วิตกเจตสิก

 
papon
วันที่  25 พ.ค. 2557
หมายเลข  24905
อ่าน  4,780

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

วิตกเจตสิกเป็นผลจากกรรมหรือครับ ขอความอนุเคราะห์ในรายละเอียดด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิตก [ตรึก] (วิตักกเจตสิก) วิตกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เกิดกับกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล, วิตก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

วิตักกเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีจริงๆ ในขณะนี้ด้วย เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับจิตส่วนใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งในชีวิตประจำวันก็ไม่เกิดกับจิต ๑๐ ประเภท คือ ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นผลของกุศล กับ ที่เป็นผลของอกุศล (รวมเป็น ๑๐ พอดี) นอกนั้น มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งยากที่จะเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง แม้มีจริงๆ ในขณะนี้ วัตักกเจตสิก ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งหมด เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สำหรับในชีวิตประจำวัน ก็พอจะเข้าใจได้ว่า มีการตรึกไปในทางที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะส่วนใหญ่แล้ว ก็ตรึกนึกคิดด้วยกันทั้งนั้น ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง จะคิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังด้วยความเข้าใจ คิดในทางที่จะไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น หรือจะคิดในทางที่เบียดเบียดผู้อื่น เป็นไปกับด้วยอกุศลประการต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

ถ้ากล่าวถึงผลของกรรม แล้ว กว้างขวางมาก ครอบคลุมทั้งนามธรรมที่เป็นวิบาก และ รวมถึงรูปที่เกิดจากกรรม ด้วย

ตัวอย่างผลของกรรม เช่น จักขุวิญญาณ (เห็น) เป็นวิบาก จักขุวิญญาณ เป็นจิตชาติวิบาก เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ก็เป็นชาติวิบากด้วย นี้คือตัวอย่างของ ผลของกรรมที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นนามธรรม แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่เป็นรูป แล้ว เช่น จักขุปสาทะ เป็นรูปธรรม ที่เป็นผลของกรรม เพราะเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ไม่เรียกว่าวิบากเพราะเมื่อกล่าวถึงวิบากแล้ว ต้องเป็นนามธรรม เท่านั้น คือ จิตชาติวิบากและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เท่านั้น

ซึ่ง วิตกเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิก คือ สามารถเกิดร่วมกับจิตชาติใดก็ได้ และ สามารถเป็นผลของกรรม ที่เป็นวิบากก็ได้ ถ้าวิตกเจตสิกเกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก, และ ไม่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมก็ได้ ถ้า วิตกเจตสิกเกิดกับ จิตที่ไม่ใช่ชาติวิบาก คือ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ครับ จึงกล่าวสรุปได้ว่า วิตกเจตสิก เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรมก็ได้ และ ไม่เป็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า วิตกเจตสิกเกิดกับจิตชาติใด ครับ

ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดี จากที่มากไปด้วยการตรึกไปด้วยอกุศล ก็มีพระธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา ทำให้น้อมไปในทางที่ดี ตรึกไปในทางที่ดีมากด้วย คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 25 พ.ค. 2557

เรียน​อาจารย์​ทั้งสอง​ท่าน

การตรึกถึงอะไรบ่อยๆ โดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์จะเป็นการเพิ่มกุศลหรืออกุศลในชวนวิถีหรือไม่อย่างไรครับ ขอ​ความ​อนุเคราะห์​ด้วย​ครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

สภาพธรรมเป็นจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน ซึ่งสภาพธรรมหลากหลายมากเมื่อประมวลแล้วก็ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม, นามธรรมคือจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ จิตและเจตสิก เกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ จิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ส่วนรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้เกิดขึ้นจากสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

สภาพธรรมที่เป็นวิตักกเจตสิก คือ ความตรึก นั้น ต้องเป็นนามธรรมเท่านั้น คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ขณะที่คิดดีเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลผู้อื่น คิดถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น นี้คือตัวอย่างของวิตักกเจตสิก ที่เป็นกุศล เป็นการสะสมสิ่งที่ดีในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นอกุศล เป็นไปกับด้วยความติดข้องต้องการ เป็นไปกับด้วยความโกรธขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็สะสมอกุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การตรึก ที่เป็นวิตกเจตสิก สามารถมีทั้งรูป หรือ นามเป็นอารมณ์ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะห้าม ไม่ให้วิตกเจตสิกเกิด ตรึกเป็นไปในเรื่องต่างๆ โดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์ได้เลย และ แม้ขณะนี้ ก็สามารถเกิด อกุศลวิตก แม้มีรูปเป็นอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะ ที่สำคัญ การเกิดอกุศลจะมาก น้อย ไม่ได้อยู่ที่การมีรูป หรือ มีเรื่องราวเป็นอารมณ์ แต่อยู่ที่ การสะสมกิเลสมากมากหรือน้อยเท่าไหร่ ครับ ซึ่งหนทางการละกิเลส ละอกุศลวิตก ไม่ใใช่การไม่ให้มีรูป หรือ มีแต่เรื่องราวเป็นอารมณ์

ซึ่งแต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน มากไปด้วยกิเลสที่มีมาก ก็ย่อมจะเกิดอกุศลวิตกได้มากกว่า ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางการละอกุศลวิตกที่ถูกต้อง และหมดสิ้นจริงๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ประเสริฐ คือ การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะเข้าใจว่า แม้อกุศลวิตกที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา การรู้ความจริงเช่นนี้ ย่อมจะละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลที่เป็นความเห็นได้ และ ย่อมละกิเลสเป็นลำดับ โดย เริ่มจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูกต้อง ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 210

[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิอยู่ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 29 พ.ค. 2557

แต่ละบุคคลสะสมมาต่างกัน เช่น ฟังธรรมเรื่องเดียวกัน แต่คิดต่างกัน และ แต่ละขณะจิตเกิดดับรวดเร็วมาก ที่สำคัญให้เข้าใจธรรมะที่มีจริงๆ ขณะนี้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 29 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 23 มิ.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิริยะ
วันที่ 5 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 10 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ