มัคคังคะกับมรรค 8

 
ผู้มีกิเลส
วันที่  16 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24986
อ่าน  5,205

มัคคังคะ 12 กับองค์มรรค 8 เราควรเข้าใจว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มัคคังคะ หรือ มรรค ขออธิบายคำนี้ก่อนครับ

มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นกล่าวมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว ย่อมเป็นหนทางถูก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย

อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส , หนทางอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นจากความเป็นปุถุชน และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาด ซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค 8 ประการดังนี้ ครับ

» สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก , ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของของตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น

» สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ ...

๑. ดำริในการออกจากกาม

๒. ดำริในการไม่พยาบาท

๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน

» สัมมาวาจา คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการพูดปด

๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

» สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ ๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

» สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต

» สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

» สัมมาสติ การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน

» สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน

ซึ่ง มัคคังคะ 12 ก็มีเพิ่ม มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ และ มิจฉาสมาธิ รวม อริยมรรคองค์ 8 กับ 4 ข้อที่เป็นทางผิด เป็น 12 เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น มัคคังคะ ตามที่ยกมานั้น แสดง ถึงหนทางที่ถูกและผิด แต่ถ้าเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางที่ถูกอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนทางที่ผิด ไม่ใช่ มี แค่ 4 ต้องมีมากกว่านั้น เพราะพระไตรปิฎก แสดง หนทางที่ผิด ก็ 8 ข้อ เช่นกัน ไม่ใช่ 4 และก็ยังไม่พบข้อความที่อธิบายทางผิด คู่กับทางถูก ที่เป็น มัคคังคะ ครับ

การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขั้นของการอบรมด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกันและถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นการอบรมมรรคอันเป็นโลกิยมรรค ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์จะประชุมพร้อมกันในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เดินทางตามที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่มีวันถึงขณะที่มรรคจิตและผลจิต จะเกิดได้เลยครับ

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ อริยมรรค มีองค์ 8 นั้นเป็นเรื่องที่ยาก และ ไกลมาก สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญานั้นเอง จะปรุงแต่ง และ ปฏิบัติหน้าที่ ให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้น และ ทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในที่สุด อันมีปัญญาเป็นหัวหน้า นำทางไปสู่หนทางที่ดับกิเลส ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว มรรค (หนทาง) มีทั้งหนทางที่ผิด และ หนทางที่ถูก เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจากเจตสิกธรรม ๙ ประเภท ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) มิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก)

สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจติสก) มิจฉาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก)

สัมมาวาจา (สัมมาวาจาเจตสิก) มิจฉาวาจา

สัมมากัมมันตะ (สัมมากัมมันตเจตสิก) มิจฉากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ (สัมมาอาชีวเจตสิก) มิจฉาอาชีวะ

สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) มิจฉาวายามะ (วิริยเจตสิก)

สัมมาสติ (สติเจตสิก) มิจฉาสติ

สัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) มิจฉาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก)

ในส่วนของมิจฉามรรค คือ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ และมิจฉาสติ นั้น ไม่มีสภาพธรรมของมิจฉามรรค ๔ โดยเฉพาะ เป็นเพียงโวหารเทศนา แต่ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง

ชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไปหาทางลัด ด้วยการไปทำอะไรที่ผิดปกติ ไปปฏิบัติผิดด้วยความเป็นตัวตน มีความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง เพราะหนทางลัด เป็นทางหรือวิธีของความไม่รู้ เป็นความเห็นผิด ถ้าดำเนินตามทางที่ผิด ซึ่งเริ่มด้วยความเห็นผิด โดยมีความไม่รู้เป็นประธาน ทุกอย่างก็ย่อมผิดทั้งหมด ทั้งความตรึกนึกคิด ความเพียร เป็นต้น ผิดทั้งหมด กล่าวโดยสรุป คือ ผิดทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมเลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ว่า ทางที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ อะไร นั่นก็คือ การอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ (ปัญญา) เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นจริงๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด ส่วนการจะดำเนินตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ก็เรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ดำเนินตามทางดังกล่าว ผลก็คือ สามารถไปถึงการดับกิเลสทั้งหลายได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงหนทางที่ถูกต้องแล้ว แต่บุคคลนั้น ไม่ดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ไม่เข้าใจความจริง และไม่สามารถออกไปจากวัฏฏะ ยังเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้น ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เลย ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ฯ ได้ที่นี่ครับ

ธรรมะที่เป็นหนทาง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 16 มิ.ย. 2557

มรรค เป็นหนทาง ถ้าเป็นทางที่ดี ก็ดับกิเลส ถ้าทางไม่ดี ก็เพิ่มกิเลส ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้มีกิเลส
วันที่ 16 มิ.ย. 2557

ขอขอบคุณในความเมตตาของคุณ paderm และคุณ khampan.a มากครับ ที่ให้ความกระจ่างแห่งธรรม และจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้ามาดูกระทู้นี้ต่อไป ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 18 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ