ช่วยผมตอบคำถามหน่อยครับ 8 ข้อ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

 
santhai0099
วันที่  15 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24982
อ่าน  29,881

ข้อ 1. หลัก "ปฏิจจสมุปทา" มีความสอดคล้องกับหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีสัมพันธภาพอย่างไร จงอธิบาย

ข้อ 2. การใช้หลักเหตุปัจจัยมีความสัมพันธ์กับวิธีการแก้ปํญหาอย่างไร จงอธิบายและยกตัวอย่าง

ข้อ 3. เหตุใดจึงกล่าวว่าความไม่ประมาทคือหัวใจของพระพุทธศาสนา

ข้อ 4. เหตุใดจึงกล่าวว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคมและโลก" จงอธิบาย

ข้อ 5. มีหลักความเชื่อทางศาสนาพุทธข้อใดบ้างที่สามารถนำไปใช้เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพในสังคม จงยกตัวอย่างมา

ข้อ 6. ความสันโดษตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ข้อ 7. เรามีแนวทางในการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

ข้อ 8. คุณคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีแนวทางการพัฒนาไปแบบใด และเราสามารถนำหลักธรรมใดในพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในสังคมได้บ้าง

8 ข้อ ครับ คิดให้ผมหน่อย ผมคิดไม่ได้ครับ ข้อไหนคิดได้ก็ทำข้อนั้น น่ะครับ

ขอบคุณครับ ที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือผม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อ 1 หลัก "ปฏิจจสมุปทา" มีความสอดคล้องกับหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีสัมพันธภาพอย่างไร จงอธิบาย

ปฏิจจสมุปบาท เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจั หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ เป็นการแสดงเรื่องของปัจจัย (เหตุ) และปัจจยุบบัน (ผล)

ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ คือ ...

๑. อวิชชา ๒. สังขาร ๓. วิญญาณ ๔. นามรูป

๕. สฬายตนะ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา

๙. อุปาทาน ๑๐. ภพ ๑๑. ชาติ ๑๒. ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ

ซึ่งเราจะต้องแยกระหว่าง ความจริงที่เป็นสัจจะ ที่เป็น ปฏิจจสมุปบาท กับ หลักวิทยาศาสตร์ที่เป็นความคิดนึก ที่ได้ประจักษ์ด้วยพระปัญญา เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะ ไม่ใช่สัจจะ ความจริง เพราะ วิทยาศาสตร์ ไม่ได้แสดงถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ ยังมีการยึดถือว่าเป็นเรา มีสิ่งต่างๆ มีโลก จักรวาล แต่ปฏิจจสมุปบาท แสดงว่ามีแต่ธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นและดับไป ไม่มีจักรวาล สัตว์ บุคคล ครับ ซึ่งตรงข้ามกับหลักทฤษฎีของวิทยาศาสตร์ทุกทฤษฎีอย่างสิ้นเชิง

ข้อ 2 การใช้หลักเหตุปัจจัยมีความสัมพันธ์กับวิธีการแก้ปํญหาอย่างไร จงอธิบายและยกตัวอย่าง

การเข้าใจความจริงว่าสภาพธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เพราะ มีแต่ธรรมเป็นไป ย่อมทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจถูกว่า ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชาได้ เป็นแต่ธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เมื่อคิดถูก เห็นถูก ก็มีการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความเห็นถูก ไม่โทษใคร เพราะ รู้ว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย โกรธก็น้อยลง กุศลก็เกิดขึ้น เช่น เห็นคนอื่นทำผิด ทำไม่ดีกับใคร หรือ แม้กับเรา ก็เข้าใจว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ เมื่อมีอกุศล ก็ต้องเกิดอกุศล จึงไม่โทษ ไม่โกรธคนที่ทำไม่ดีด้วย ครับ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ข้อ 3 เหตุใดจึงกล่าวว่าความไม่ประมาทคือหัวใจของพระพุทธศาสนา

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และ ไม่ประมาท ให้ถูกต้องว่า คืออะไร ก่อนครับ ความประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า

ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้น ความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ

ดังนั้น ความประมาท แสดงถึง โดยนัยว่า การไม่ทำกิจการงานให้เหมาะสม ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร เช่น พระราชา ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร บุตร ไม่ทำหน้าที่อันสมควร ก็ชื่อว่าประมาท ประมาท เพราะ มีอกุศลจิตเป็นมูล ถ้าไม่มีอกุศล ก็จะไม่ทำหน้าที่ที่ไม่ดี แต่ถ้ากุศลเกิด ไม่ประมาทย่อมมีสติ ย่อมรู้สิ่งที่ควรทำ และ กระทำสิ่งที่สมควร ซึ่งความไม่ประมาท เป็น กุศลที่ใหญ่ เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าอื่น ความไม่ประมาท คือ การมีสติ กุศลทุกอย่าง ก็ย่อมรวมลงที่การมีสติ ครับ

ข้อ 4 เหตุใดจึงกล่าวว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคมและโลก" จงอธิบาย

โลกวุ่นวาย สังคมวุ่นวาย เพราะ กิเลส เพราะสภาพธรรมที่ไมดี ซึ่งก็เป็นโลกของแต่ละคน ที่มากไปด้วยกิเลส เมื่อมีกิเลสมาก ก็แสดงออกมาทางกาย วาจา ก็ทำให้โลกไม่สงบสุข เพราะ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะกาย วาจาของแต่ละคนที่แสดงออกมาตามกำลังกิเลส เพราะฉะนั้นปัญหามากจากกิเลสที่ทำให้วุ่นวาย ไม่สงบ ไม่สันติ สิ่งที่เป็นสันติ คือ การไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น การอบรมหนทางที่ถูกที่สามารถดับกิเลสได้ คือ พุทธ ที่เป็นปัญญา อันเกิดจาการฟังศึกษาพระธรรมในพระพุทธศาสนา ย่อมทำให้ดับกิเลสได้ในที่สุด เมื่อแต่ละหนึ่ง กิเลสลดลง เพราะมีปัญญา โลกก็วุ่นวายน้อยลง ตามกำลังกิเลสที่ลดลง และ ถึงความสันติที่ใจแต่ละคนได้ เมื่อดับกิเลสได้ในที่สุด นี่คือ พระพุทธศานาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์กับสังคม รอบข้าง โดยเริ่มจากตนเองเป็นสำคัญที่จะมีสันติสุขด้วยละกิเลส มีปัญญา ครับ

ข้อ 5 มีหลักความเชื่อทางศาสนาพุทธข้อใดบ้างที่สามารถนำไปใช้เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพในสังคม จงยกตัวอย่างมา

สันติ ความสงบสุขจะมีไม่ได้ ถ้าใจแต่ละคนไม่มีสันติ ไม่มีความสงบสุขจากกิเลส และ กิเลสก็สะสมมามาก จะทำให้สังคมสงบสุขคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องค่อยๆ เริ่มจากตนเอง ซึ่งกว่าจะละกิเลสได้ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ความวุ่นวายที่เกิดจากกิเลส ไม่ใช่การจะนำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาใช้แล้วจะหายทันที เปรียบเหมือนคนที่ป่วยโรคร้ายแรงเรื้อแรง จะนำยาเพียงเม็ดเดียวมาใช้ให้หายคงเป็นไปไม่ได้ นอกเสียจาก ค่อยๆ ทานยาอย่างยาวนาน ก็จะค่อยๆ ทำให้โรคบรรเทาได้ทีละน้อย ฉันใด สังคมจะดีขึ้นก็เริ่มจากตนเอง ทานยาคือการฟัง ศึกษาพระรรมทุกส่วน ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะค่อยๆ ทำให้สงบสุข คือ เริ่มจากตนเองได้ ครับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ เมื่ออ่านพระธรรมบทใดแล้ว ไม่ใช่จะทำ ไม่ใช่จะละความชั่ว โดยไม่มีปัญญา แต่ต้องศึกษาอบรมอย่างยาวนาน ครับ

ข้อ 6 ความสันโดษตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ความพอใจในของของตน ของที่มีอยู่ ในความสันโดษ ความพอใจนั้น เป็นกุศลธรรม ไม่เป็นอกุศลที่เป็นความพอใจที่เป็นโลภะ ติดข้อง เพราะขณะนั้น ไม่มีความปรารถนาในสิ่งอื่นเพิ่มเติม ขณะจิตที่ไม่ปรารถนาสิ่งอื่น ขณะนั้นไม่ติดข้อง ไม่มีโลภะ จึงบัญญัติว่า มีความพอใจในของของตนด้วยอรรถว่า ไม่ติดข้องในสิ่งอื่นเพิ่มเติม ปรารถนาเพิ่มเติมครับ และ ความพอใจโดยชอบ ที่ว่าโดยชอบ เพราะ ไม่หวั่นไหว ในสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี เมื่อผู้อื่นจะให้สิ่งที่ประณีต ไม่ประณีต ก็ไม่หวั่นไหว ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดี จึงชื่อว่าพอใจโดยชอบด้วยจิตที่ดี ไม่ใช่พอใจด้วยโลภะที่เป็นอกุศล ครับ ความสันโดษ จึงเป็นความดีที่เป็น จิตที่ดี ครับ

ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นการรู้จักประมาณ พอพียงตามฐานะของตน ก็สามารถเป็นความสันโดษได้ คือ เกิด กุศลจิตที่รู้จักพอ หรือ พอเพียงตามฐานะของตนได้ บางขณะที่เป็นกุศลได้ในระดับหนึ่ง ครับ แต่ ต้องไม่ลืมว่า ถ้าพูดถึงสันโดษแล้วต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น แต่ ความพอเพียง ซื้อด้วยความยินดีตามฐานะของตนที่ทำได้ ขณะนั้นเป็นความต้องการ โลภะ ไม่ใช่สันโดษ แต่ ก็เป็นความพอเพียงทางโลกที่เข้าใจกัน แต่ไม่ใช่กุศลในขณะนั้น ครับ

ข้อ 7 เรามีแนวทางในการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

สัตว์โลกก็สะสมมาแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย แต่การได้ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมคิดถูก และ ใช้ชีวิตที่เหมาะสม รู้จักพอ รู้จักใช้ ตามสมควร ก็เป็นความพอเพียง ในพระพุทธศาสนา ที่เป็นชีวิตที่เหมาะสมของคฤหัสถ์ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า ใครจะสนใจ ศึกษาพระธรรม ครับ

ข้อ 8 คุณคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีแนวทางการพัฒนาไปแบบใด และเราสามารถนำหลักธรรมใดในพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในสังคมได้บ้าง

พระธรรมไม่สาธารณะ สำคัญที่ตนเองเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มที่ตนเองแล้ว ก็จะสามารถที่จะเผื่อแผ่กับคนรอบข้างกับสังคมได้ และ ก็เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะฉะนั้น สำคัญที่ตนเอง จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจก่อนอย่างถ่องแท้หรือไม่ เพราะถ้าตนเองไม่เริ่มก็ไม่มีทางที่จะช่วยสังคม และ ไม่สามารถทราบทิศทางของประเทศในเรื่องพระพุทธศานาได้เลย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อ 1 หลัก "ปฏิจจสมุปบาท" มีความสอดคล้องกับหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีสัมพันธภาพอย่างไร จงอธิบาย

สำคัญที่ความเข้าใจถูก เมื่อกล่าวถึง ธรรมแล้ว ก็ต้องกล่าวถึงธรรม ไม่ใช่กล่าวถึงเรื่องอื่น ปฏิจจสมุปบาท หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจัยเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ทรงแสดงถึงเหตุและผลที่เกิดจากเหตุ ปฏิจจสมุปบาทไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นจิต เจตสิก และ รูป เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพราะมีอวิชชาคือ ความไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป มีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไป ปฏิจจสมุปบาทมีทั้งส่วนที่เป็นกิเลส กรรม และ วิบาก แม้แต่ในขณะนี้ ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทด้วย อย่างเช่น จิตเห็นขณะนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะถ้าไม่มีเหตุปัจจัย จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย แล้วกรรมมาจากไหน ถ้าไม่มีอวิชชา เป็นเหตุให้มีการกระทำกรรม ซึ่งเนื่องมาจากยังมีการเกิดอยู่นั่นเอง

ข้อ 2 การใช้หลักเหตุปัจจัยมีความสัมพันธ์กับวิธีการแก้ปํญหาอย่างไร จงอธิบายและยกตัวอย่าง

ธรรม ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ตราบใดที่ยังมีกิเลส มากไปด้วยอกุศล ทางแก้ คือ ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจพระธรรมความเข้าใจถูกเห็นถูก จะนำไปในทางที่ถูก ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นกุศล เพราะปัญหาทั้งหมด มาจากอกุศล ก็ต้องขัดเกลาละคลายด้วยธรรมที่ตรงกันข้าม คือ ด้วยความดี

ข้อ 3 เหตุใดจึงกล่าวว่าความไม่ประมาทคือหัวใจของพระพุทธศาสนา

เพราะไม่ประมาท จึงฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นก็มาจากความไม่ประมาทนั่นเอง ที่ประมาทมัวเมา ปล่อยจิตไปแต่ในทางที่เป็นอกุศล ย่อมไม่มีวันถึงการดับกิเลสได้เลย ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเป็นผู้ประมาท แต่ถ้าเตือนตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ ก็มีประโยชน์ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด จะเป็นผู้ที่ประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ชาตินี้มีกิเลสมาก ก็ยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ขัดเกลาให้เบาบางด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ชาตินี้ปัญญายังน้อย ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง และ จริงใจในการที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ข้อ 4 เหตุใดจึงกล่าวว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคมและโลก" จงอธิบาย

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมานานแสนนาน จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เป็นที่พึงสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ประการที่สำคัญ ผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาเท่านั้น ถึงจะได้มีโอกาสฟัง ได้ศึกษา และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรม ทำให้เข้าใจความจริง รู้สิ่งที่ถูก รู้สิ่งที่ผิด รู้ว่าสิ่งใดควรประพฤติ รู้ว่าสิ่งใดควรเว้น รู้ทางดำเนินที่ถูกต้อง และสูงสุด คือ การเป็นผู้หมดจดจากกิเลส

ข้อ 5 มีหลักความเชื่อทางศาสนาพุทธข้อใดบ้างที่สามารถนำไปใช้เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพในสังคม จงยกตัวอย่างมา

เช่น “กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะว่า กรรมชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้วไม่ตามเดือดร้อน กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคลทำแล้ว ดีกว่า"

(จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงถึงกุศลและอกุศล ว่า อกุศลเป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ และเป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ควรทำเลย ส่วนกุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม เมื่อเข้าใจในเหตุและผลของกุศลและอกุศลแล้ว ย่อมจะเป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล ไม่ประมาทในอกุศลแม้จะเล็กน้อย ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศล และเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวันขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าแต่ละคนเป็นอย่างนี้ได้ ความเดือดร้อน ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นสังคมใดก็ตาม

ข้อ 6 ความสันโดษตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ควรที่จะได้พิจารณาว่า สันโดษ เป็นมงคลประการหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ เป็นคุณธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะเป็นเหตุละบาปธรรมอันมีการปรารถนาเกินประมาณหรือมักมากเป็นเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสันโดษเป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมในชีวิตประจำวันค่อยๆ ขัดเกลาความติดข้อง

สันโดษ มี ๓ ความหมาย คือ ยินดีในของของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ และ ยินดีโดยชอบธรรม ไม่แสวงหาในทางที่ไม่ชอบ บุคคลผู้ที่มีความสันโดษจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นผู้อยู่อย่างสบาย ไม่มีความเดือดร้อนใจเนื่องจากยินดีในสิ่งที่ตนมีที่ตนได้ ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่สันโดษ ไม่รู้จักพอ เต็มไปด้วยความต้องการ เมื่อไม่ได้ก็เดือดร้อนใจ ไม่พอใจ แต่ถ้าได้แล้ว ก็ติดข้องมากยิ่งขึ้น ครับ

ข้อ 7 เรามีแนวทางในการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีทุกระดับขั้น ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะระดับขั้นที่เป็นโลกุตตระ คือ ดับกิเลสได้เด็ดขาด เท่านั้น ทรงแสดงไว้ตั้งแต่ขั้นต้น ว่าสิ่งใดที่เป็นเพื่อความเจริญในปัจจุบัน ไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ การที่จะมีความสุขได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีทรัพย์ (ซึ่งจะต้องมีความขยันหมั่นเพียร แสวงหาโดยชอบธรรม) รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น ไม่ต้องเป็นหนี้สินใคร และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้กระทำงานที่ไม่มีโทษ ซึ่งก็คือ การกระทำในสิ่งที่ดีทุกประการ แม้แต่ในเรื่องของอาชีพการงาน ก็ละเว้นอาชีพทุจริตทุกประเภท ด้วย นอกจากนั้น ก็มีหลักธรรมมากมายที่อุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน คือ ขยันหาทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว ก็รู้จักเก็บรักษาเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ รู้จักคบเพื่อนที่ดีงาม และ เลี้ยงชีพอย่างพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ทั้งหมดทั้งปวงนั้น จะทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข และจะอุปการะให้ได้เจริญกุศลประการต่างๆ มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมทรัพย์ที่ประเสริฐ เป็นต้น โดยไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องความเป็นอยู่เลย เพราะมีชีวิตที่เป็นสุขแล้ว ซึ่งก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลด้วย ว่าจะเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย

ข้อ 8 คุณคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีแนวทางการพัฒนาไปแบบใด และเราสามารถนำหลักธรรมใดในพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในสังคมได้บ้าง

ความเจริญจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่จิตใจที่เจริญด้วยคุณความดี ด้วยปัญญา บุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม จะเป็นผู้ถึงความเจริญด้วยปัญญาไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าความเจริญจริงๆ ไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุ หรือ ความเพิ่มมากขึ้นของความโลภ ความติดข้อง ต้องการ การแสวงหาในสิ่งที่คิดว่าน่าปรารถนา คือ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข แต่ความเจริญจริงๆ เป็นความเจริญของจิต ซึ่งเริ่มมีปัญญาที่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเลย อะไรที่เจริญ อะไรที่มีมากขึ้น? ย่อมเป็นความไม่รู้ และ อกุศลต่างๆ ที่เกิดเพิ่มมากขึ้น นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ตลอดชีวิต ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง เพื่อรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เพื่อที่จะได้ละความไม่รู้ และเพื่อความรู้และความเจริญในคุณธรรมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ต่อไป

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปวีร์
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 5 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
mild
วันที่ 6 ส.ค. 2557

ปัจจุบันขณะนี้ที่ปรากฏ เป็นคำตอบของทุกคำถาม อดีตเป็นเหตุ ปัจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล ปัจจุบันนี้จึงเป็นทั้งเหตุและปัจจัยให้ขณะต่อไปต้องเป็นไป ถ้าเป็นคนดีแล้วยังศึกษาพระธรรม จึงชื่อว่าไม่ประมาทและเห็นภัย เมื่อเห็นภัยจึงไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้เป็นทุกข์ โลกนี้จึงมีสันติภาพ ชีวิตจึงพอเพียง เหตุเพราะไม่เบียดเบียนกัน เริ่มที่เราในขณะนี้ที่ปรากฏ สังคมคือจุดเล็กๆ มารวมกัน ถ้าทุกคนเป็นคนดีที่เข้าใจธรรมมะ สังคมก็ดีและเป็นมิตรที่เกื้อกูลกัน ที่ดูเหมือนมีเรื่องมากมายปัญหามากมาย แท้จริงแล้วคือธรรมมะแต่ละหนึ่ง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าผู้ที่สะสมมาดี คิดไม่ดีไม่เป็น คิดทำร้ายเบียดเบียนไม่เป็น คิดช่วยเหลือเป็น คิดเมตตาเป็น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 6 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Kamonpun
วันที่ 8 ม.ค. 2564

เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก

ช่วยตอบหน่อยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ม.ค. 2564

จากความเห็น 2

โดยอ.คำปั่น อักษรวิไล

ข้อ 4. เหตุใดจึงกล่าวว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคมและโลก" จงอธิบาย

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมานานแสนนาน จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เป็นที่พึงสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ประการที่สำคัญ ผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาเท่านั้น ถึงจะได้มีโอกาสฟัง ได้ศึกษา และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรม ทำให้เข้าใจความจริง รู้สิ่งที่ถูก รู้สิ่งที่ผิด รู้ว่าสิ่งใดควรประพฤติ รู้ว่าสิ่งใดควรเว้น รู้ทางดำเนินที่ถูกต้อง และสูงสุด คือ การเป็นผู้หมดจดจากกิเลส

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ