบาท ถ้าครบองค์ 2 สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ ใช่หรือไม่ครับ แม้ยังไม่ได้ฆ่าก็ตามใช่มั้ยครับ เช่นเกิดความโกรธ ผูกความเจ็บใจ แล้วคิดแช่งสัตว์นั้นให้ตายหรือพินาศ ซึ่งก็ครบองค์ 2

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
rukawa119
วันที่ 23 เม.ย. 2557

ขอเรียนสอบถามอาจารย์ทุกท่านเพิ่มเติมว่า

เฉพาะอกุศลกรรมบทมโนกรรม พยาบาท ถ้าครบองค์ 2 สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ ใช่หรือไม่ครับ แม้ยังไม่ได้ฆ่าก็ตามใช่มั้ยครับ เช่นเกิดความโกรธ ผูกความเจ็บใจ แล้วคิดแช่งสัตว์นั้นให้ตายหรือพินาศ ซึ่งก็ครบองค์ 2

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 23 เม.ย. 2557

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงอยู่เพียงใจ คิดไปเถอะค่ะทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่นอยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกไปอยากจะได้ของของเขา จะเป็นการได้ของบุคคลอื่นมาได้อย่างไร นั่งคิดไปๆ ไม่มีวันที่ของคนอื่นจะมาเป็นของท่านได้สำหรับผู้ที่คิดอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรม มี เป็นแต่เพียงกายกรรม เช่น เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจจะเป็นของที่ไม่ทราบว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน และก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย และไม่ได้คิดมาก่อนด้วยว่า ต้องการของสิ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปเห็นเข้า เช่น ดอกไม้ในสวน หรืออะไรก็ตามแต่ ของในป่าหรืออะไรอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าต้องการของสิ่งนั้น แล้วก็เด็ดไปถือไปจะเป็นผลไม้ หรือดอกไม้ก็ตาม ถ้ามีผลไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น เมื่อมีความอยากได้ ก็เก็บเอาไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓ ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรมโดยคิดอยู่ในใจเฉยๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกายทางวาจานั้นไม่สามารถจะสำเร็จลงไปได้ แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม โดยที่ว่ามโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน จึงจัดเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น แล้วก็จ้างคนอื่นไปฆ่าคนนั้น ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง แต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม ไม่ใช่เพียงกายกรรม แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่เลย เกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่าต้องการที่จะฆ่าคนนั้น แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัว หรืออะไรก็ตามแต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้นๆ เป็นกายกรรม หรือว่า เป็นมโนกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Napa_Chantarangsu
วันที่ 13 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ