กรุณายกตัวอย่างมหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน 8 ดวงพรัอมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทางชวนวิถี
กรุณายกตัวอย่างมหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน 8 ดวงพรัอมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทางชวนวิถี ที่เกิดทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร เริ่มจากภวังจิต จบลงที่ตทาลัมพณจิต ว่าจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเกิดด้วยเท่าไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มหากุศลจิตมหา (ใหญ่ , มาก) + กุศล (ฉลาด) + จิตฺต (จิต) กุศลจิตที่เป็นไปในอาการมาก หมายถึง จิตที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากและกัมมชรูปที่ดี ที่ชื่อว่า มหากุศลจิต เพราะเป็นจิตที่ดีงาม และเป็นไปในอาการมากมาย คือเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ เป็นไปในอธิบดี ๔ เกิดได้ในทวารทั้ง ๓ และยังเป็นไปในระดับที่ต่ำ กลาง หรือประณีตก็ได้ มหากุศลจิตเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามาวจรกุศลจิตก็ได้ มี ๘ ดวง คือ
๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญาเป็นจิตที่มีมีกำลัง (มีการชักชวน)
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน)
-------------------------------
ขอยกตัวอย่าง มหากุศลดวงที่หนึ่ง ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง
๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .
มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
ซึ่งขณะที่มหากุศลจิตดวงที่หนึ่ง ซึ่งสามารถมี เจตสิกเกิดร่วมด้วยดังนี้
อัญญสมานาเจตสิกทั้ง 13 ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ แล้วก็มีปกิณณกเจตสิก 6 คือ วิตักกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ฉันทเจตสิก ปีติเจตสิก ซึ่ง ปีติ จะเกิดร่วมกับเวทนาที่เป็นโสมนัส และ โสภณสาธารณะเจตสิก 19 ดวง และ วิรตีเจตสิก 3 ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง หรือเกิดพร้อมกัน 3 ดวง ในขณะที่เป็น มรรคจิต และ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง คือ กรุณาและ มุทิตาเจตสิก ซึ่ง ก็สามารถเกิดได้ดวงใดดวงหนึ่ง ส่วนจิตอื่นๆ ก็สามารถเกิดได้ ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้น ครับ
ข้อความบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้
ศึกษาปรมัตถธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏจริงมากขึ้น
บางท่านก็เป็นห่วงว่า ท่านฟังธรรมไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมเลย แต่ตามความเป็นจริงนั้น ในขณะที่ได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดขึ้น นั่นคือการศึกษาปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั่นเอง เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาความละเอียดของนามธรรมและรูปธรรม ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้ว่าขณะใดเป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรม ขณะใดเป็นกุศลจิต และขณะใดเป็นอกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ขณะนั้นก็คือการศึกษาพระอภิธรรมนั่นเอง
ข้อความทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงนี้ คือ ปรมัตถธรรมหรือพระอภิธรรม ซึ่งกล่าวถึงสภาพธรรมโดยส่วนละเอียดต่างๆ และต้องรู้จุดประสงค์ของการศึกษาว่า การศึกษาพระอภิธรรมนั้นเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อที่จะจำว่า มีจิตกี่ดวง และมีเจตสิกกี่ดวง เกิดกับจิตกี่ดวง แต่เพื่อปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงมหากุศลจิต ๘ แล้ว เป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน มี กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังมาก ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นต้น และที่กล่าวว่า มหากุศลจิตนั้น หมายถึง เป็นกุศลที่เกิดขึ้นได้หลายทาง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และที่สำคัญ ก็เป็นจิตเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง ทั้งการให้ทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ การมีเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนต่อผู้อื่น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น สำหรับผู้ที่ดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเป็นสำคัญ แม้ในขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ขัดเกลาความไม่รู้ ขัดเกลาความเห็นผิด และอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ครับ
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
สำหรับมหากุศลดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เป็นกุศลที่เกิดพร้อมกับโสมนัส เกิดร่วมกับปัญญา คือ ญาณ และมีกำลังกล้า ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า กุศลแต่ละครั้งที่ทำเป็นจิตดวงนี้ใช่ไหม เพราะว่า มหากุศลมีถึง ๘ ดวง เพราะฉะนั้น กุศลครั้งหนึ่งๆ ที่ทำ การศึกษาเรื่องของมหากุศล ๘ ดวง ก็เพื่อที่จะได้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นมหากุศลจิตดวงไหน เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรือเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เวลาทำกุศล ฝืนปัจจัยไม่ได้ เพราะว่าทุกคนทราบว่า ควรจะทำกุศลด้วยความปีติโสมนัส นี่เป็นสิ่งที่ควร แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้กุศลนั้นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ใครก็จะบังคับหรือฝืนใจให้กุศลนั้นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาไม่ได้ เพราะเหตุว่าเวทนาในวันหนึ่งๆ จะสังเกตได้ว่า เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอะไร ตามอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่มีใครสามารถที่จะฝืนได้เลย ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ทุกท่านซึ่งยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล มีปัจจัยที่จะให้ความขุ่นใจ ความไม่พอใจ หรือแม้ความเสียใจ ความน้อยใจ ก็เป็นลักษณะของจิตซึ่งไม่สบาย ไม่ใช่ลักษณะของจิตที่เป็นสุข แต่ว่าเป็นลักษณะของจิตที่เป็นทุกข์ คือสภาพของจิตในขณะนั้นไม่ใช่สภาพที่ดี เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะที่เสียใจบ้าง น้อยใจบ้าง ขุ่นเคืองใจบ้าง ไม่แช่มชื่นใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น เวทนาก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าอารมณ์อะไรจะปรากฏทางไหน ขณะใด ก็เป็นปัจจัยให้เวทนานั้นๆ เกิดขึ้น.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...