ขอปรึกษาวิธีแก้ปัญหา สังฆาทิเสส 13

 
bybybyby02
วันที่  31 พ.ค. 2557
หมายเลข  24920
อ่าน  6,065

ข้าพเจ้าได้บวชเป็นภิกษุได้ประมาณ 1 เดือนกว่าแล้ว และอีกไม่นานนี้ก็จะลาสิกขา ข้าพเจ้าสงสัยว่า ได้ต้องอาบัติ ข้อ 3 ห้ามพูดหยาบคาย เกะกะ เกี้ยวหญิง (ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย) โดยการแชทไลน์กับแฟนแบบปกติในมือถือ ดังตอนเป็นฆราวาส เป็นเวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนที่จะไปบอกกับพระรูปอื่น ข้าพเจ้าขอถามความสงสัยว่า

1>หากข้าพเจ้าต้องการบวชเพื่อได้ 1 พรรษาในปีหน้าหลังจากที่ลาสิกขาไปแล้ว ข้าพเจ้าค่อยกลับมาเข้าปริวาสก่อนเข้าพรรษาได้หรือไม่ หรือควรเข้าปริวาสก่อนลาสิกขาจะเป็นดีที่สุด

2>ข้าพเจ้าต้องบวชเป็นเณร หรือเป็นพระก่อนเพื่อเข้าปริวาสหากได้ลาสิกขาไปแล้ว

3>หากจะเข้าปริวาสแต่จำจำนวนวันที่ต้องอาบัติได้ไม่แน่นอน แต่พอประมาณได้แต่ไม่แน่นอน ต้องอยู่กรรมในวัดทั้งหมดกี่คืน และมีคอร์สแบบเหมา หรือระยะสั้นหรือไม่

4>เคยเข้าพิธีบวชพระใหม่หลังต้องอาบัตินีิ้ จะเป็นไรหรือไม่

ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ช่วยตอบความสงสัยของข้าพเจ้าไว้ล่วงหน้า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับการที่จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๓ ที่ว่าด้วยการพูดเกี้ยวหญิงนั้น มุ่งหมายถึงการพูดพาดพิงถึงวัจจมรรค (ทวารหนัก) ปัสสาวมรรค (ทวารเบา) พาดพิงเมถุนธรรม (การกระทำของบุคคลคู่ระหว่างชายกับหญิง) ถ้ามีการกล่าวคำพูดอย่างนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นการกระทำไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชนทั้งหลาย ส่วนการพูดอย่างคำถามที่ได้ยกขึ้นมาถามนั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะไม่ได้พูดพาดพิงวัจจมรรค ปัสสาวมรรคและเมถุนธรรม แต่ก็เป็นวาจาที่ไม่เหมาะสม สำหรับเพศบรรพชิต ซึ่งจะต้องมีการสำรวมระวังอย่างยิ่งทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทข้อใด ก็มีโทษสำหรับผู้ล่วงละเมิดทั้งนั้น การได้ศึกษาพระวินัย ในแต่ละสิกขาบทให้เข้าใจ ย่อมเกื้อกูลได้มากทีเดียว ที่จะทำให้ได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผิด อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่ผิด และ เพื่อที่จะได้น้อมประพฤติเฉพาะในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ครับ

เพราะฉะนั้น การที่ผู้หญิง ส่งข้อความคุยไลน์ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ก็ไม่ต้องถึงอาบัติสังฆาทิเสส ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความโดยตรงจากพระวินัยปิฎก ครับ

พูดเกี้ยวหญิง อาบัติสังฆาทิเสส [มหาวิภังค์]

แต่หากถึงอาบัติสังฆาทิเสส ก็ควรปลงอาบัติ ตามกำหนดเวลาที่จำได้ แสดงโทษ และอยู่ปริวาสกรรม ที่ถูกพระวินัย ก่อนที่จะสึกออกไปจะเหมาะสมกว่า สึกไปแล้ว กลับมาบวชใหม่แล้วจึงแก้อาบัติ ครับ แต่ หากลาสิกขาไปแล้ว ไม่ได้ปลงอาบัติ ก็บวชเป็นพระได้ แต่ต้องแก้อาบัติทันที ซึ่งสามารถบวชพระใหม่ได้ ตราบใดที่ไม่ได้ต้องถึงอาบัติปาราชิกครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การล่วงละเมิดสิกขาบทแต่ละข้อๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไ้ว้ ย่อมเป็นอาบัติสำหรับพระภิกษุรูปที่ล่วงละเิมิด ตามความหนักเบาของสิกขาบทนั้นๆ อย่างหนัก ก็ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุ คือปาราชิก เช่น เสพเมถุน ฆ่ามนุษย์ ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที อาบัติรองจากปาราชิก คือ สังฆาทิเสส เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่ปริวาสกรรม อาศัยคณะสงฆ์เท่านั้นถึงจะออกจากอาบัตินี้ได้ ในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ไม่ได้อยู่ปริวาสกรรม ลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์ ย่อมไม่มีอาบัติติดตัวแต่อย่างใด แต่เมื่อกลับเข้ามาบวชใหม่ อาบัติทั้งหมดที่ต้องแล้ว ไม่ได้ทำการแก้ไขเมื่อบวชครั้งก่อน ก็จะมีเหมือนอย่างเดิม ต้องทำการแก้ไขด้วยการออกจากอาบัตินั้นๆ ตามสมควรแก่อาบัติชนิดนั้นๆ ที่ตนได้ล่วง กล่าวคือ ถ้าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ปกปิดไว้นานเท่าใด ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม เท่ากับจำนวนวันที่ตนเองต้อง ถึงจะออกจากอาบัตินั้นได้ ถ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทุกกฏ เป็นต้น ก็แก้ไขด้วยการแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน มีความจริงใจที่จะสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ อีก อาบัติที่ได้ต้องเข้าแล้ว เมื่อได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวิันัยแล้ว ก็จะไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์ ไม่เป็นเครื่องกั้นในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว ไม่มีอาบัติติดตัว ขอให้สบายใจตรงนี้ได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องกลับเข้าไปบวชใหม่ เพื่อจะปลงอาบัติหรือแก้ไขตามพระวินัย เพราะไม่มีอาบัติติดตัวแล้ว แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และสะสมความดีประการต่างๆ ในเพศคฤหัสถ์ สรุปแล้ว คือ เป็นคนดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ

แต่ถ้าจะบวชจริงๆ ก็สามารถบวชได้ โดยไม่ต้องบวชเป็นสามเณรก่อน (เมื่อมีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป) แต่ลองถามตัวเองก่อนว่าบวชเพื่ออะไร เพราะถ้าไม่มีความจริงใจในการน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว เพราะความเป็นพระภิกษุ ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิ เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 พ.ค. 2557

สังฆาทิเสส ปลงอาบัติได้ เวลาเจอภิกษุด้วยกันต้องบอกความผิดของตัวเองกับพระภิกษุที่เจอ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ