สงสัยว่าปาราชิกหรือไม่
อาตมาเป็นพระพึ่งบวชใหม่ มีข้อสงสัย 2 ข้อ
1.วันแรกที่อาตมาบวช อาตมาไม่มีสบู่ใช้ อาตมาจำเป็นต้องอาบน้ำก่อนทำวัตรเย็น จึงเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำในกุฏิที่อาตมาอยู่ เห็นสบู๋อยู๋ในห้องน้ำหลายก้อน จึงหยิบขึ้นมาก้อนนึง นึกในใจว่าไม่ได้มีเจตนาขโมยนะ ต้องการเพื่อชำระร่างกายเฉยๆ อาตมาจึงใช้สบู่ก้อนนั้นมาอาบน้ำ โดยที่ไม่รู้ว่าพระรูปไหนเป็นเจ้าของ แบบนี้จะถึงขั้นปาราชิกหรือไม่
2.ในกุฏิอาตมามีตู้เย็นในห้องครัว 1 ตู้ ซึ่งพระใหม่ในกุฏิหลายๆ รูปมักเอาน้ำมาแช่กัน วันนึงอาตมาช่วยงานวัดเสร็จกลับมาจะฉันน้ำในตู้เย็น แต่น้ำขวดที่อาตมาแช่ดันหายไป เหลือแต่ขวดที่ไม่ใช่ของอาตมา อาตมายืนนึกสักพัก ถ้าฉันจะเป็นขโมยรึเปล่า ทันใดนั้นมีพระรุ่นพี่เดินเข้ามาหยิบน้ำขวดนั้นฉันทันที แกบอกว่าฉันๆ ไปเหอะ ไม่เป็นไรหรอกหรอก อาตมาเลยตัดสินใจฉันด้วย (หลังจากนั้นอะไรอยู๋ในตู้เย็น พระในกุฏิอาตมาจึงมักหยิบมาฉัน โดยไม่ค่อยมีการขอกันก่อน) แบบนี้ถึงขั้นปาราชิกหรือไม่
อาตมาเคยถามพระพี่เลี้ยง แกบอกว่าอยู่ในกุฏิเดียวกัน ถือวิสาสะไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่ถ้าไปหยิบของกุฏิอื่น โดยไม่ขอ ปาราชิกแน่นอน (สงสัยว่าพระพี่เลี้ยงแกสอนถูกต้องหรือเปล่า)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ
จะเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรายละเอียด หลายข้อเช่น ทรัพย์ที่เจ้าของหวงแหน มูลค่าสิ่งของ เจตนาที่จะลัก เป็นต้นและจำนวนมูลค่าที่จะเป็นปาราชิกในข้อลักทรัพย์ ก็คือ ๕ มาสก (เทียบได้กับนัำหนักทองคำ ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ในราวหลายร้อยบาทอยู่เหมือนกัน) ถ้าราคาไม่ถึงก็ไม่เป็นอาบัติปาราชิก โดยปกติส่วนใหญ่แล้วห้องน้ำในวัดจะใช้รวมกัน อุปกรณ์ชำระร่างกาย อย่างเช่น สบู่ เป็นต้นสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจ ก็ขอให้สอบถามพระภิกษุด้วยกันก็ได้ว่าสามารถใช้ได้ไหม ส่วนในเรื่องน้ำ ในตู้เย็น แต่ละรูปเอามาแช่ไว้ ก็ย่อมเป็นของแต่ละท่าน ถ้าจะให้สบายใจ ก็อาจจะสอบถาม หรือ ถ้ากลัวหลงกันก็อาจจะเขียนชื่อติดไว้ก็ได้ และถ้าไม่ใช่ของของตนเองแล้ว ไม่ควรดื่ม นอกจากเจ้าของจะอนุญาต
และที่น่าพิจารณาที่สุด คือ คำนึงถึงความเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง บวชเพื่อศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลส การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต และไม่ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ จะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนใจในภายหลังที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ถ้าได้สำรวมตามสิกขาบทต่างๆ ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ การต้องอาบัติน้อยใหญ่ ก็จะไม่เกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลัง
-สำหรับองค์ของวิสาสะ พิจารณาจากพระวินัยปิฎก ดังนี้
พระวินัยปิฎก เล่ม ๕ มหาวรรคภาค ๒ - หน้าที่ ๑๗๒
พระผู้มีพระภาคตรัส อนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ เคย เห็นกันมา ๑ เคยคบกันมา ๑ เคยบอกอนุญาตกันไว้ ๑ เขายังมีชีวิตอยู่ ๑ รู้ว่าเมื่อเราถือเอา แล้ว เขาจักพอใจ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลที่ประกอบด้วยองค์ ๕
ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...