รู้สึกผิด

 
kinder
วันที่  12 พ.ค. 2557
หมายเลข  24845
อ่าน  3,549

ทำผิด แล้วรู้สึกสำนึกผิด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูกคือถูก ผิดคือผิด ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งดี และไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ส่วนที่กล่าวว่าไม่ดี ก็เพราะกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย

สำหรับสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลกรรม ที่เกิดแล้วเป็นไปแล้ว เป็นการกระทำที่เป็นโทษ ตรงกันข้ามกับกรรมที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว ใครก็ไม่สามารถย้อนกลับไปตัดหรือลบล้าง ไม่ให้เป็นความไม่ดีได้ เพราะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ความไม่ดี ก็ต้องเป็นความไม่ดี แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของความไม่ดีแล้ว ก็สามารถขัดเกลา เริ่มต้นใหม่ สะสมในสิ่งที่ดีต่อไปได้ งในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เมื่อมีผู้ที่ทำผิดในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และผู้นั้นเกิดจิตสำนึกคือ เห็นโทษนั้นด้วยใจจริง ด้วยกุศลธรรม พระพุทธเจ้าย่อมทรงทราบถึง ความเห็นโทษตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เห็นโทษจริงๆ พระองค์ก็ย่อมตรัสเตือน และ ทรงยกโทษนั้น คือ โทษที่ ผู้นั้นทำไม่ดี เพื่อประโยชน์ให้ผู้ที่ทำผิด สำรวมระวังต่อไป สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 78

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษที่ข้าพระองค์เป็นคนโง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงยกโทษแก่ข้าพระองค์ เพื่อสำรวมต่อไป.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ ความผิดที่ท่านผู้เป็นคน โง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว เธอจึงได้กล่าวกะเราอย่างนั้นเพราะเธอเห็นโทษแล้วจึงยอมรับผิด เรายกโทษแก่เธอ ผู้ใดเห็นโทษสารภาพโทษตามความเป็นจริง ถือความสังวรต่อไป นี้เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้า


จากพระสูตร นี้ แสดงถึง ผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษจริงๆ ด้วยใจที่สำนึกด้วยกุศลจิต พระพุทธเจ้าทรงเห็นเช่นนี้และทรงอดโทษ คือ ยกโทษให้ในการกระทำที่ไม่ดีของบุคคลนั้น และตรัสเตือน แสดงให้เห็นโทษของอกุศล และไม่ใช่เพียงเห็นโทษที่ได้ทำไปแล้วเท่านั้น แต่สำคัญที่ว่า เมื่อเห็นโทษแล้ว ก็ควรที่จะสำรวมระวังต่อไป คือประพฤติปฏิบัติที่ดี ไม่ควรประพฤติในสิ่งที่เคยปฏิบัติคือ การกระทำที่ไม่ดีอีกด้วยการสำรวมระวัง ด้วยสติและปัญญาเป็นสำคัญ อันจะมีได้ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญครับ นี่คือความหมายของนิรโทษกรรม เบื้องต้นที่แสดงถึงการอดโทษ ยกโทษให้ ของผู้ที่ถูกกระทำผิด เป็นการไม่มีโทษซึ่งกันและกัน ในโทษคืออกุศล เมื่อได้ทำผิดแล้ว สำนึกผิด เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามต่อไป ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นความประพฤติเป็นไปของคนดีสมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 345

ว่าด้วยคนพาล ๒ จำพวก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่ไม่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวกนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ คนที่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวกนี้แล.


แต่ละคนที่ยังมีกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด โอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกไม่ควร ก็ย่อมมีได้ด้วยกันทั้งนั้น เป็นที่น่าพิจารณาว่า ควรหรือที่จะไปกระทำในสิ่งที่ไม่ควรแก่ผู้นั้น จะด้วยการเข้าไปด่าว่า แสดงความไม่พอใจในลักษณะต่างๆ เป็นต้น เพราะขณะนั้นกำลังสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าได้ผิดพลาดกระทำในสิ่งที่ไม่ควรลงไปแล้ว ถ้ามีความจิงใจเห็นโทษโดยความเป็นโทษ พร้อมที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีต่อไป อย่างนี้ย่อมถูกต้องเป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรม ยิ่งขึ้น เพราะสามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจใหม่ ที่จะไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นอีก ก็ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ kinder ด้วยครับ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในความเป็นผู้ตรงของคุณ kinder ครับ

ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ย่อมมีแน่นอนสำหรับบุคคลผู้ที่กระทำความผิด จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอยู่เสมอ เพราะพระองค์ไม่เคยสอนให้เกิดกุศลเลยแม้แต่น้อย, แม้จะทำผิด สามารถเกิดกุศลจิต เห็นโทษ พร้อมกับขอโทษผู้อื่นที่ตนล่วงเกิน ได้พร้อมที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ไม่เห็นโทษ ขอโทษคนอื่นไม่ได้ทั้งๆ ที่ตนเองผิด แสดงถึงกิเลสที่สะสมมาซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างมาก ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีในชีวิตประจำวัน ปัญญานี้เองที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 12 พ.ค. 2557

คนที่รู้สึกผิดแล้วขอโทษ ยังเป็นคนดี แต่คนที่ขอโทษแล้วคนอื่นไม่ให้อภัย คนที่ไม่ให้อภัย ไม่ดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 14 พ.ค. 2557

Anumodhana kaa

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ