การให้และรับกรรมฐานเป็นอย่างไร
จากกระทู้ 016260 การเจริญสมาธิ [วิสุทธิมรรคแปล]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 15
[การเจริญสมาธิ]
ส่วนคำเฉลยในปัญหาข้อว่า " สมาธินั้นจะพึงเจริญอย่างไร "
นี้พึงทราบต่อไปนี้ สมาธิใดอันสัมปยุตด้วยอริยมรรค ที่ข้าพเจ้า
กล่าวไว้ก่อนแล้วในทุกสมาธิ มีข้อว่า " นี้สมาธิเป็น ๒ โดยเป็น
โลกิยะและโลกุตระ " ดังนี้เป็นอาทิ นัยแห่งการเจริญอริยมรรค-
สมาธินั้นสงเคราะห์เข้ากับนัยแห่งการเจริญปัญญาได้ทีเดียว เพราะว่า
เมื่อเจริญปัญญาแล้ว มรรคสมาธินั้นก็ย่อมเป็นอันเจริญด้วยแท้
เพราะเหตุนั้น เราจะไม่มุ่งเอามรรคสมาธินั้นมากล่าวแยกไว้ต่างหาก
ว่ามรรคสมาธินั้นจะพึงเจริญอย่างนี้ๆ ส่วนว่าสมาธิอันเป็นโลกิยะนี้ใด
โลกิยะสมาธินั้น อันพระโยคาวจรผู้ยังศีลทั้งหลายให้หมดจด โดยนัยที่
กล่าวแล้ว ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้ว บรรดาปลิโพธ ๑๐ ประการ
ปลิโพธใดของเธอมีอยู่ ตัดปลิโพธนั้นเสียแล้ว เข้าไปหาท่านผู้ให้
กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร ถือเอากรรมฐาน ๔๐ ข้อใดข้อหนึ่ง
ซึ่งอนุกูลแก่จริยาของตน ละวิหารอันไม่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิเสีย
อยู่ในวิหารอันเหมาะ ตัดความกังวลเล็กๆ น้อยๆ (เสียให้หมดด้วย)
แล้วพึงเป็นผู้ไม่ทำภาวนาวิธีทั้งปวงให้บกพร่องไป เจริญขึ้นเถิด
นี้เป็นความสังเขปในการเจริญสมาธินั้น ส่วนความพิสดารดังต่อไปนี้
[ปลิโพธ ๑๐]
วินิจฉัยในข้อที่ว่า " บรรดาปลิโพธ ๑๐ ประการ ปลิโพธใด
ของเธอมีอยู่ ตัดปลิโพธนั้นเสีย " นี้ก่อน
เครื่องกังวลนั้น คือ อาวาส ตระกูล ลาภ คณะ
และการงานเป็นที่ ๕ การเดินทาง ญาติ อาพาธ
การเล่าเรียน และฤทธิ รวมเป็น ๑๐
เรียนถามว่าการให้และรับกรรมฐานเป็นอย่างไร และเกิดกับผู้เข้าใจในพระธรรมระดับไหนคะ การตัดเครื่องกังวลได้นั้นจะเป็นไปตามธรรมที่สมควรแก่ผลใช่หรือไม่ หรืออย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก็ต้องเข้าใจไปทีละคำ คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกันคือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือที่ตั้งแห่งการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้งที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทั้งในเรื่องของความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของความเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับกิเลส และ เป็นไปเพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง
เพราะมีกรรมฐาน ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อสงบระงับกิเลส เพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก) , ในเรื่องของ สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษาให้ละเอียด ทรงมุ่งหมายถึงอะไรเป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี ความเข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตนซึ่งผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งจะขอกล่าวโดยละเอียด เพื่อเติมของ กรรมฐาน ลงไปเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กรรมฐาน เมื่อได้ยินชื่อ ก็เข้าใจว่าเป็นการกระทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า การปฏิบัติ มีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว กรรมฐาน มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ดังนั้น ขอให้ย้อนกลับมาที่สภาพธรรมที่มีจริง กรรมฐาน ก็คือ ตัว สติและปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ชื่อว่ากรรมฐาน และ แม้แต่ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้ สติ และ ปัญญารู้ ก็ชื่อว่า กรรมฐาน นี่คือ ความละเอียดของ คำว่า กรรมฐาน ที่ไม่ใช่การกระทำเป็นรูปแบบ การปฏิบัติ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ กรรมฐาน คือ ธรรมนั้นเอง ที่ปฏิบัติกิจหน้าที่ให้กุศลเจริญขึ้น คือสติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบจากกิเลส เป็น สมถภาวนา ที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน และ สติและปัญญาที่ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ในขณะนั้น ทำหน้าที่ เป็นตัวกรรมฐานเอง ที่เกิดขึ้น ก็เป็น วิปัสสนากรรมฐาน จึงไม่มีตัวเรา ปฏิบัติกรรมฐาน มีแต่สภาพธรรมที่ปฏฺบัติ หน้าที่รู้ความจริง จึงเรียกว่ากรรมฐาน ส่วนการให้กรรมฐาน คือ ให้ความเข้าใจโดยพระพุทธเจ้าที่เหมาะกับอุปนิสัยของบุคคลนั้นครับ ส่วนผู้รับกรรมฐานคือ อบรมเจริญสติและปัญญาในขณะนั้น ครับ ส่วนการตัดปลิโพธ ก็ตามปัญญาที่สะสมมาครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นความจริง เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งความจริงทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ดังนั้น สภาพธรรมทั้งปวง จึงเป็นที่ตั้งของการอบรม คือเป็นที่ตั้งของสติสัมปชัญญะ ที่จะระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ดังนั้น การฟัง การศึกษาพระธรรม การได้ฟังในสิ่งที่มีจริง บ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งความเข้าใจเพิ่มขึ้นเจริญขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ที่กล่าวว่า ขอรับกัมมัฏฐานนั้น ก็คือ ขอโอกาสฟังพระธรรม เพื่อให้มีความเข้าใจถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริง ยิ่งขึ้น เพราะพระธรรมทั้งหมด เป็นกัมมัฏฐาน แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องได้ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...