พบาบาท ในอกุศลมโนกรรมต่างจากวิหิงสาวิตกไหมคะ
มโนกรรม แบ่งเป็น
อกุศลมโนกรรม 3 คือ
1.อภิชฌา
2.พยาบาท
3.มิจฉาทิฏฐิ
กุศลมโนกรรม
1.อนภิชฌา
2 อพยาบาท
3 สัมมาทิฏฐิ
เรียนถามว่า พยาบาทในที่นี้ต่างกับวิหิงสาวิตกหรือไม่อย่างไรคะ และมโนกรรมทั้ง ๖ ถือว่าเป็นกรรม แล้วต้องมีผลของกรรมด้วยใช่ไหมคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พยาปาทะ หมายถึง ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ที่เป็นโทสะ
วิหิงสา คือ การคิดเบียดเบียนผู้อื่น
ซึ่งจะเป็นกรรมบถ ให้ผล ก็ต้องสำเร็จล่วงออกมาทางกาย วาจา ที่เป็นมโนกรรมทั้งสามประการ ครับ
เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ
วิ. อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของ “วิตก” ทรงแสดงวิตกไว้ ๓ คือ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ความต่างกัน คือพยาปาทวิตกกับวิหิงสาวิตกเป็นลักษณะคล้ายๆ โทสะ ลักษณะของสองอย่างนี้จะต่างกันอย่างไร
สุ. ก็ต้องเป็นโทสะ เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้ากล่าวถึงพยาปาทในภาษาไทย พอเราได้ยินแล้วรู้สึกว่าแรง มีกำลังมาก ไม่ใช่เพียงขั้นโกรธ พยาบาทด้วย นี่คือเราเข้าใจความหมายในภาษาไทย แต่ถ้าอย่างละเอียด เราก็จะรู้ได้ว่าความโกรธต่างระดับจะเอาคำไหนมาใช้ แต่แม้ว่าเราจะใช้คำที่แสดงถึงความโกรธต่างระดับก็จริง จะตรงกับที่เราคิดหรือเปล่า หรือว่ามีความที่ละเอียดต่างกันไปอีก อย่างพระโสดาบันละพยาปาทหรือเปล่าที่เป็นมโนกรรม
วิ. ยัง
สุ. เห็นไหม แล้วเราจะไปคิดว่าพระโสดาบันจะพยาบาทระดับไหน นี่ก็เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้นการเบียดเบียนก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าเมื่อมีโทสะถึงระดับนั้นก็ต้องใช้อีกคำหนึ่งให้รู้ว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงพยาปาท
ผู้ถาม กรณีที่เราจำความไม่ดีที่คนอื่นเขาปฏิบัติต่อเรา ไม่ลืม แต่ว่าไม่พยาบาทอันนั้นจะเรียกว่าอะไร
สุ. ต้องการเรียกหรือว่าความจริงเป็นอย่างนั้น
ผู้ถาม ความจริงเป็นอย่างนั้น
ธิ. คุณธิดารัตน์ครับ ถ้าเป็นพยาปาทที่มีกำลังน้อยจะมีลักษณะอย่างไร อย่างพระโสดาบันท่านก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่าหรือทำร้ายถึงขนาดที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ แต่ว่าพยาปาทที่เป็นมโนกรรมจะมีอยู่อย่างไรบ้าง
ธิ. ที่เราโกรธ เรียกว่าโทสะ คือแสดงออกไปเลย แต่หลังจากนั้นมีการคิดถึงเรื่องนั้นและก็ยังไม่พอใจบุคคลนั้นอยู่ก็เรียกว่าเริ่มที่จะเป็นพยาปาท แต่ถ้าเริ่มที่จะมีกำลังมากๆ คิดที่จะปองร้ายเขา และถ้ามีการล่วงออกมามากกว่านั้นอีก มีการกระทำ เช่นคิดจะไปว่าเขา เมื่อใดที่มีการเบียดเบียนเขาด้วยวาจาจริงๆ ตรงนั้นก็เรียกว่าสำเร็จแล้ว เป็นพยาปาททางมโนกรรม และก็ล่วงทางวจี แต่ถ้ามีการคิดปองร้ายเขา แต่ไม่ได้ล่วงทางวาจาต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดอยู่ ท่านอาจารย์คะ ไม่ได้ล่วงทางกายวาจาจะเป็นการสำเร็จเป็นกรรมไหม ถ้าเพียงแค่คิด
สุ. ก็มีองค์ของอกุศลกรรมบถทั้งหมดว่าเป็นกรรมประเภทไหน
ธิ. พยาปาท ถ้าพูดถึงตามองค์ก็จะมีแค่องค์ ๒ เท่านั้นเอง
สุ. องค์ ๒ เกิดแล้วใช่ไหม และทำอะไรหรือเปล่า
ธิ. ก็ยังไม่ได้ทำ
สุ. ก็แสดงให้เห็นว่าองค์ ๒ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่ากรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม
ผู้ถาม พยาปาทกับผูกโกรธและปริยุฏฐานุสัย จะเรียนถามท่านอาจารย์ กิเลสทั้งสามขั้นตอน
สุ. ชื่อนี่ ให้ทราบเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับเราหรือว่าต้องการจะเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ เอ๊ะนี่ชื่ออะไรนะ ชื่อปฏิฆะ หรือว่าชื่อโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท และยังมีชื่ออื่นอีก วิหิงสาหรือเปล่า ก็เป็นการที่พยายามจะคิดถึงชื่อ จริงๆ แล้วแม้แต่ลักษณะของโทสะมี เรารู้หรือเปล่า เรารู้เพียงชื่อหรือว่าเรารู้ลักษณะ โดยที่ว่าไม่คำนึงถึงชื่อเลย ถ้าลักษณะที่ขุ่นใจไม่สบายใจเกิดขึ้น เรารู้แล้วว่าถ้าจะคิดถึงเวทนาๆ ขณะนั้นตรงข้ามกับโสมนัสหรืออุเบกขา แต่ว่าเป็นความไม่สบายใจเลย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีความขุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม
ถ้าเราโกรธมากกว่านั้นอีก เราจะนึกถึงชื่อไหมว่าเปลี่ยนชื่อหรือยัง จากโทสะมาเป็นพยาปาทหรือยัง หรือรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นใดๆ ก็ตามที่ลักษณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ไม่สบายใจทั้งหมด พอกลัว เอ๊ะ นี่อะไร จะชื่อปฏิฆะหรือว่าจะชื่อโทสะ หรือว่าจะชื่อพยาปาท ไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าเรามัวกังวลหรือว่าคิดถึงเรื่องชื่อ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมลืมไม่ได้เลยในสมัยก่อนโน้น ๒๕๐๐ กว่าปี ผู้ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด จะใช้ว่าปฏิฆะ พยาปาท วิหิงสา ก็คือลักษณะของโทสะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่โทสะกำลังเกิด มีลักษณะที่จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้น ที่กว่าเราจะคุ้นเคยว่าไม่ใช่เราเพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีชื่อ เพราะว่าเราคุ้นกับชื่อกับคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าเราไม่ได้คุ้นกับลักษณะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราก็สามารถจะรู้ความต่างว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะธรรมที่เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่เรา
เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก็คงมีผู้ที่ได้ไปเฝ้าและได้ฟังพระธรรม แต่ความเข้าใจลักษณะของธรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน จะติดตามมาจนกระทั่งถึงแม้ได้ยินได้ฟังอีก มีความเข้าใจในลักษณะของสภาวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าพะวงเรื่องชื่อเหมือนอย่างที่เคยได้ฟังชื่อต่างๆ มาตั้งเป็นพันๆ ปีก็ได้ เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าถ้าเรามีความรู้ เวลาที่เราอ่านพระธรรม ได้ยินชื่อต่างๆ รู้ว่านี่เป็นโทสะ หรือว่าได้ชื่อต่างๆ และก็รู้ว่านี่ไม่ใช่โทสะแต่เป็นวิตก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าอีกประการหนึ่ง นั่นไม่ใช่วิตก นี่เป็นวิจาร หรือว่านั่นเป็นโลภะ หรือนั่นเป็นมัจฉริยะ นั่นคือเราเรียกชื่อภาษาบาลี แต่ลักษณะนั้นไม่มีว่าจะต้องเป็นภาษาไหนเลย ถ้าเกิดริษยาต้องใช้คำในภาษาบาลีหรือเปล่า เอ๊ะ นี่ชื่ออิสสา ไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะที่อิสสาภาษาบาลี ถ้าจะใช้คำในภาษาไทย บางคนอาจจะใช้คำอิจฉา แต่ความจริงแล้วถ้าเป็นภาษาบาลี อิจฉาเป็นลักษณะของโลภะ นี่ก็คือการที่จะต้องเข้าใจในคำที่ได้ยิน แต่ว่าลึกกว่านั้นก็คือว่าเข้าใจในลักษณะซึ่งเราผ่านไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามัวคิดถึงชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พยาบาท โดยสภาพธรรม ก็คือ โทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดได้กับทุกบุคคลเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หนาแน่นไปด้วยกิเลส บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นโทษของความโกรธว่าเป็นอกุศลธรรม ที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้าย ทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้า ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย และถ้าเกิดการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา นั่นก็เป็นการล่วงอกุศลกรรมบถ
ดังนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี และควรอย่างยิ่งที่จะน้อมประพฤติตามด้วยความจริงใจ กล่าวคือ ควรมีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนต่อบุคคลอื่น ด้วยกาย วาจา ใจ มีความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน เพราะเหตุว่าแต่ละบุคคลก็เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในสังสารวัฏฏ์เหมือนกันทั้งนั้น การไม่ชอบกันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัย
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
เป็นคำเตือนว่า สนใจจะรู้แต่ชื่ออย่างเดียว หรือควรรู้ลักษณะที่ปรากฏเพื่อศึกษาความจริงว่า เป็นเพียงสภาพธรรมะที่เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา!
กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศล ทุกท่านอย่างยิ่งค่ะ