วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชามีกล่าวในพระไตรปิฏกหรือไม่ อย่างไรคะ อัฏฐ หมายถึงอะไร และชื่อหนังสือ เช่น อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต หมายความว่าอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิง
อัฏฐะ โดยความหมาย คือ แปด อย่างเช่น อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ก็หมายถึงพระไตรปิฎก นิกาย หมวดแปด ที่มีธรรม 8 ข้อ หรือ อย่างเช่น อัฏฐบาน ก็หมายถึง น้ำปานะ น้ำผลไม้ 8 อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต เป็นต้น รวมความว่า หมายถึง จำนวน คือ 8 เพราะฉะนั้น อัฏฐมีบูชา คือ วันที่ บูชาในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ที่ปพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน ครับ
โดยที่วันอัฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๘ วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์ ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีแห่งกรุงกุสินารา ซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งประเพณีนี้ ก็มีขึ้นในตอนหลัง เพื่อให้รำลึกถึง พระพุทธเจ้า ทีทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว และ ถวายพระเพลิงในวันนี้ ซึ่ง ไม่ได้มีประเพณีนี้ในพระไตรปิฎก แต่ ชาวพุทธก็สามารถน้อมระลึกถึงวันนี้ได้ เมื่อมีปัญญาความเข้าใจถูก ของความไม่เที่ยงของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และ ไม่ประมาทที่จะอบรมปัญญา บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยใจ คือ ใจที่มีความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วันอัฏฐมีบูชา เป็นการบูชาในดิถีที่ ๘ คือ วันแรม ๘ ค่ำ เป็นวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับจากวันที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ในขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระองค์ ซึ่งไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเอง ซึ่งเป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เพราะฉะนั้นแล้ว พระธรรมแต่ละคำ ซึ่งเกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์นั้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มฟัง เริ่มศึกษา ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...