ราชสีห์ผู้อกตัญญู [ชวสกุณชาดก]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๔๒๖
ชวสกุณชาดก
(ผู้ไม่มีกตัญญู ไม่ควรคบ)
[๕๓๐] ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอนอบน้อมแด่ท่าน
ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน ตามกำลัง
ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้อะไรตอบ
แทนบ้าง.
[๕๓๑] การที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของเรา
ผู้มีเลือดเป็นภักษาหาร ผู้ทำกรรมอันหยาบช้า
อยู่เป็นนิตย์ ท่านยังเป็นอยู่ได้ นั่นก็เป็น
คุณมากอยู่แล้ว.
[๕๓๒] น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้
ไม่ทำคุณให้ใคร และผู้ที่ไม่ทำตอบแทนคุณ
ที่เขาทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การ
คบคนนั้น ย่อมไร้ประโยชน์.
[๕๓๓] บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่
ตนประพฤติต่อหน้าในผู้ใด ผู้นั้น บัณฑิตไม่
ต้องริษยา ไม่ต้องคำว่า พึงค่อยๆ หลีกออก
ห่างจากผู้นั้นไปเสีย.
จบ ชวสกุณชาดกที่ ๘
อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ ๘
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภ-
ความอกตัญญูของพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น
ว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ดังนี้.
พระศาสดาตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น
แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วทรงนำ
เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ใน
นครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกหัวขวานอยู่ในหิมวันต-
ประเทศ. ครั้งนั้นราชสีห์ตัวหนึ่ง กินเนื้อ กระดูกติดคอจนคอบวม
ไม่สามารถจับเหยื่อกินได้ เวทนากล้าแข็งเป็นไป. ลำดับนั้น นกนั้น
เที่ยวขวนขวายหาเหยื่อ เห็นราชสีห์นั้นจึงจับที่กิ่งไม้ ถามว่า สหาย
ท่านเป็นทุกข์เพราะอะไร ราชสีห์นั้นจึงบอกเนื้อความนั้น. นกนั้น
กล่าวว่า สหาย เราจะนำกระดูกนั้นออก ให้แก่ท่าน แต่เราไม่อาจเข้า
ไปในปากของท่าน เพราะกลัวว่า ท่านจะกินเรา. ราชสีห์กล่าวว่า ท่าน
อย่ากลัวเลย สหาย เราจะไม่กินท่าน ท่านจงให้ชีวิตเราเถิด. นกนั้น
รับคำว่า ดีละ แล้วให้ราชสีห์นั้นนอนตะแคง แล้วคิดว่า ใครจะรู้ว่า
อะไรจักมีแก่เรา จึงวางท่อนไม้ค้ำไว้ริมฝีปากทั้งข้างล่างและข้างบนของ
ราชสีห์นั้นโดยที่มันไม่สามารถหุบปากได้ แล้วเข้าไปในปาก เอาจะงอย
ปากเคาะปลายกระดูก. กระดูกก็เคลื่อนตกไป. จากนั้นครั้นทำให้
กระดูกตกไปแล้ว เมื่อจะออกจากปากราชสีห์จึงเอาจะงอยปากเคาะ
ท่อนไม้ให้ตกลงไป แล้วบินออกไปจับที่ปลายกิ่งไม้. ราชสีห์หายโรค
แล้ว วันหนึ่ง ฆ่ากระบือป่าได้ตัวหนึ่งแล้วกินอยู่. นกคิดว่า เราจัก
ทดลองราชสีห์นั้นดู จึงจับที่กิ่งไม้ ณ ส่วนเบื้องบนราชสีห์นั้น เมื่อ
จะเจรจากับราชสีห์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอความนอบน้อมจง
มีแก่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน
ตามกำลังของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้
อะไรตอบแทนบ้าง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ความว่า
ท่านสีหะผู้เจริญ แม้เราก็ได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน บทว่า ยํ พลํ
อหุวมฺหเส ความว่า กำลังใดได้มีแก่เรา เรามิได้ทำอะไรๆ ให้เสื่อม
เสียจากกิจนั้น ได้กระทำแล้วด้วยกำลังนั้นทีเดียว.
ราชสีห์ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ข้อที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของ
ข้าพเจ้าผู้มีโลหิตเป็นภักษาหารผู้กระทำกรรม
หยาบเป็นนิจ ท่านยังรอดชีวิตอยู่ได้นั้นก็
เป็นคุณมากอยู่แล้ว.
นกได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถานอกนี้ว่า :-
น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้
ไม่ทำคุณให้แก่ใคร ผู้ไม่ทำตอบแทนคุณที่
เขาทำไว้ ความกตัญญูย่อมไม่มีในบุคคลใด
การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์.
บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่
ตนประพฤติต่อหน้า ในบุคคลใด บุคคลนั้น
บัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ
หลีกห่างออกจากบุคคลนั้นไปเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกตญฺญุ แปลว่า ผู้ไม่รู้คุณที่เขา
กระทำแล้ว. บทว่า อกตฺตารํ ได้แก่ ผู้ไม่ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง.
บทว่า สมฺมุขจิณฺเณน ความว่า ด้วยคุณที่ทำไว้ต่อหน้า. บทว่า
อนุสฺสุยมนกฺโกสํ ความว่า บัณฑิตอย่าริษยา อย่าด่าว่าบุคคลนั้น
พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากบุคคลนั้น.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกนั้นก็บินหลีกไป.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประ-
ชุมชาดกว่า ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ส่วนนกในครั้งนั้น
ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ ๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุปชวสกุณชาดก (ผู้ไม่มีกตัญญู ไม่ควรคบ)
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระองค์ทรงปรารภความเป็นคนอกตัญญูของพระเทวทัต จึงได้ทรงแสดงชาดกนี้ ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกหัวขวานอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และ มีราชสีห์ตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณแถวๆ นั้น วันหนึ่ง ราชสีห์
ตัวนี้กินเนื้อแล้วกระดูกติดที่คอ จนคอบวม ไม่สามารถออกหาอาหาร
กินได้ตามปกติ นอนเจ็บปวดอย่างทรมาน หลายวันต่อมาพระโพธิสัตว์
บินเที่ยวหากินไปพบมันเข้า จึงจับอยู่บนกิ่งไม้ พร้อมกับถามว่า “ท่านราชสีห์ เป็นอะไร ทำไมถึงนอนด้วยความเจ็บปวด” ราชสีห์ตอบว่า “กระดูกติดคอเรา เรานอนเจ็บปวดทรมานมาหลายวันแล้ว ขอให้ท่านช่วยเราด้วยเถิด” พระโพธิสัตว์ ด้วยความเฉลียวฉลาด จึงพูดว่า " เราอยากจะช่วยท่าน แต่ก็ไม่ไว้ใจท่าน กลัวว่าท่านจะกินเรา" ราชสีห์อ้อนวอนว่า "ท่านอย่ากลัวไปเลย เราไม่กินท่านอย่างแน่นอน ขอให้ท่านช่วยเราด้วยเถิด" พระโพธิสัตว์ จึงรับปากที่จะช่วยเหลือด้วยความสงสาร ด้วยการให้ราชสีห์นอนตะแคงแล้วให้อ้าปากพร้อมกับใช้ท่อนไม้ค้ำปากของมันไว้
เพื่อไม่ให้มันหุบปากได้ด้วยความไม่ไว้วางใจและสามารถรับประกัน
ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วเข้าไปในปากราชสีห์ ใช้จงอยปากค่อยๆ
เขี่ยจิกกระดูกให้เคลื่อนออก เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จิกท่อนไม้ให้
ล้มลง แล้วบินขึ้นไปจับบนกิ่งไม้ตามเดิม
การช่วยเหลือของพระโพธิสัตว์ทำให้ราชสีห์หมดความเจ็บปวด
และเที่ยวจับเหยื่อกินได้เป็นปกติ อีกหลายวันต่อมา พระโพธิสัตว์บินหากินไปพบราชสีห์เข้า คิดจะ
ลองใจว่าราชสีห์ยังสำนึกในคุณของตนที่เคยช่วยชีวิตไว้อยู่หรือไม่
จึงกล่าวกับราชสีว่า "ในฐานะที่เราเคยช่วยชีวิตท่านไว้ มีบุญคุณต่อ
ท่าน เรามีงานอย่างหนึ่งให้ท่านช่วยเหลือ ท่านจะช่วยเหลือเรา
หรือไม่"
ราชสีห์ตอบว่า "บุญคุณอะไรกัน ในวันนั้น ที่เจ้าอยู่ในปากเรา
แล้วรอดชีวิตมาได้ โดยที่เราไม่กินเจ้า นั่นก็บุญ (โข) แล้ว จะมาเอา
อะไรอีกล่ะ" พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็รู้เลยว่า ราชสีห์ ไม่รู้คุณ เป็นสัตว์
อกตัญูญู จึงได้กล่าวเป็นคาถา สรุปได้ว่า น่าตำหนิคนที่ไม่รู้คุณ
ที่ผู้อื่นกระทำให้แก่ตน ความกตัญญูไม่มีในผู้ใด การคบหาผู้นั้น
ก็ไร้ประโยชน์ ควรอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้
อกตัญญูเช่นนั้น" เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวจบแล้ว ก็บินหนีเข้าป่าหลีกหนีไป (ราชสีห์ผู้อกตัญญูในครั้งนั้น คือ พระเทวทัต ส่วน นกหัวขวาน
ผู้คอยช่วยเหลือ ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) .
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...