สิ่งที่ปรากฏและสิ่งที่เกิดดับ

 
papon
วันที่  9 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24961
อ่าน  1,172

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"สิ่งที่ปรากฏและสิ่งที่เกิดดับ" เป็นสิ่งที่มีอายุเท่ากับจิต 17 ขณะเหมือนกันหรือไม่อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายเพื่อการพิจารณาต่อไปด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่ปรากฏ คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย และที่จะมีการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คือ รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งมีลักษณะให้รู้ตามความเป็นจริงได้

สิ่งที่ปรากฏ หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่ง สิ่งที่ปรากฏกินความกว้างขวาง ที่หมายถึง รูปธรรมและ นามธรรมที่เป็น จิต เจตสิกด้วย ส่วนทั้ง รูปและ จิต เจตสิก ก็เกิดดับ เพราะต่างก็เป็นสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นและดับไป ครับ แต่การเกิดดับ คือ อายุของรูปและนาม คือ จิต เจตสิกไม่เท่ากัน จิต เจตสิกเกดดับพร้อมกัน และเกิดดับรวดเร็วกว่ารูปธรรม ซึ่ง รูปธรรม พอประมาณได้ว่า เท่ากับการเกิดดับของจิต 17 ขณะจิต รูปนั้นจึงดับไป

รูปเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้นและดับไป ซึ่ง รูปธรรม นั้น ไม่ว่ารูปใด ก็เกิดขึ้นและดับไป เท่ากับจิตเกิดดับ 17 ขณะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะปรากฏ หรือ ไม่ปรากฏก็ตาม ครับ เช่น เสียงในป่า แม้ไม่ไปรู้ รูปก็เกิดดับ ตลอดเวลา เกิดดับ 17 ขณะจิต ครับ ซึ่งรูปมี สมุฏฐานให้เกิด 4 สมุฏฐาน คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร รูปก็เกิดดับ 17 ขณะ ตามสมุฏฐานนั้น รูปที่เกิดจากอุตุ เช่น ต้นไม้ เป็นต้น ที่มีการประชุมของรูปที่เกิดจากอุตุ รูปเหล่านั้น แม้เราไม่ไปรู้ ก็เกิดดับ 17 ขณะจิต

ตามความเป็นจริง สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แม้ จิต และรูป ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเช่นกัน ซึ่ง อายุของจิต คือ การเกิดดับของจิต รวดเร็วกว่ารูป ดังนั้น รูปเมื่อเกิดขึ้น และดับไปนั้น มีอายุเท่ากับ 17 ขณะจิตจึงดับไปครับ ขอยกตัวอย่างรูปที่ปรากฏทางตา ซึ่งรูปเกิดขึ้นที่จิตขณะแรก คือ อตีตภวังค์ ขณะที่ 2 คือ ภวังคจลนะ ขณะที่ 3 ภวังคุปัจเฉทะ ขณะที่ 4 ปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะที่ 5 คือ ทวิปัญจวิญญาณ (เช่น จิตเห็น) ขณะที่ 6 คือ สัมปฏิจฉันนจิต ขณะที่ 7 คือ สันตีรณจิต ขณะที่ 8 คือ โวฏฐัพพนจิต ขณะที่ 9 - 15 คือ ชวนจิต ๗ ขณะ ขณะที่ 16-17 คือ ตทาลัมพณจิต ๒ ขณะ ครบ 17 ขณะจิต รูปที่เกิดขึ้นจึงดับไปครับ

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่ปรากฏ หมายถึง รูปและนามที่เป็นจิต เจตสิก แตกต่างจาก สิ่งที่เกิดดับ 17 ขณะจิต ที่หมายถึง รูปเท่านั้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 9 มิ.ย. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

รูปตามที่อาจารย์กล่าวมาเป็นวรรณะ สัททะ รส กลิ่น แล้วแข็งเป็นอย่างนี้ในกรณีที่มีกายวิญญาณและถ้าไม่มีการสัมผัส แข็งเกิดดับอย่างไรครับ? ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีจริงๆ ปรากฏตามที่เป็นจริง จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องมีปัญญาเข้าใจถูก จึงจะสามารถรู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้ และที่สำคัญการรู้ธรรม ก็คือรู้ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม คือ แข็ง ซึ่งเป็นลักษณะของปฐวีธาตุ นั้นก็เข้าใจได้ว่า ในกลุ่มของรูปทุกกลุ่มจะไม่ปราศจากธาตุนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นแข็งที่ไหนก็ตาม แข็งเป็นแข็ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่จะปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับกายปสาทะ เป็นเหตุให้วิถีจิตทางกายเกิดขึ้นรู้แข็ง ตามกิจหน้าที่ของตนๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 มิ.ย. 2557

สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น เย็น ร้อน อ่อนแข็ง รู้สิ่งที่ปรากฏเป็นนามธรรม เช่น รู้เย็น รู้ร้อน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ตามความเข้าใจ

รู้แข็งเป็นนามธรรม..แข็งเป็นลักษณะของธาตุดินที่เกิดแล้วดับถึงไม่มีธาตุรู้ก็ดับ..รู้การเกิดดับของแข็งต้องเป็นวิปัสสนาญาณทางใจ..กายวิญญาณมีผัสสเจตสิกทำหน้าที่กระทบแข็ง..กายวิญญาณรู้แข็งนั้นแต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงไม่รู้การเกิดดับของแข็ง..เข้าใจอย่างนี้ถูกผิดอย่างไร..คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2557

ถูกต้องครับ ขออนุโมทนาในความเห็นถูก

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ