ธรรมจาริกในศรีลังกา - 1.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ.ดร.ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
บทที่ ๑
"พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน” เป็นเนื้อหาของการสัมมนาทางพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา เราปฏิบัติตามพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในชีวิตประจำวันกันจริงๆ หรือเปล่า เราไม่ได้หลงลืมกันบ่อยๆ ดอกหรือ ในขณะที่เรา กำลังขาด ความอดทนนั้น ความเมตตา และ ความกรุณา ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้หายไปไหน ในทางทฤษฎีแล้ว เราตระหนักดี ถึงหนทางที่ดีงามต่างๆ ตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เราคิดว่าเราเข้าใจเรื่องการอบรม การกระทำชอบ วาจาชอบ และ การดำริชอบ แต่แล้วเราก็หลงลืมมันเสียเกือบทุกครั้ง เราอ่านพระสูตรต่างๆ เกี่ยวกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การพูดจาไพเราะ การพูดตามกาลเวลาอันควร ความอดทนและเรื่องอื่นๆ อีกมากมายอันเป็นเรื่องที่ดีงาม เราคิดว่าเราเข้าใจในสิ่งที่ได้อ่าน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็มักจะละเลยที่จะนำธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา การที่เราได้รับการเตือนสติในการปฏิบัติธรรม และได้สนทนาธรรมกับสหายธรรมใหม่ๆ ระหว่างที่อยู่ในศรีลังกาครั้งนี้จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง
ดิฉันได้รับคำเตือน ให้มีชีวิตอยู่กับขณะปัจจุบัน ไม่ใช่ในอดีต และไม่ใช่ในอนาคต และให้ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบัน ด้วยสติที่ระลึกรู้ คุณสุจินต์เตือนเราทุกวัน ว่า “ถ้าไม่ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบัน ปัญญาก็เจริญไม่ได้”
ในครั้งกระโน้น พระภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและปฏิบัติ “สติปัฏฐาน” (ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้) กันอย่างกว้างขวาง คนเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล ก็เพราะว่าท่านมีสติระลึกรู้สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร ในขณะปัจจุบัน
ร้อยเอก เปเรร่า แห่งศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนาในโคลอมโบได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อสนทนาธรรม ขึ้นเป็นเวลา ๕ สัปดาห์ในโคลอมโบ อนุราธปุระ และแคนดี คุณสุจินต์กับคุณดวงเดือน ได้มาจากประเทศไทย ซาร่าห์มาจากอังกฤษ และดิฉันมาจากฮอลแลนด์ เรามาพบกันที่ศรีลังกา ในวาระที่มีสัมมนานี้ ท่านธัมมธโรภิกขุ และท่านเจตนันโทภิกขุได้ล่วงหน้ามาจากประเทศไทย ก่อนการประชุมหลายเดือน และสามเณรสุนทโรได้มาพร้อมกับคุณสุจินต์
พระคุณเจ้า มหานายเก (ตำแหน่งสำหรับพระมหาเถระ ซึ่งเป็นพระสังฆราชา มีตำแหน่งสูงสุด ตำแหน่งหนึ่ง ในศรีลังกา) ได้เป็นประธาน เปิดการสัมมนา ด้วยการจุดตะเกียงน้ำมันตามประเพณี การประชุมได้กระทำกันในเวลากลางคืน โดยเป็นการสนทนาธรรม ส่วนในเวลากลางวัน เราก็พบปะ กับสหายชาวสิงหฬทั้งหลาย ที่บ้านของเขา และสนทนาธรรมอย่างกันเองมากขึ้น ตลอดเวลา ๕ สัปดาห์ที่เราใช้ชีวิตในศรีลังกานี้ เราได้รื่นรมย์กับความเอื้ออารี ของชาวสิงหฬเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างที่เรา ได้พำนักเป็นแขกอยู่ในบ้านของท่านเหล่านั้น ได้รับการเลี้ยงดูทั้งอาหารกลางวันและอาหารเย็นด้วยแกงกะหรี่อันโอชะ ร้อยเอกเปเรร่า เป็นผู้คอยดูแลพวกเรา และในเมื่อเราเกิดมีปัญหาเรื่องวีซ่าหรือปัญหาอื่นใด เขาก็จะยิ้มและกล่าวว่า “บาดแผลทั้งหลายจะหายสนิท”
พระผู้มีพระภาคฯ ได้เสด็จมายังศรีลังกา ๓ ครั้ง และในช่วงเวลาที่ได้เสด็จมาเยือนนั้น พระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ๑๖ แห่ง พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปหลายแห่ง และกิ่งตอนจากพระศรีมหาโพธิ์ ต้นดั้งเดิมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ณ เมืองคยา ก็ได้รับการอัญเชิญมาปลูกยังศรีลังกา ณ เมืองอนุราธปุระตั้งแต่ครั้งกระโน้น และยังคงเจริญเติบโตอยู่ ณ ที่นั้นตราบจนทุกวันนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีหน่อใหม่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้อีก ปรากฏการณ์นี้ จะไม่เป็นนิมิตหมาย อันเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าพระพุทธธรรมยังคงเบ่งบานอยู่ในศรีลังกา กระนั้นหรือ
ดิฉันเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา และได้เริ่มต้นอ่าน “มหาวังสะ”หรือ สมุดจดหมายเหตุ (มหาวังสะ ได้รวบรวมขึ้น เมื่อตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบห้าหรือตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบหก) หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่สาม ที่กระทำกัน ในประเทศอินเดียในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก (พ.ศ.๒๙๓) สมณทูตหลายคณะ ก็ได้รับมอบหมายให้ไปยังประเทศต่างๆ พระอรหันต์ "มหินทเถระ" พระราชโอรสของพระเจ้าอโศก ได้รับมอบหมายให้ไปยังศรีลังกา พร้อมกับพระภิกษุอื่นอีกสี่รูป สามเณรหนึ่งรูป กับอุบาสกอีกหนึ่งท่าน คณะสมณทูตได้ไปยังมหินทเล และได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ กษัตริย์สิงหล ซึ่งกำลังทรงล่ากวางอยู่ เมื่อกษัตริย์สิงหฬ ได้ทรงวางคันธนูลงข้างพระองค์ และหลังจากที่พระมหินทเถระ ได้ทดสอบความพร้อมของพระองค์ ที่จะทรงฟังธรรมแล้ว พระเถระก็ได้แสดงธรรมเรื่อง จูฬหัตถิปมสูตร (ข้อเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สูตรที่ ๒๗) สูตรนั้น พรรณนาชีวิตของพระภิกษุ ซึ่งได้ละเว้นจากความชั่วต่างๆ ทั้งกาย วาจา ใจ และความสังวรในทวารทั้ง ๖ โดยเจริญ สติสัมปชัญญะ บำเพ็ญฌาน (อัปปนาสมาธิ) และในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตตผล
ในวันต่อมา พระมหินทเถระและภิกษุอื่นๆ ก็ได้ไปยังอนุราธปุระ ซึ่ง ณ ที่นั้น พระกษัตราธิราชก็ได้ถวายพระราชอุทยาน แก่พระมหินทเถระ สถานที่นี้ได้เป็น “พระมหาวิหาร” ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ได้มี พระวิหาร เจติยบรรพต และพระวิหารอื่นๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
พระมหินทเถระ ได้นำพระไตรปิฎกและอรรถกถาต่างๆ มายังศรีลังกา และได้แสดงธรรมเป็นภาษาสิงหฬ ชาวสิงหฬเป็นจำนวนมาก ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในเพศพรหมจรรย์ และได้พากันบวชเป็นภิกษุ สตรีก็ปรารถนาจะเป็นภิกษุณี และเพื่อที่จะอุปสมบท สตรีเหล่านี้ ให้เป็นภิกษุณีได้ "พระภิกษุณี สังฆมิตตา" พระขนิษฐาของพระมหินทะ จึงได้เสด็จมายังศรีลังกาและได้นำกิ่งตอน ของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมาปลูกด้วย ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะนี้เองได้มีการก่อสร้าง “ถูปารามดากะบะ” พระสถูปเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดขึ้น และได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระศอด้านขวา ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ ณ พระสถูปนี้
พระพุทธศาสนาได้เสื่อมถอยลงไป ในประเทศอินเดีย แต่กลับได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีในประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีลังกา ย่อมจะประจักษ์ชัดว่า การอนุรักษ์พระพุทธศาสนาไว้นั้น ช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด กษัตริย์ที่เข้ามารุกรานจากภายนอก ตลอดจนกษัตริย์ในประเทศนี้เอง ซึ่งไม่สนับสนุนคณะสงฆ์ ได้คุกคามต่อความอยู่รอด ของพระศาสนา อย่างรุนแรง
ภายหลังจากการรุกรานของพวกทมิฬ พระเจ้าทุฏฐคามินี (ประมาณ พ.ศ. ๓๙๓) ได้สถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ และได้เริ่มก่อสร้าง พระสถูป “รูวันเวลิสายะ” อันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง ของเมืองอนุราธปุระ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นศูนย์กลาง ของการสักการบูชาคู่กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในเมืองอนุราธปุระ ต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่เพียงแต่ภัยจากสงครามเท่านั้น ทุพภิกขภัย ก็เป็นภัยพิบัติที่คุกคามต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา ซึ่งยังมิได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหมือนกัน คนเป็นจำนวนมาก ได้เสียชีวิตไปในระหว่างทุพภิกขภัยนั้น และบรรดาพระอรหันต์ที่รอดชีวิตอยู่ได้ โดยอาศัยรากไม้และผลไม้ต่างๆ ก็ยังคงท่องสวดพระธรรมกันต่อไปอย่างทรหดและอาจหาญ เมื่อท่านหมดพละกำลังที่ จะทรงกายนั่งอยู่ ต่อไป ท่านก็เอนกายลงนอน แต่ก็ยังคงท่องสวดต่อไป
ภัยจากสงคราม ทุพภิกขภัย รวมทั้งการก่อตัวของมิจฉาทิฏฐิ และการปฏิบัติผิดต่างๆ ได้ทำให้การอนุรักษ์พระศาสนา เป็นไปอย่าง ยากยิ่ง ในที่สุดเมื่อพุทธศักราช ๔๕๔ จึงได้มีการจารึกพระธรรมวินัย เป็นลายลักษณ์อักษร พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูป ได้ร่วมกันกระทำสังคายนา กิจอันยิ่งใหญ่นี้ในถ้ำอลูวิหาร (อลูลีน่า) ซึ่งพวกเราได้ไปชมในระหว่างการจาริกของเรา
หลายศตวรรษต่อมา (พ.ศ. ๙๕๓) " พระพุทธโฆษาเถระ" ได้เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา ณ ที่นี้ท่านได้รจนา “วิสุทธิมรรค” (หนทางแห่งความบริสุทธิ์) ขึ้น ท่านได้ประมวลและเรียบเรียงอรรถกถาทั้งสิ้น ที่ท่านพบในศรีลังกา และได้แปลอรรถกถาเหล่านั้น จากภาษาสิงหฬเป็นภาษาบาลี คำแปลอรรถกถาของพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วนใหญ่เป็นผลงาน ของท่านพระพุทธโฆษาเถระ อรรถสาลินี (คำอธิบายขยายความ) เป็นอรรถกถาของธรรมสังคณี คัมภีร์แรกของพระอภิธรรม ศรีลังกา ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหลายไว้ เป็นประเทศที่น่าเร้าใจให้ไปเยือน เพื่อจะได้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ความจริงที่ได้เคยมีพระอรหันต์จำนวนมากมาย อยู่ในประเทศนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าได้มีการปฏิบัติธรรมกันจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าศรีลังกาจะได้ผ่านระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงหลายครั้งหลายครา และถึงแม้จะได้ถูกกดขี่ข่มเหง อีกด้วย ก็ตาม ชาวสิงหฬในทุกวันนี้ ก็ยังมองเห็นความเกี่ยวข้องของพระธรรมในชีวิตประจำวันของเขา ชาวสิงหฬยังคงธำรงรักษาขนบธรรมเนียม อันดีงามซึ่งได้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลไว้ เช่น การถวายทานแด่พระภิกษุ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันอุโบสถ (วันพระกำหนดเอาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ และบางครั้งในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำด้วย) และพิธีกรรมอย่างอื่นอีกมาก ในปัจจุบันนี้ ได้มีหนังสือธรรมมากมาย ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุและคฤหัสถ์ผู้ทรงความรู้ และยังได้จัดพิมพ์สารานุกรมพุทธศาสนาขึ้นอีกด้วย
ชาวสิงหฬเป็นจำนวนมาก เชี่ยวชาญภาษาบาลี และสามารถสวดพระคาถา ท่องข้อความจากพระไตรปิฎกได้ สุภาพสตรี เจ้าบ้านของเราในโคลอมโบ จะใช้เวลาตอนค่ำของวันอุโบสถ สวดสติปัฏฐานสูตร และสูตรอื่นๆ ในห้องพระของเธอ เจ้าภาพซึ่งได้เชิญเรา ไปเลี้ยงอาหารกลางวัน ได้ท่องกรณียเมตตสูตรให้เราฟังในรถยนต์ในขณะที่ภรรยาของเขาขับรถ เราสังเกตเห็นว่า ผู้คนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่คิดถึงเมตตา ในขณะที่ท่องพระสูตรเท่านั้น แต่เขาได้เจริญเมตตาตลอดวันด้วย ความเมตตาของเขา ปรากฏให้เห็นได้ จากความมีใจคอกว้างขวาง และความมีน้ำใจต่อแขกที่มาอยู่ที่บ้าน
เมื่อเราไปถึงศรีลังกาไม่นาน ก็ถึงวันอุโบสถ เราได้เห็นคนเป็นจำนวนมาก แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและถือศีลแปด (นอกเหนือจาก ศีลห้าแล้ว ศีลแปดก็เพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ คือ เว้นบริโภคอาหารหลังเวลาเที่ยง เว้นการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ สวยงาม และละเว้นจาก การมหรสพ และการประเทืองโฉม) แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ถือศีลแปด จนถึงหกโมงเย็น ในวันนั้นเขาได้พาเราไปวัดกัลยาณี ซึ่งเป็น จุดศูนย์กลาง ที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังศรีลังกาในครั้งที่สอง ใกล้ๆ กับวัดนี้มีพระสถูป ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้วย เราได้ยินเสียงกลอง และบริเวณรอบๆ พระวิหารก็มีผู้คนนั่งอยู่เป็นกลุ่มๆ ต่างก็สวดมหาสติปัฏฐานสูตร และ พระสูตรอื่นๆ เขาจุดตะเกียงน้ำมัน จุดธูปและถวายดอกไม้กัน
ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ ได้อธิบายให้เราทราบว่า ก่อนที่ชาวศรีลังกาจะนำดอกไม้ไปบูชา เขาจะเด็ดกิ่งและใบ ออกหมดเสียก่อน และเขาไม่ใส่น้ำไว้แต่จะปล่อยให้เหี่ยวแห้งไป เพราะดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไปตามธรรมชาติ ผู้สูงอายุทั้งหลาย จะไม่เกรงกลัวความชราและความตาย เพราะตระหนักดีว่า เขาจะไม่สามารถล่วงพ้นความแก่และความตายไปได้เลย เช่นเดียวกับดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไป
คาถาที่ใช้สวดตอนถวายดอกไม้นั้น เป็นคำเตือนสติถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างไพเราะ เจ้าภาพที่พาเราตระเวนชมในวันนั้นได้ท่องคำสวดนั้นให้เราฟังว่า
ด้วยหลากเพศสีมาลา ข้าขอบูชา แด่องค์สมเด็จพระชินสีห์
ด้วยกุศลผลบุญพึงมี ข้าขอชีวีนี้ ปล่อยละคลายหน่ายวาง
แม้มวลดอกไม้หมองหมาง มีแต่จืดจาง เหี่ยวเฉาเหงาช้ำร่ำไป
เรือนร่างเรานั้นฉันใด มิต่างอย่างไร ธาตุแตกขันธ์ดับ ลับเอย
ดิฉันได้ประจักษ์ว่าการอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้ มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เราได้พูดกันถึงกุศลมากมายหลายอย่างที่พระบรมศาสดาของเราได้พร่ำสอน ทาน ศีล และภาวนา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ข้อความในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (ภาษาอังกฤษ ดิฉันใช้ฉบับแปลโดย ท่านพระนารทะ สำนักพิมพ์วีล พับบลิเคชั่น ๑๔ บี.พี.เอส. แคนดี ศรีลังกา) สิงคาลกสูตร มีว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ พระองค์ได้ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ เรื่องการเจริญกุศลในชีวิตประจำวันว่า
บัณฑิต ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ เนืองๆ ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้นๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลก เหล่านี้แล เป็นเสมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่ ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาและบิดา ไม่พึงได้ความนับถือหรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ฯ
เมื่อเราอ่านพระธรรมเหล่านี้ ก็ดูเหมือนจะง่าย แต่การจะปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอนั้น ช่างเป็นเรื่องยากลำบากเสียนี่กระไร
ในวันหนึ่งๆ มีปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตมากกว่าปัจจัยให้เกิดกุศลจิต เมื่อยิ่งเห็นว่าตนเองขาดกุศลมากเพียงใด ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการรู้จักตัวเอง และรู้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ให้ชัดแจ้ง เกิดขึ้น มากยิ่งขึ้น เพียงนั้น
เมื่อเราเห็นแจ้งว่า อกุศล เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเพียงใด เราก็ใคร่จะเจริญกุศลมากขึ้น การเห็นโทษของอกุศล และคุณของกุศล ก็เป็นปัญญาหรือความเข้าใจขั้นหนึ่ง ความเข้าใจขั้นนี้ เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น
ขออนุโมทนา
และขออุทิศกุศล แด่
พ.อ.ดร.ชิณวุธ สุนทรสีมะ
และขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
//www.dharma-gateway.com/ubasika/nina/nina-sri_lanka_02.htm