กุศล-อกุศล...เมล็ดพันธุ์ผักกาด-เขาสิเนรุ

 
PornchaiSe
วันที่  10 พ.ค. 2557
หมายเลข  24830
อ่าน  1,268

ในชีวิตประจำวันถ้ามีความละเอียดจะสังเกตุเห็นได้ว่า อกุศลจิต เกิดมากกว่ากุศลจิตอย่างเทียบกันไม่ได้ เฉกเช่นเขาสิเนรุ กับ เมล็ดพันธุ์ผักกาด

อกุศลจิตแบ่งหยาบๆ ได้เป็น ๒ ประเภท คือ

เบียดเบียนผู้อื่น ๑,

ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ๑.....

การล่วงอกุศลกรรมบถทั้งหลาย เป็นอกุศลที่เบียดเบียนผู้อื่น....

ส่วนอกุศลที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร เช่น ,ยินดีพอใจในสีสวยๆ เช่นดอกไม้ วิวทิวทัศน์ ทางตา....หลงใหลได้ปลื้มกับเสียงเพลง-ดนตรีทีปรากฏทางหู....ชื่นชมยินดีกับกลิ่นหอมต่างๆ ทางจมูก....ความชอบความต้องการในรส ที่หลายคนยึดติดมากจนต้องเดินทางไปไกลๆ เพื่อเสพรสอร่อยทางลิ้น...สุดท้ายคือทางกายที่ทุกคนต้องการความสบาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศเย็นสบาย ที่นอนนุ่มๆ ....แต่โลภะโสมนัสนั้นจะเกิดมาก เกิดรุนแรงที่สุดคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย จากเพศตรงข้ามที่พึงพอใจที่ชอบใจที่ต้องการ

เหล่านี้คือ โลภมูลจิต ที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (โสมนัสเวทนา) ซึ่งผู้ที่เฉลียวใจคิด พอจะรู้ได้บ้างเล็กน้อย ว่าเป็นความติดข้อง ที่ต่างจากขณะอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

แต่ความต้องการซึ่งเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขาเวทนา) ที่เกิดกับโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตที่มีเป็นปกติในกิจการงานที่เราทำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวมือ-เท้า หยิบจับสิ่งของ ความอยากที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นปกติ เฉยๆ ไม่ได้ต้องการมากมายอะไร ทำไปวันๆ ทำไปด้วยความเคยชินเป็นอัตโนมัติ รู้สึกตัวบ้าง ไม่รู้สึกตัวบ้าง ล้วนเป็นความต้องการและเป็นความไม่รู้ในลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลทั้งนั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นอกุศล เห็นว่าตัวเองสบายดี วันๆ ก็ไม่ได้คิดคดโกงใคร ไม่ได้ตบยุง ฆ่ามด ไม่ได้โกหกใคร ไม่ได้ดื่มเหล้าเมาสุรา จึงคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง ว่าตัวเองมีกุศลทั้งวัน พวกที่มีความลังเล ก็บอกว่า ตนเองไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นกลางๆ แบบอัพยากะตะ ความคิดเอาเองเนื่องจากไม่ได้ฟังพระธรรมหรือฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจเหล่านี้ คือความเห็นผิดคิดว่าอกุศลเป็นกุศล หรือคิดว่าจิตตนเองเป็นแบบกลางๆ ไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศศล....ต่างจากผู้จะบวชเป็นดาบสฝ่ายกรรมวาทีในยุคที่ว่างจากพุทธศาสนาซึ่งมองเห็นและมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าจิตตนเองนั้นขณะใดเป็นกุศล จิตขณะใดเป็นอกุศล และรู้ตัวว่าตนเองต้องทิ้งทุกอย่างและบวชเป็นดาบสเท่านั้นจึงจะหนีความติดในทรัพย์สิน เงินทอง หนีความติดในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทางกายที่ประณีตอันจะยังกิเลสของตนให้เฟื่องฟูและเพิ่มพูนจนเป็นเหตุให้ตนเองประกอบอกุศลกรรมแล้วตกนรก เมื่อบวชเป็นดาบสแล้ว ท่านก็มีปัญญารู้ความจริงในตัวเองต่อไปอีกว่าจิตของท่านจะสงบด้วยกุศลสมาธิถึงขั้นฌานจิตได้นั้นต้องมีอะไรเป็นอารมณ์ เช่น ปฐวีกสิณ (ธาตุดิน) อาโปกสิณ (ธาตุน้ำ) เตโชกสิณ (ธาตุไฟ) เป็นต้น

ดังนั้นจึงมิต้องกล่าวถึงยุคแห่งความรุ่งเรืองด้วยโลกุตระธรรม (ธรรมอันเหนือโลก) ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเอหิภิกขุ (บาตรและจีวรมาพร้อมด้วยฤทธิ์ แค่พระองค์เปล่งวาจาว่า..."เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด") หรือภิกษุขั้นต่ำกว่านั้นคือพระอรหันต์ซึ่งไม่มีฤทธิ์ ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี ภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน ว่าจะเลิศด้วยปัญญากว่าดาบสยุคว่างจากพุทธศาสนามากมายเพียงใด ยังไม่นับรวมอุบาสก อุบาสิกา พระอริยะบุคคลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งมีมากมายในครั้งพุทธกาลทุกสาขาอาชีพ ทั้งพระมหากษัตริย์ ทหาร นักรบ แพทย์ พ่อค้าวานิช ทาส กรรมกร คนรับใช้ แม้คนจัณฑาลเป็นโรคเรื้อนก็เป็นพระอริยะบุคคลได้ (มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกคือนาย สุปปะพุทธะกุฏฐิ เมื่อบรรลุแล้วก็หายจากโรคเรื้อน มีผิวพรรณปกติเพราะอานุภาพแห่งอริยะมรรค)

สำหรับคนสมัยนี้มีโชคดี ที่พระพุทธศาสนายังไม่เสื่อมสูญไป จึงควรใส่ใจศึกษาคำสอนจากพุทธองค์ซึ่งมีค่าหาประมาณมิได้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เราไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน แค่เพียงเข้าใจเบื้องต้นว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล โดยไม่ใช่คิดเดาเอาเอง หรือคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองสบายๆ เป็นกุศลทั้งวัน หรือเป็นกลางๆ ทั้งวัน

พระองค์เน้นเรื่องการฟังพระธรรมเป็นอย่างมาก หลังจากทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เพื่อคนในครั้งพุทธกาลซึ่งมีปัญญามากอยู่แล้ว แต่เพื่อคนในยุคหลังๆ เช่นพวกเราๆ ท่านๆ ที่มีปัญญาน้อยนิดนี่แหละ เพราะพระองค์ทรงแสดงไว้แล้วว่าพระธรรมจะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คนในยุคนี้มีปัญญาน้อย ยิ่งต้องศึกษาให้มาก ศึกษาให้ละเอียด ต้องเพียรมาก ตั้งใจมาก อบรมมาก ฝึกฝนตัวเองให้มากๆ และต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้ที่จะแนะนำเราในสิ่งที่เราอาจจะเข้าใจผิดได้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง...เราต้องไม่ปิดกั้นต้วเองที่จะรับฟังเหตุผลจากพระธรรม จากกัลยาณมิตรที่แนะนำเราด้วยเมตตา เพื่อความสุขความเจริญของตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peem
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอขอบคุณและอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ