การปฏิสนธิ

 
tookta
วันที่  27 เม.ย. 2557
หมายเลข  24777
อ่าน  2,438

ได้ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจเรื่องปฏิสนธิด้วย เหตุ 2 อย่าง หรือ 3 อย่าง คืออะไร และ มีอะไรบ้าง รบกวนให้ท่านผู้รู้ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า อเหตุกบุคคลคือใคร ทวิเหตุกบุคคลคือใคร และ ติเหตุกบุคคล คือ ใคร? อเหตุกบุคคล คือ ผู้ที่ปฏิสนธิโดยที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลยไม่มีอโลภะ อโทสะ และ ปัญญาเกิดร่วมด้วย (สัมมาทิฏฐิ) เป็นผู้พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด กุศลจิตสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน, ทวิเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย บุคคลประเภทนี้ ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น แต่ สามารถสะสมอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้, ส่วน ติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ คือปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) เพราะฉะนั้น ความแตกต่างของปฏิสนธิจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย กับไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย คือ ถ้าเป็น อเหตุกปฏิสนธิจิต ก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ซึ่งถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะพิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ และโอกาสเข้าใจพระธรรมก็ยาก ไม่สามารถเจริญฌานและวิปัสสนาญาน และไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ส่วน ทวิเหตุบุคคล ที่เกิดด้วยปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ 2 แต่เว้นปัญญา อันนี้จะไม่บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด จะดีกว่าพวกอเหตุกบุคคลครับ และสามารถพอฟังพระธรรมเข้าใจได้บ้าง แต่เมื่อไม่มีปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) เกิดร่วมด้วยในขณะที่เกิด (ปฏิสนธิ) ก็ทำให้ไม่ว่าจะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมมากเท่าไรก็ไม่สามารถได้ฌาน วิปัสสนาญาณ และไม่สามารถบรรลุธรรมครับ

เมื่อกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาให้ผล ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ประกอบด้วยปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) เป็นปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโ่ทสะ และ อโมหะ คือ สัมมาทิฏฐิหรือปัญญา และประกอบด้วย ๒ เหตุ ก็ได้ คือ อโลภะ และอโทสะ ถ้าเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภะ กับ อโทสะ หรือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อเหตุกปฏิสนธิจิตก็ได้ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ในอบายภูมิเท่านั้น ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ผู้ที่ปฏิสนธิโดยที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลยนั้น และ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๒ ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ส่วนติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุคือ ปัญญา บุคคลประเภทนี้สามารถอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ แต่ไม่เสมอไป เช่น ท่านพระเทวทัต ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ แต่เป็นผู้ถูกลาภสักการะครอบงำ กระทำอนันตริยกรรม ไปเกิดในอเวจีมหานรก ประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ เราไม่สามารถทราบได้ว่าเราปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ล่วงเลยไป ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมปัญญาต่อไป เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เวลาของการฟังพระธรรม ในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อเหตุกปฏิสนธิ

ทุเหตุกปฏิสนธิจิต

ติเหตุกปฏิสนธิ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิสนธิ หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นทำกิจสิบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตที่ทำกิจปฏิสนธินั้น เป็นจิตชาติวิบาก มีทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ มหาวิบาก ๘ ดวง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก รูปาวจรวิบาก ๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ ทั้งหมดนั้นเป็นผลของกรรม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมประเภทใด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ตามสมควรแก่กรรม ทั้งที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ หรือ เหตุ ๒ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย การเกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้าบอดหนวกตั้งแต่กำเนิด เป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อน เช่น มหากุศลดวงที่ ๘ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีเวทนาเป็นอุเบกขา เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน มหากุศลดวงนี้เวลาจะให้ผล ก็จะไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบากเลย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กุศลกรรมจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก แต่จะให้ผลเป็นกุศลวิบากประเภทที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อันเป็นผลมาจากเหตุคือกุศลที่มีกำลังอ่อน ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้าบอดหนวกตั้งแต่กำเนิด เป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ส่วนปฏิสนธิจิตพรหมบุคคลของที่เกิดด้วยรูปาวจรวิบากและอรูปาวจรวิบาก ย่อมประกอบด้วยเหตุ ทั้ง ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 27 เม.ย. 2557

เกิดด้วยทวิเหตุ คือ มีเหตุ สอง อโลภะ อโทสะเหตุ ถ้าเป็น ติเหตุ มีปัญญาเพิ่มขึ้นด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
talaykwang
วันที่ 31 ส.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ