ความเห็นแก่ตัวเป็นสภาพธรรมแบบไหนครับ

 
papon
วันที่  19 พ.ค. 2557
หมายเลข  24883
อ่าน  3,360

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ความเห็นแก่ตัวเป็นสภาพธรรมแบบไหน และธรรมที่จะละคืออะไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นแก่ตัว เป็นอกุศลธรรม ใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจึงมีความรักตัว และก็ทำทุกอย่างเพื่อตัวเองด้วยความเห็นแก่ตัวในขณะใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ดังนั้น สภาพธรรมที่จะเป็นเครื่องขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ก็คือ กุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะเหตุว่าทุกขณะที่กุศลธรรม (กุศลจิต และ โสภณเจตสิก) เกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจากอโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดข้อง ไม่โลภ เลย ขณะใดที่อโลภะเกิด ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับความติดข้องอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การทำดีและศึกษาพระธรรมจึงเป็นไปเพื่อขัดเกลาความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ขณะที่เป็นอกุศล เป็นการเห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การเกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น

ธรรมที่ขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ก็ต้องเป็นกุศลธรรม

การให้ทาน ก็ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์สุขของบุคคลอื่นให้ระลึกหรือให้คิดถึง ทานกุศลในขณะนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ก็ยังคงคิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง แต่ขณะใดที่มองเห็นบุคคลอื่นที่มีความจำเป็น ที่ควรที่จะได้รับวัตถุปัจจัยเป็นการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น ในขณะที่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น กุศลขั้นทาน ก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น

การรักษาศีล วิรัติงดเว้นทุจริตเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้น ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว คือไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง เนื่องจากว่าในขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะเบียดเบียนผู้นั้นได้ แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียน ด้วยกายบ้าง วาจา บ้าง ในขณะนั้นก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น รวมถึงการกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแค่งดเว้นจากทุจริต เท่านั้น การอบรมเจริญปัญญา เป็นการสละความเห็นแก่ตัวได้จริงๆ เพราะสามารถที่จะดับอกุศลได้ในที่สุด และความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง ยังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยการให้เกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีความเข้าใจถูก ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 20 พ.ค. 2557

ความเห็นแก่ตัวน่าจะเป็นเจตสิกอะไรคะ..มานะ ได้ไหมคะ..ขอบคุณคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ค. 2557

ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ว่า คนที่ไม่ให้ทาน เพราะความตระหนี่ กับ ความประมาท จะละความเห็นแก่ตัวได้ ก็ต้องศึกษาธรรมะ ฟังธรรมให้เข้าใจ ปัญญาจะทำหน้าที่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 28 พ.ค. 2557

ความเห็นแก่ตัวโดยทั่วไปหมายถึงการมุ่งเอาแต่ประโยชน์ตนเพราะมีโลภะติดข้องด้วยทิฏฐิว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคล..................จึงเห็นแก่ตัวเช่นตระหนี่ไม่ให้ในสิ่งที่ควรให้หรือถือว่าตนเป็นใหญ่ ผู้ต่ำกว่าต้องเป็นผู้ให้..พระโสดาบันไม่มีความเห็นแก่ตัวเพราะทำในสิ่งที่สมควรทำ..ตามข้อความในโกสัมพิกสูตร...

"ใส่ใจถึงลูกโค" ความว่า คอยแลดูลูกโคอยู่ด้วย. เหมือน อย่างว่าโคแม่ลูกอ่อน จะไม่ทิ้งลูกโคที่รวมกันมาป่า แล้วนอนในที่หนึ่งไป ไกล แม่โคนั้นจะเที่ยวไปในที่ใกล้ๆ ลูกโคและเล็มหญ้าแล้ว ก็ชูคอขึ้นชำเลืองดูลูกโคไปด้วยทีเดียว. พระโสดาบันก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกิจที่ควรทำ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ