ธรรมจาริกในศรีลังกา - อารัมภกถา.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ.ดร.ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
คัดลอกจาก members.tripod.com/buddhiststudy/srilanka.htm
ในครั้งกระโน้น พระภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและปฏิบัติ "สติปัฏฐาน" (ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้) กันอย่างกว้างขวาง คนเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านเหล่านั้น ได้บรรลุอรหัตตผล ก็เพราะว่า ท่านมีสติระลึกรู้สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ มโนทวาร ในขณะปัจจุบัน
.
อารัมภกถา
เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักผู้เขียน และการจาริกของเธอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การมีอารัมภกถาสำหรับเรื่อง "ธรรมจาริกในศรีลังกา" นี้เป็นการสมควรอย่างที่สุด
วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี ๒๕๑๐ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" โดยผู้เขียนท่านนี้แล้ว พระคุณเจ้าธัมมธโร ได้เสนอแนะให้ข้าพเจ้าจัดสัมมนาธรรมขึ้นในประเทศศรีลังกา และให้เชิญ คุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนเรื่องนี้ ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมที่มีชื่อเสียงยิ่งคนหนึ่งของประเทศไทย และได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางทั้งจากภิกษุและคฤหัสถ์ในประเทศไทย ในความเชี่ยวชาญและขันติธรรมของท่านที่เผยแพร่พระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คนทั้งหลายเข้าใจได้
ข้าพเจ้าได้นำความคิดนี้ไปเสนอแก่พระคุณเจ้ามดิเหปัณณสีห์ มหานายกะเถระผู้อุปถัมภ์ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านก็ได้เห็นพ้องด้วยอย่างสิ้นเชิงกับแผนงานนี้ทั้งหมด และได้กรุณารับเป็นประธานเปิดประชุมสัมมนานี้ ที่ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา ณ เลขที่ ๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะะ โคลอมโบ ๗ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การประชุมครั้งนี้
ผู้จัดประชุมได้ส่งจดหมายเชื้อเชิญไปยัง คุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขอให้ท่านมาร่วมในการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงโคลอมโบ เมืองอนุราธปุระ และเมืองแคนดี ในการตอบรับคำเชิญนี้ คุณสุจินต์ ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า คุณนีน่า วัน กอร์คอม จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เขียนหนังสือนี้ คุณดวงเดือน บารมีธรรม จากประเทศไทย และ นางสาว ซาราห์ พร็อกเตอร์ จากประเทศอังกฤษ จะมาร่วมประชุมด้วย ข้าพเจ้าปิติยิ่งต่อข่าวนี้ และรู้สึกว่า การอภิปรายต่างๆ ย่อมจะอำนวยผลเป็นอย่างดี และการก็เป็นไปเช่นนั้น
คุณนีน่า วัน กอร์คอม เป็นชาวดัชโดยกำเนิด ในชั้นแรกที่เธอได้มายังประเทศไทยนั้น ก็เป็นการติดตามสามีของเธอ ซึ่งเป็นข้าราชการในสถานเอกอัครราชฑูตของประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะศึกษาวัฒนธรรมไทย และได้ประจักษ์ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาวัฒนธรรมไทย ก็โดยการศึกษาพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า วัฒนธรรมไทย มีรากฐานจากพระพุทธศาสนา.ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้ติดต่อกับคุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ และได้เรียนรู้พระธรรมจากคุณสุจินต์ เธอได้กลับกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่สนใจศึกษาพระอภิธรรม และ วิปัสสนา และได้อุทิศตนในการเขียนเรื่องพระพุทธศาสนา ในขณะที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯเธอได้เขียนหนังสือขึ้นสองเล่ม คือ "พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน" และ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย สำหรับข้อเขียนอื่นๆ ของเธอ คือ "จดหมายจากโตเกียว" "จดหมายจากนิวยอร์ค" และ "จดหมายจากกรุงเฮก" ยังคงอยู่ในรูปของกระดาษไข เรื่องล่าสุดของเธอคือ "ธรรมจาริกในศรีลังกา" นี้ เป็นการรวบรวม และเรียบเรียงข้อสนทนาธรรม ที่ได้กระทำกันที่ศรีลังกา
ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า สหายธรรมทั้งหลายของเรา จะได้รับประโยชน์จากข้อเขียนเหล่านี้ ของสหายธรรม จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้นี้ของเรา
ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ นับว่าเป็นการประจวบกัน ที่เป็นการรื้อฟื้น ธรรมสัมพันธภาพอันเก่าแก่ที่ธำรงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ระหว่างกรุงสยาม ฮอลแลนด์ และกรุงลังกา มาเป็นระหว่างประเทศไทย ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศศรีลังกา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๖
ขอให้มวลมนุษยชาติจงมีความสุขสมบูรณ์โดยถ้วนหน้า
ร้อยเอกเอส.แอล.วี.เอ.เปเรร่า อี. ดี.
ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา
๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะถะ
โคลอมโบ ๗ ประเทศศรีลังกา
๔ สิงหาคม ๒๕๒๐.
.
ขออนุโมทนา
และขออุทิศกุศล แด่ พ.อ. ดร.ชิณวุธ สุนทรสีมะ
และขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
www.dharma-gateway.com/ubasika/nina/nina-sri_lanka_02.htm