ปรามาส

 
prang
วันที่  11 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24970
อ่าน  3,338

ดิฉันเคยปรามาสพระอริยเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวร้ายต่างๆ นานาในใจ และเคยเผลอออกมาทางวาจา และทางกาย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และได้ขอขมาต่อหน้าพระพุทธรูปที่บ้านแล้ว แต่ยังรู้สึกกลัวมากๆ และมีความทุกข์ใจอยู่ จะแก้อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยุปวาท คือ เจตนา ว่าร้ายพระอริยเจ้า ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งแม้พระอริยเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์ การมีเจตนาด้วยจิตที่เป็นอกุศล เจตนาว่าร้ายและทำการว่าร้าย ชื่อว่า อริยุปวาท ซึ่งการติเตียนว่าร้ายพระอริยเจ้า ก็ด้วยการกล่าวว่าร้ายในสิ่งที่ไม่จริง เป็นต้น ว่ากล่าวว่าไม่มีคุณความดี ติโทษพระอริยเจ้าครับ ซึ่งโทษก็คือห้าม สวรรค์และมรรคผล นิพพาน โทษหนักเท่าอนันตริยกรรม

การกล่าวว่าร้ายพระอริยเจ้า คือ บุคคลนั้น จะต้องเป็นพระอริยเจ้า และไม่ใช่เพียงคิดในใจ แต่มีเจตนาพูดออกมาว่าร้ายท่าน ด้วยคุณธรรมของท่านเป็นสำคัญ ว่าท่านไม่ได้มีคุณธรรมอย่างนี้ เป็นต้น

อริยุปวาท สำคัญที่เจตนา ว่ามีเจตนาว่าร้ายที่เป็นผรุสวาจาหรือไม่ แม้การขอขมาก็เช่นกัน สำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาขอขมา สำนึกผิด และกล่าวการขอขมา หากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็สามารถที่จะไปที่วัดที่มีการทำการเผาศพท่านก็ได้ หรือ นึกถึงท่าน และ ขอขมาก็ได้ เพราะ มีเจตนาที่จะสำนึกในสิ่งที่ทำไป และกล่าวขอขมา ด้วยเจตนาการขอขมานี้ ก็เป็นการที่จะเห็นโทษ และ ไม่กั้นสวรรค์มรรคผล ในชาตินั้น สบายใจได้นะครับ

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นเอกจาริกภิกขุ (ภิกษุผู้จาริกไปผู้เดียว) สถานที่อยู่ของท่านไม่มีใครรู้ สถานที่ไปขอท่านเล่าก็ไม่ปรากฏไซร้ ก็พึงไปหาภิกษุที่เป็นบัณฑิตรูปหนึ่ง แล้วบอก (ปรึกษาท่าน) ว่า "ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถึงท่าน กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น วิปฏิสาร (เกิดมีแก่กระผมทุกทีที่ระลึกถึงท่าน กระผมทำอย่างไร (ดี) " ภิกษุบัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "ท่านอย่าคิดไปเลย พระเถระจะย่อมอดโทษให้แก่ท่าน ท่านจงทำจิตให้ระงับเถิด" ฝ่ายเธอก็พึงบ้างหน้าต่อทิศทางที่พระอริยะไป ประคองอัฐชลีกล่าว (ขึ้น) ว่า "ขมตุ" ขอพระเถระนั้นขงอดโทษเถิด"

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นผู้ปรินิพพานเสียแล้ว เธอพึงไป (ให้) ถึงที่ที่นับว่าเป็นเตียงที่ท่านปรินิพพาน กระทั่งถึงป่าช้าผิดิบก็ดี ขอขมา (ท่าน) เถิด

เมื่อได้ทำ (การขอขมา) เสียได้อย่างนี้แล้ว กรรมนั้นก็ไม่เป็นสัคคาวรณ์ ไม่เป็นมัคคาวรณ์เลย (กลับ) เป็นปกติเท่านั้นเองแล

เมื่อได้ทำผิดแล้ว สำนึกผิด เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามต่อไป ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นความประพฤติเป็นไปของคนดี

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา พิจารณาไตร่ตรอง แล้วน้อมที่จะประพฤติตามพระธรรม ขัดเกลากิเลสของตนเอง ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งเมื่อได้ศึกษาพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิดอกุศลเลยแม้เพียงเล็กน้อย พระธรรม จึงเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างแท้จริง เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมเป็นเครื่องนำทางชีวิตแล้ว ก็จะทำให้ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้น ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นความชัดเจน ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร ก็ควรที่จะให้ได้เข้าใจกระจ่างเท่าที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น คุณบุษกรก็คงคิดถึงว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ปรินิพพานแล้ว แล้วเราจะไปขอขมาอะไรอย่างนี้ ก็ดูเหมือนว่า แล้วจะหายหรือ ที่เราได้กระทำไป ขอขมา แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้กระทำกรรมแล้ว ถึงแม้คนอื่นจะยกโทษ แต่กรรมนั้นก็ยังเป็นเหตุให้เกิดผล ถูกไหมคะ

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม โดยเฉพาะการที่จะกล่าวคำขอโทษ หมายความว่า คนนั้นต้องรู้สึกตัวจริงๆ ว่าทำสิ่งที่ผิด เพราะว่าไม่ควร เพราะฉะนั้น บางคนรู้ตัวว่าผิด ขอโทษไม่ได้ไม่ได้เลยค่ะ ทั้งๆ ที่ผิด ก็ไม่ยอมที่จะขอโทษ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีกุศลจิต ไม่ละอายในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว ต่อสิ่งที่เป็นพระรัตนตรัยหรือว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เกิดกุศลจิต นอบน้อมต่อผู้ที่เราขอขมา เป็นการแสดงความเคารพ ความนอบน้อมนั่นเองค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละคนที่ยังมีกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด โอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกไม่ควร ก็ย่อมมีได้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าได้ผิดพลาดกระทำในสิ่งที่ไม่ควรลงไปแล้ว ถ้ามีความจริงใจเห็นโทษโดยความเป็นโทษ พร้อมที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีต่อไป อย่างนี้ย่อมถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรม ยิ่งขึ้น เพราะสามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจใหม่ ที่จะไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้นอีก และอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ เมื่อได้เผชิญหน้ากับคนไม่ดี ประโยชน์คือ มีเมตตา ไม่โกรธในบุคคลนั้น และมีทางใดที่จะช่วยเหลือเขาได้ ก็ควรช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เขาได้ยินได้ฟังสิ่งที่ถูก คือพระธรรม ดีกว่าจะไปโกรธหรือกระทำในสิ่งที่ไม่ควรแก่ผู้นั้น

จึงสรุปได้ว่า แม้เพียงความผิดเล็กน้อย ก็ไม่ควรที่จะกระทำ ไม่ว่าจะต่อใครก็ตาม ก็ควรที่จะขอโทษ หรือขอขมา แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยความตั้งใจที่จะไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีกต่อไปครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 11 มิ.ย. 2557

ขอขมากับพระพุทธรรูปได้ ถ้าสำนึกผิด เห็นโทษของการกระทำของตัวเอง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prang
วันที่ 12 มิ.ย. 2557
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 3 โดย wannee.s

ขอขมากับพระพุทธรรูปได้ ถ้าสำนึกผิด เห็นโทษของการกระทำของตัวเอง ค่ะ

เมื่อขอขมาต่อหน้าพระพุทธรูปแล้ว เห็นโทษของการกระทำแล้ว กรรมจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 12 มิ.ย. 2557

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

กรรมสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ แทนที่จะกั้น สวรรค์ มรรคผล ก็ไม่กั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 13 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prang
วันที่ 13 มิ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Lertchai
วันที่ 19 ธ.ค. 2559

กระผมได้ขอขมา และสำนึกผิดที่ได้ปรามาสพระภิกษุแล้วครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ